วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ล้างมรดก คสช.

On May 7, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การสรรหา กกต.ชุดใหม่วนรอบมาถึงการได้รายชื่อผู้เหมาะสมเป็น กกต. 7 คน เพื่อส่งให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกครั้ง ด้วยช่องโหว่ของกฎหมายไม่มีหลักประกันใดว่าครั้งนี้จะเป็นการสรรหา กกต. ครั้งสุดท้ายเพื่อให้ได้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่จัดเลือกตั้งช่วงต้นปีหน้า การคัดเลือก กกต. จะจบที่รอบนี้หรือยืดเยื้อต่อไปเป็นไปได้ทั้งนั้น จะล้มโต๊ะสรรหาใหม่สักกี่รอบก็ทำได้โดยที่ไม่ต้องมีใครแสดงความรับผิดชอบ ดังนั้น หลังเลือกตั้งหากจะมีการล้างมรดก คสช. กฎหมาย กกต. ควรเป็นฉบับต้นๆที่ได้รับการแก้ไข เพื่อตัดกระบวนการเสนอชื่อแบบมัดมือชก และตัดปัญหาคานอำนาจกันได้เพียงเพราะไม่ชอบหน้าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ

ในที่สุดก็ได้รายชื่อว่าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ครบ 7 คนตามกฎหมายกำหนดแล้ว

ในสายคณะกรรมการสรรหาเลือก 5 คน จากผู้สมัคร 24 คน ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็น กกต.

5 คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายประกอบด้วย นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง และลำปาง นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ปทุมธานี ระนอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและอดีตเอกอัครราชทูต นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

เมื่อรวมกับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนคือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็ครบตามจำนวน 7 คนที่กฎหมายกำหนด

ขั้นต่อไปคือการส่งรายชื่อทั้ง 7 คน ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากทั้ง 7 คนผ่านการรับรองจากที่ประชุม ก็จะได้ กกต.ชุดใหม่มาทำหน้าที่จัดเลือกตั้ง

ประเด็นน่าสนใจคือ ที่ประชุม สนช. จะรับรองทั้ง 7 คนให้เป็น กกต. หรือไม่ จะล้มโต๊ะให้เริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่เหมือนคราวที่แล้วหรือเปล่า หรือจะผ่านความเห็นชอบเป็นบางคน แล้วต้องไปสรรหาใหม่แทนคนที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.

เมื่อกฎหมายไม่ให้ตัวเลือกแก่ สนช. เพราะส่งรายชื่อให้พิจารณาเพียง 7 คนตามโควตา มติของ สนช. จึงมีเพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาเท่านั้น และไม่มีหลักประกันใดด้วยว่าผู้ที่กรรมการสรรหากับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมาจะต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. แม้จะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจากการล้มกระดานให้สรรหาใหม่มาแล้ว

ประเด็นนี้น่าจะเป็นข้อบกพร่องของกฎหมายที่ควรได้รับการแก้ไข ควรให้กรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอรายชื่อมากกว่าโควตาที่ได้รับอย่างน้อย 2 เท่า เพื่อให้ที่ประชุม สนช. มีตัวเลือกในการลงมติ ไม่ใช่ให้มีสภาพบังคับลงมติเพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่เสนอมาเท่านั้น

การเขียนกฎหมายให้มีสภาพบังคับให้ สนช. ลงมติได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอรายชื่อมา เท่ากับเป็นการเขียนกฎหมายให้เสียงส่วนน้อยคือคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีจำนวน 8 คน กับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาซึ่งมีจำนวนผู้พิพากษาในปัจจุบัน 176 คน มีอำนาจมากกว่าที่ประชุม สนช. ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มี 250 คน (ปัจจุบันมี สนช. อยู่ 248 คน)

แม้กฎหมายจะไม่ได้เขียนให้มีสภาพบังคับว่าที่ประชุม สนช. ต้องเห็นชอบรายชื่อที่กรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมา แต่การไม่มีตัวเลือกให้ที่ประชุม สนช. และเปิดช่องให้ตีตกรายชื่อแม้จะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็เป็นช่องว่างของกฎหมายให้คว่ำกระดานสรรหาใหม่ได้หากไม่ชอบผู้ที่ถูกเสนอชื่อมา ซึ่งอาจทำให้กระบวนการสรรหา กกต. ยืดเยื้อได้

ขนาด สนช. ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นเนื้อเดียวกันทั้งสภายังมีปัญหา ไม่ต้องคิดว่าการคัดเลือก กกต. ในสภาปรกติที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีปัญหามากแค่ไหนถ้าสองฝ่ายมีเสียงก้ำกึ่งกัน

หลังเลือกตั้งหากจะมีการล้างมรดก คสช. กฎหมาย กกต. ควรเป็นฉบับต้นๆที่ได้รับการแก้ไขเพื่อให้กระบวนการคัดเลือกเปิดกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญต้องตัดกระบวนการสรรหาแบบมัดมือชก และตัดปัญหาคานอำนาจกันได้เพียงเพราะไม่ชอบรายชื่อ (ไม่ชอบหน้า) ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ


You must be logged in to post a comment Login