วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บทเรียนจากการแสวงบุญ

On April 26, 2018

คอลัมน์ : สันติธรรม “บทเรียนจากการแสวงบุญ”

โดย บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 27 เมษายน-4 พฤษภาคม 2561)

ช่วงวันหยุดยาวระหว่างเทศกาลสงกรานต์ผมได้เดินทางไปยังมักก๊ะฮฺเพื่อทำอุมเราะฮ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติศาสนกิจตามความสมัครใจ ต่างไปจากพิธีฮัจญ์ที่เป็นข้อบังคับครั้งหนึ่งในชีวิตสำหรับผู้มีความสามารถทางด้านร่างกายและทรัพย์สินในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ แต่อุมเราะฮ์จะทำในช่วงเวลาใดของปีก็ได้หากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียออกวีซ่าให้

1

ช่วงเวลาที่อยู่ในมักก๊ะฮฺตลอดสัปดาห์เป็นช่วงเวลาแห่งการหลุดจากโลกที่วุ่นวายและการงานที่ยุ่งเหยิง ห้องพักในโรงแรมมีโทรทัศน์ แต่ไม่เคยเปิดดู แม้มีโทรศัพท์มือถือแต่ก็ไม่สนใจที่จะรับรู้ข่าวสาร เวลาส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การละหมาดเสียมากกว่า ส่วนเวลาที่เหลือก็ใช้ไปกับการกินและนอน

มัสยิดอัลฮะรอมที่เป็นลานหินอ่อนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺยังคงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์มาเวียนรอบและละหมาดไม่เคยว่างเว้นเหมือนเดิมนานนับพันปีแล้ว ยิ่งเศรษฐกิจดีและการเดินทางสะดวกสบายผู้คนก็ยิ่งมาที่นี่กันมากขึ้น จนรัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องทำการขยายพื้นที่ละหมาดรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺออกไปอีกเพื่อให้รองรับผู้มาละหมาดถึง 3 ล้านคนในคราวเดียวกัน

ผมไปทำพิธีฮัจญ์ครั้งหนึ่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน และทำอุมเราะฮ์ 4 ครั้ง เมื่ออยู่ในมักก๊ะฮฺหน้าที่หลักคือการละหมาดวันละ 5 เวลา ทุกครั้งที่ละหมาดเสร็จอิหม่ามผู้นำละหมาดจะประกาศให้ทุกคนร่วมละหมาดขอพรให้แก่ศพที่ถูกนำมาวางอยู่ข้างหน้าอิหม่ามหลังการละหมาดทุกเวลาไม่เคยขาด บางครั้งหนึ่งศพและบางครั้งหลายศพ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดพิธีศพให้แก่ผู้ไปแสวงบุญทุกคนที่เสียชีวิตที่นั่น ตั้งแต่การอาบน้ำศพ ห่อผ้า ทำพิธีละหมาดขอพรให้ และนำศพไปฝัง

แม้พิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์จะเป็นพิธีกรรมที่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนจำนวนมากและอากาศร้อนระอุ แต่กระนั้นยังมีผู้สูงอายุนั่งรถเข็นจำนวนมากเข้าร่วมพิธีด้วย ถ้ามองโดยสายตาแล้วจะเห็นว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่สมควรมาและไม่จำเป็นต้องมาก็ได้เพราะศาสนาไม่ได้บังคับ แต่ด้วยแรงศรัทธาในพระเจ้า คนอ่อนแอเหล่านี้กลับมาด้วยใจที่เข้มแข็ง

ผมทราบจากลูกหลานและญาติพี่น้องของผู้สูงอายุที่นั่งอยู่บนรถเข็นว่าพ่อแม่ผู้ชราภาพของเขาอยากเห็นก๊ะอฺบ๊ะฮฺและละหมาดที่นี่ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป ผมเชื่อว่าทุกคนปรารถนาที่จะตายที่นี่ แม้ความตายจะเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิต แต่คำสอนของท่านนบีมุฮัมมัดห้ามมุสลิมปรารถนาเช่นนั้น

ถ้าใครเสียชีวิตในระหว่างมาปฏิบัติศาสนกิจที่มักก๊ะฮฺหรือมะดีนะฮฺ ทายาทหรือญาติของผู้ตายจะไม่นำศพกลับไปทำพิธีศพที่บ้านเกิดเมืองนอน ทุกคนยินดีที่จะให้ศพถูกฝังที่นั่น ไม่ใช่เพราะค่าขนส่งศพแพงและขั้นตอนการนำศพกลับมีความยุ่งยากลำบาก แต่ทุกคนรู้ว่าที่นั่นคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่มีที่ใดในโลกที่จะมีผู้แสวงบุญนับหลายแสนคนมาละหมาดขอพรให้แก่ศพของพ่อแม่หรือญาติมิตรที่ตนเคารพรัก

ในบางปีระหว่างพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติศาสนกิจเสียชีวิตนับร้อยคน ผมเคยถูกผู้มีอคติต่อศาสนาถามว่าทำไมต้องไปตายในพิธีทางศาสนาเช่นนั้น

คำถามดังกล่าวทำให้ผมเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่าอคติเป็นสิ่งหนึ่งที่บดบังสติปัญญาของมนุษย์ ผมจึงตอบด้วยคำถามที่อาจเปิดสติปัญญาของผู้ถามว่าทุกเทศกาลสงกรานต์มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกปี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนับหลายร้อยคน การตายในขณะแสวงบุญด้วยความเต็มใจและมีคนหลายแสนคนละหมาดขอพรให้กับการตายในขณะที่มึนเมาและคึกคะนอง การตายอย่างไหนมีเกียรติกว่ากัน?    


You must be logged in to post a comment Login