- เรื่องยังไม่จบPosted 24 hours ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
เศรษฐกิจ ‘หนังสติ๊ก’?
คอลัมน์: โดนไปบ่นไป “เศรษฐกิจ ‘หนังสติ๊ก’?”
โดย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (โลกวันนี้วันสุข วันที่ 20-27 เมษายน 2561)
“เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ไทย” ประจำปี 2561 ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยท่านผู้อ่านคงได้ทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาวกันไปไม่มากก็น้อย
สำหรับช่วงวันหยุดปีใหม่ไทยของทุกๆปี ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมและทีมงานจะได้ไปร่วมงานทำบุญรดน้ำขอพรคุณพ่อคุณแม่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเขตสายไหมที่ผมเคยทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร
สำหรับปีนี้บรรยากาศของการเล่นน้ำสงกรานต์ในเขตสายไหมของผม อาจจะไม่คึกคักมากนัก ไม่แน่ใจว่าคนน้อยเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่รัฐประหารหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้นพี่น้องประชาชนเลยเดินทางออกต่างจังหวัดกันหมด
เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีคำตอบกันอยู่แล้ว ผมขอไม่แสดงความเห็นดีกว่า เดี๋ยวโดนข้อหา “สาดโคลน” แต่ขออนุญาตนำตัวเลขของสถาบันการเงินหลักของโลกมานำเสนอแทนก็แล้วกัน
เพราะถ้าดูตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB) เอามาเปิดเผยก็ต้องยอมรับว่า ตัวเลข GDP ของประเทศไทยดีขึ้นจริงๆ
เพียงแต่ว่า GDP ที่เป็นตัวชี้วัดเชิงบวกอย่างเดียวอาจยืนยันไม่ได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ทั้งนี้เพราะการประเมินค่าทางเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นมาตรฐานและยอมรับได้ว่าแม่นยำ ยังต้องใช้ตัวชี้วัดสำคัญอื่นๆพิจารณาร่วมกันอีกหลายตัว
ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลข GDP ของประเทศไทยที่เชื่อว่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ 4% หรืออาจจะต่ำกว่านั้นเล็กน้อย ถ้าดูกันแค่นี้ก็อาจเชื่อได้ว่ารัฐบาลทหารไทยประสพความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจ
แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยที่ธนาคารโลกและ ADB ประมาณการเอาไว้ ก็จะพบว่า อัตราการเจริญเติบโตของไทย “ต่ำกว่า” ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอย่างเห็นได้ชัด หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องมากขึ้นก็คือ ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ต่ำที่สุด” ของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค ต่ำกว่าเวียดนาม (6.9%) มาเลเซีย (5.9%) กัมพูชา (7%) ลาว (7.3%)และเมียนมา (7.7%)
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ทั้งธนาคารโลกและADB ไม่เห็นโอกาสที่เศรษฐกิจของไทยภายใต้การนำของรัฐบาลปัจจุบันจะดีขึ้นได้มากกว่านี้ นอกจากจะยิ่งตกต่ำลงไปและต่ำลงไปเรื่อยๆ ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทุกประเทศ
แม้ว่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจะใช้วัดมาตรฐานค่าครองชีพของประชากรในประเทศได้ แต่การดูดัชนีตัวนี้เพียงตัวเดียวย่อมไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังเติบโตอย่างมีคุณภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณ “หนี้สิน” ของประเทศที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เอาเฉพาะแค่งบประมาณประจำปีที่รัฐบาลคสช. จัดแบบขาดดุล “ตัวแดง” มาตลอด ล่วงเลยมาถึงวันนี้พบว่า ยอดขาดดุลปาเข้าไป 2.19 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว
นี่ยังไม่รวมที่รัฐบาลจะต้องกู้เงินไปลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ เช่น โครงการลงทุนจัดการปัญหาน้ำทั้งระบบ โครงการรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ อีกหลายแสนล้านบาท
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทหารต้องกู้เงินรวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ยักษ์ “ที่สุด” ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ “ต่ำที่สุด” ในภูมิภาค ข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจเอาเสียเลย
