วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตรรกะสีเทา / โดย นายหัวดี

On May 3, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

“มาตรา 44” กลายเป็นเหมือน “ของแสลง” เอามาอ้างกรณี “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ทั้งที่เคยนำมาใช้ตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” โดยเฉพาะข้ออ้างข้างๆคูๆ “วันข้างหน้าเมื่อเกิดปัญหา ไม่มีมาตรา 44 จะทำอย่างไร”

การที่รัฐบาลทหารอ้างไม่ใช้ มาตรา 44จึงเหมือน ตรรกะสีเทาเพราะเวลาจะใช้อ้างเหตุผลสารพัด แต่เวลาไม่ใช้ก็อ้างอีกเหตุผล ซึ่งไม่ได้อยู่บนความถูกต้องชอบธรรมตามหลัก นิติรัฐ-นิติธรรม

“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” เคยโพสต์ว่า คสช. ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่ 3 เมษายน 2560

ขณะที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก็เสนอให้ลบล้าง “มรดกคณะรัฐประหาร” ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งให้ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกประกาศ คำสั่งของ คสช. ทั้งหมด

ที่สำคัญคือให้เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการรัฐประหารหรือการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

ข้ออ้างไม่ใช้ “มาตรา 44” จึงไม่ใช่ “ของแสลง” เฉพาะกรณี “หมู่บ้านป่าแหว่ง” แต่ยังตอกย้ำให้เห็น “ตรรกะสีเทา” ของคำว่า “กฎหมาย” ภายใต้รัฐบาลทหารหรือไม่?


You must be logged in to post a comment Login