วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ยืมดาบ คสช.

On May 11, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การมัดตราสังมัดมือมัดเท้านักการเมือง พรรคการเมือง โดยออกคำสั่ง คสช. ห้ามทำกิจกรรม ไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อ คสช. โดยตรงที่จะใช้ควบคุมความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง ยังก่อประโยชน์ให้นักการเมืองที่อยู่คนละฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองที่บังเอิญเข้าไปมีอำนาจโดยการแต่งตั้ง ดังกรณีตัวอย่างอ้างคำสั่ง คสช. ห้ามนักการเมืองทำกิจกรรม แม้แต่พ่นหมอกควันฆ่ายุงลาย บริการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้หมาแมวประชาชน การห้ามทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์เช่นนี้ไม่น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายหลักของคำสั่ง คสช. แต่น่าจะเป็นนักการเมืองยืมดาบ คสช. เตะตัดขาฝ่ายตรงข้ามมากกว่า

ในขณะที่ผู้มีอำนาจแสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่าจะกระโจนลงสู่สนามการเมืองเพื่อต่อวีซ่านั่งทับอำนาจออกไปหลังการเลือกตั้ง และเริ่มเดินสายพบประชาชนเพื่อสะสมแต้ม เพิ่มคะแนนความนิยม วางมัดจำล่วงหน้าผ่านรูปแบบการใช้จ่ายงบประมาณ

แต่นักการเมือง พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเก่าที่มีมาก่อนรัฐประหาร ยังถูกมัดมือมัดเท้าไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆเพื่อเข้าถึงประชาชน

แม้แต่การออกให้บริการพ่นหมอกควันฆ่ายุงลาย ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เพื่อสร้างเกราะคุ้มกันให้ประชาชน โดยใช้เงินส่วนตัวก็ยังไม่สามารถทำได้

มีตัวอย่างชัดเจนจากการเปิดเผยของนายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับหนังสือจากสำนักงานเขตหลักสี่ ลงนามโดยผู้อำนวยการเขต อ้างคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามพรรคการเมืองและนักการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองและการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองทุกชนิด ระบุชัดเจนว่ารวมถึงกิจกรรมพ่นยาฆ่ายุงและฉีดวัคซีนสุนัขและแมว

ทั้งการลงพื้นที่ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมาแมว หรือการพ่นหมอกควันฆ่ายุงลาย เป็นกิจกรรมปรกติที่นักการเมืองเกือบทุกคนทำในพื้นที่ฐานเสียงของตัวเอง เพื่อสานสัมพันธ์กับประชาชน รักษาฐานคะแนนเสียง

การออกหน่วยให้บริการประชาชนมีรูปแบบหลักๆอยู่ 2 แบบคือ 1.หากนักการเมืองคนนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ หรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่มีคนในพรรคเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ จะใช้วิธีประสานขอใช้บุคลากร อุปกรณ์ของหน่วยงานในท้องถิ่นออกให้บริการประชาชน โดยประกาศให้ประชาชนทราบว่าการออกให้บริการเกิดจากการประสานงานของนักการเมืองคนดังกล่าว

2.หากเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ไม่ได้สังกัดพรรคเดียวกับฝ่ายบริหารทั้งระดับชาติและท้องถิ่น การจะออกหน่วยให้บริการประชาชนแต่ละครั้งก็ต้องควักเงินของตัวเอง

ไม่ว่าจะออกหน่วยโดยใช้บุคลากร ใช้งบประมาณรัฐ หรือควักเงินในกระเป๋าตัวเอง ถือว่าวินวินด้วยกันทั้งประชาชนและนักการเมือง และยังถือเป็นการช่วยเติมเต็มการให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐให้บริการไม่ทั่วถึง

การอ้างคำสั่ง คสช. ห้ามไม่ให้นักการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายที่ถูกมองว่าสังกัดพรรคตรงข้าม คสช. ออกทำกิจกรรมให้บริการประชาชนนั้น เข้าข่ายเป็นการตีความคำสั่งเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะจุดมุ่งหมายคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามนักการเมืองทำกิจกรรมน่าจะหมายถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง

การออกหน่วยพ่นหมอกควันฆ่ายุงลาย การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้หมาแมวประชาชน คงไม่เข้าข่ายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองได้

ทั้งนี้ มีจุดน่าสังเกตว่าทำไมคำสั่งห้ามจึงเพิ่งออกมา ทั้งที่นายสุรชาติทำกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เคยถูกห้ามมาก่อน ทั้งที่คำสั่ง คสช. ที่ถูกอ้างถึงก็ออกมานานแล้ว

ทำไมคำสั่งทำนองเดียวกันนี้ไม่ปรากฏในเขตพื้นที่อื่นๆของกรุงเทพมหานคร

เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่คำสั่งห้ามออกมาหลังจากที่นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตแกนนำม็อบ กปปส. ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หากพิจารณาในมุมการเมือง เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับ คสช. โดยตรง

น่าจะเป็นเรื่องยืมคำสั่ง คสช. มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งนายสุรชาติและนายสกลธีต่างเป็นอดีต ส.ส. เขต 4 กรุงเทพฯ เหมือนกัน และการเลือกตั้งก็กำลังจะมีขึ้นตามโรดแม็พในต้นปีหน้า


You must be logged in to post a comment Login