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เป็นข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย ผมขออนุญาตนำคำสัมภาษณ์ของคุณพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ออกมาชี้แจงว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องตลอด 3-4 ปีและช่วง 3 ปีมานี้ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
เห็นตัวเลขที่ธนาคารโลกกับ ADB นำมาแสดงกันชัดๆแล้ว คราวนี้ลองมาดูตัวเลข “ตัวเดิม” แต่โฆษกกระทรวงการคลัง “มองต่างมุม” ว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบนี้ต่างหากที่แสดงว่าเศรษฐกิจของไทยขยายตัว “ดีกว่า” เพื่อนบ้าน
คุณพรชัยกล่าวว่าจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจแค่ 1.0% ในปี 2557 แล้วเติบโตขึ้นมาเป็น 3.0% 3.3% และ 3.9% ในปี 2558 2559 และ 2560 ตามลำดับและคาดว่าปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.2% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับเต็มศักยภาพ (Potential GDP Growth)
การขยายตัวแบบนี้นี่แหละถือว่าดีกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนทุกประเทศอย่างแน่นอน เพราะหากเปรียบเทียบตัวเลขการเจริญเติบโตของแต่ละประเทศจะเห็นได้ชัดๆว่า เวียดนามขยายตัวจาก 6.0% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นแค่ 6.8% ต่อปีในปี 2560
ส่วนลาว จาก 7.6% ในปี 2557 ลดลงเป็น 6.8% ต่อปีในปี 2560 กัมพูชาจาก 7.1% ในปี 2557 ลดลงเป็น 7.0% ต่อปีในปี 2560 และมาเลเซีย จาก 6.0% ในปี 2557 ลดลงเป็น 5.9% ต่อปีในปี 2560
คุณพรชัยกล่าวว่าเศรษฐกิจของไทยขยายตัวเพราะมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนโดยรวมยังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดี
ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากที่ขยายตัวเพียง 1.0% ต่อปีมาขยายตัวได้ที่ 3.9% ต่อปีภายในระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นอัตราการเพิ่มที่ “เร็วกว่า” ประเทศต่างๆอย่างไม่ต้องสงสัย
ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขกันแบบ “หนังสติ๊ก” อย่างนี้ สิ่งที่คุณพรชัยให้สัมภาษณ์ก็คงไม่ผิดอย่างแน่นอน เพราะเป็นการใช้ตัวเลขของตัวเองเปรียบเทียบกับตัวเองในแต่ละปี
แต่ถ้าเอาตัวเลขของไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านตามมาตรฐานสากลตามที่นานาอารยะประเทศเขาทำกันหรือจะเปรียบเทียบแบบเด็กอนุบาลหัดบวกเลขก็จะเห็นกันได้ “ชัดๆ” ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยรวมกันทุกปีตั้งแต่ปี 2557-2560 รวมทั้งสิ้น 4 ปี บวกกันยังได้แค่ 11.2 % ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอื่นๆที่กล่าวมาแล้วเมื่อลองบวกตัวเลขของแต่ละปีตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่าไม่มีประเทศไหนมีตัวเลขที่ต่ำกว่า 20 % สักประเทศ
เรื่องราวทั้งหมดนี้ท่านผู้อ่านลองใช้วิจารณญานพิจารณาให้ความเป็นธรรมกันเองก็แล้วกันว่าจะเชื่อใคร ส่วนผมมีคำตอบในใจชัดเจนอยู่แล้วคงไม่จำเป็นต้องเขียนลงไปอีก
แม้คุณพรชัยจะยืนยันว่าในช่วงปี 2557 และ 2558 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการคลังการเงินและกึ่งการคลังเพื่อ “หยุด” การทรุดตัวของเศรษฐกิจ หลายมาตรการ เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหยุดการทรุดตัวลงได้และเร่งตัวขึ้นจาก 1.0% ต่อปีเป็น 3.0% ต่อปีโดยที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับปกติหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
และในช่วงปี 2559 และ 2560 รัฐบาลได้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโครงการอีอีซี มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนการใช้จ่ายการท่องเที่ยวและการจ้างงานส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% และ 3.9% ต่อปีตามลำดับ โดยที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับปกติหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังก็ตาม
พอนึกถึงเงินตัวแดง 2.19 ล้านล้านบาทกับเงินอีกหลายแสนล้านบาทที่รัฐบาลคสช.ต้องกู้มาเพื่อลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4 ปีที่บวกกันแล้วได้แค่ 11.2%
ถ้าให้ท่านผู้อ่าน “บ่น” หรือ“ชม” ได้แค่ 3 คำ จะบอกว่าอะไรกันดี? เชิญได้ตามอัธยาศัยครับ
You must be logged in to post a comment Login