- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 2 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 2 months ago
- โลกธรรมPosted 2 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 2 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 2 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 2 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 2 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 2 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 2 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 2 months ago
อวสานคนจน?

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
หลังการประกาศใช้ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ถูกตราออกมาเพื่อตัดรากถอนโคนนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองไม่ให้เอางบประมาณไปทำโครงการแลกคะแนนเสียง มองมุมการเมืองอาจเป็นเรื่องดี แต่หากมองจากข้อเท็จจริงอาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อนโยบายช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เคยทำมาจะไม่สามารถทำได้ แม้แต่โครงการดีๆอย่างหลักประกันสุขภาพก็อาจมีปัญหาเพราะที่ผ่านมามีคนพูดเสมอว่าเป็นภาระงบประมาณ กฎหมายนี้ไม่เพียงเป็นตอนอวสานของนโยบายประชานิยมอย่างที่พูดกันเท่านั้น แต่เป็นการอวสานคนจนด้วยเพราะการใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือแทบจะทำไม่ได้เลยหากตีความตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
การเมืองไม่มีอะไรที่แน่นอน วันวานถูกอำนาจพิเศษเด้งพ้นเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วันนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรียังเกิดขึ้นได้จึงไม่ต้องหวังเห็นมาตรฐานการใช้อำนาจ
เหมือนกรณีการคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ถูกล้มโต๊ะซ้ำรอยการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยให้เหตุผลคล้ายกันคือ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหา 8 ใน 14 คนมีคุณสมบัติต้องห้าม
คำถามคือเมื่อมีคุณสมบัติต้องห้ามแล้วคณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเลือกได้อย่างไร การเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามผู้เสนอต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่
อย่างไรก็ตามหากย้อนดูการคัดเลือก กกต.ที่ถูกล้มโต๊ะไปด้วยเหตุผลคล้ายๆกันก่อนหน้านี้ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับการเสนอชื่อผู้ขาดคุณสมบัติ
ที่สำคัญคือทั้งการล้มโต๊ะคัดเลือก กกต.และการล้มโต๊ะคัดเลือก กสทช. ต่างมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในภายหลังว่าเป็นไปตาม “ใบสั่ง” ส่วนใครสั่งละไว้ในฐานที่เข้าใจ และ “ใบสั่ง” มีจริงหรือไม่ หรือแค่แอบอ้างชื่อเพื่อล้มกระบวนการคัดเลือกเวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ
ข้ามจากเรื่อง “ใบสั่ง” มาที่เรื่องอนาคตของพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนผู้ยากไร้ ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าถูกตอกตะปูตัวสุดท้ายปิดฝาโลงไปเรียบร้อยแล้วหลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในทันที
หลักการและเหตุผลอันที่มาของพ.ร.บ.นี้ถูกระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพ และมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลัง ด้านรายได้และรายจ่าย ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ จึงจำเป็นต้องออกพ.ร.บ.นี้มาบังคับใช้
พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 87 มาตรา แต่ที่เป็นเนื้อหาสำคัญอยู่ที่มาตรา 9 ซึ่งระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพ.ร.บ.นี้ อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้
คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือ ประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิด ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
พ.ร.บ.นี้ถูกมองว่าออกมาบังคับใช้เพื่อทำหมันนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่ใช้เงินงบประมาณหว่านแจกแลกคะแนนเสียงโดยไม่สนใจความคุ้มค่าของผลที่ได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ
พ.ร.บ.นี้ดีหรือไม่มองได้สองมุม
มุมหนึ่งมองได้ว่าเป็นเรื่องที่มีกฎหมายมาควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่หว่านแจกแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ปิดช่องไม่ให้ใช้งบประมาณหาผลประโยชน์ทางการเมือง ใช้งบประมาณแลกคะแนนนิยม
มองอีกมุมหนึ่งจากนี้ไปนโยบายช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจำนำข้าว แจกเช็คช่วยชาติ แจกเงินคนจน รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ฯลฯ จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปยกเว้นแต่ว่าต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าการแจกของฟรีเหล่านี้เกิดประโยชน์ คุ้มค่า ไม่สร้างภาระการคลังให้รัฐ หากจะทำต้องตีความเรื่องความคุ้มค่า ไม่เป็นภาระงบประมาณกันยาว แม้แต่โครงการดีๆอย่างหลักประกันสุขภาพก็อาจมีปัญหาได้เพราะที่ผ่านมามีคนพูดเสมอว่าเป็นภาระงบประมาณ
พ.ร.บ.นี้ไม่เพียงเป็นตอนอวสานของนโยบายประชานิยมอย่างที่พูดกันเท่านั้น
แต่เป็นการอวสานคนจนด้วยเพราะจากนี้ไปการทำนโยบายช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจะทำได้ยากขึ้นถึงขั้นทำไม่ได้เลยหากตีความตามตัวกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
You must be logged in to post a comment Login