วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตาบอดสี / โดย นพ.ณัฐวุฒิ รอดอนันต์

On April 20, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : นพ.ณัฐวุฒิ รอดอนันต์

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 20-27 เมษายน 2561)

“ตา” เป็นอวัยวะจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตอย่างปรกติสุขในสังคม หากเกิดความผิดปรกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดที่มีผลกระทบต่อการมองเห็น บุคคลนั้นๆย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับครั้งนี้จะกล่าวถึงภาวะ “ตาบอดสี” เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคมมากพอสมควร

กระบวนการรับรู้และแยกความแตกต่างของสี

ความสามารถในการรับรู้และแยกความแตกต่างระหว่างสีต่างๆนั้นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ เพราะตั้งแต่เด็กเราได้รับการสั่งสอนให้เรียกชื่อสีต่างๆที่เราเห็นตามผู้สอน หากแต่สีที่แต่ละบุคคลรับรู้นั้นอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเซลล์รับแสงสี (cone photoreceptor) ที่จอประสาทตา โดยสัมพันธ์กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกสอนมา ดังนั้น เราอาจเห็นสีผิดปรกติตั้งแต่เกิดแต่สามารถเรียกชื่อสีได้ถูกต้องตามผู้สอนก็เป็นได้ หรือเกิดจากโรคภัยต่างๆที่มีผลโดยตรงกับจอประสาทตา เส้นประสาทตา และสมอง

ความผิดปรกติแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1.กลุ่มที่มีความผิดปรกติมาตั้งแต่กำเนิด ตาทั้ง 2 ข้างจะมีอาการมองเห็นสีผิดปรกติเหมือนกัน คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ที่สามารถเห็นสีได้ปรกติจะต้องมีเซลล์รับแสงสีที่จอประสาทตาครบทั้ง 3 สีคือ แดง เขียว และน้ำเงิน และมีปริมาณเม็ดสีในเซลล์ที่ปรกติ รวมทั้งระบบประสาทตาและการแปลผลที่เป็นปรกติด้วย โดยทั่วไปภาวะมองเห็นสีผิดไปจากปรกติจะพบในผู้ชายประมาณร้อยละ 8 ผู้หญิงร้อยละ 0.4

การที่พบโรคนี้ในผู้ชายมากเพราะความผิดปรกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดงซึ่งถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม x และมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ x-link recessive จากแม่ไปสู่บุตรชาย (ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าการให้กำเนิดบุตรเป็นชาย บุตรชายนั้นจะต้องได้รับ โครโมโซม x จากแม่ และโครโมโซม y จากพ่อ รวมกันเป็นเพศชาย คือเป็นโครโมโซม xy หากโครโมโซม x จากแม่เป็นตัวที่มีตาบอดสีอยู่ บุตรชายที่เกิดมาจะแสดงถึงภาวะตาบอดสี ส่วนบุตรสาวจะมีโครโมโซม x ทั้งจากพ่อและแม่รวมกันเป็น xx หาก x จากแม่ผิดปรกติจะถูกข่มโดย x โครโมโซมของพ่อ ดังนั้น ในบุตรสาวที่มีความผิดปรกติในโครโมโซม x จากแม่ตัวเดียว ส่วนของพ่อนั้นปรกติ จะไม่มีอาการตาบอดสีปรากฏ) ผู้ป่วยมักมีการรับรู้สีเขียวหรือแดงผิดไป แยกสีเขียวกับแดงได้ลำบาก ส่วนความผิดปรกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีน้ำเงินนั้นถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม 7 จึงมีการถ่ายทอดแบบ Autosomal dominant ซึ่งจะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อย

2.กลุ่มที่มีความผิดปรกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เกิดจากการถูกทำลายของจอประสาทตา เส้นประสาทตา หรือส่วนรับรู้ในสมอง จากสาเหตุต่างๆ เช่น การอักเสบ ภาวะขาดเลือด อุบัติเหตุ เนื้องอก การเสื่อมลงของจอประสาทตา หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี ผู้ป่วยมักจะมีอาการเรียกชื่อสีหรือเห็นสีผิดไปจากเดิม โดยมากพบความผิดปรกติของการมองสีน้ำเงินเหลืองมากกว่าแดงเขียว ความผิดปรกติของตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน อาจเป็นตาเดียวหรือทั้ง 2 ตา มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือลดลงได้ รวมทั้งมีความผิดปรกติของสายตาด้านอื่นๆ เช่น การมองเห็นและลานสายตาลดลงได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยจักษุแพทย์จะซักประวัติ อาการผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจการรับรู้ของสีและตรวจตาเพื่อหาสาเหตุ แผนการรักษา การตรวจอาจใช้เครื่องมือช่วยการตรวจหลายอย่าง เช่น ให้อ่านสมุดภาพ Ishihara, ให้ทดสอบเรียงเม็ดสีตามแบบที่กำหนดไว้

การดูแลตนเองเมื่อได้รับการรักษาแล้ว

หากเป็นแบบที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดยังไม่พบวิธีรักษาที่ได้ผล ส่วนประเภทที่เกิดจากโรคต่างๆที่มีผลต่อจอประสาทและเส้นประสาทตา เมื่อเกิดอาการมองเห็นสีผิดปรกติไปให้รีบมารับการตรวจรักษา อาจป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปรกติถาวรได้

ข้อควรจำ

ในผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงโอกาสการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและโอกาสหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตาบอดสีในหมู่ญาติ ส่วนผู้ที่มีภาวะตาบอดสีภายหลังควรรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ เพื่อแพทย์จะได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


You must be logged in to post a comment Login