วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

นั่งมองลิงแก้แห

On May 14, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองที่ลดลงอย่างน่าใจหายหลังหมดเวลาให้ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แม้จะมีนัยทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ไม่สำคัญเท่าผลตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ไม่ว่าผลจะชี้ออกมาว่าอำนาจมาตรา 44 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายเหนือกว่า ล้วนมีความวุ่นวายอันกระทบต่อการเลือกตั้งรอให้แก้ไขอยู่เบื้องหน้า อาจเข้าตำราลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งวุ่น ยากที่จะหาข้อยุติได้ จนอาจนำไปสู่การล้มกระดานเริ่มต้นใหม่ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.ป.แก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้งที่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้จริงจังในทางปฏิบัติแม้แต่มาตราเดียว เพราะติดหล่มอำนาจคำสั่ง คสช.

หลังหมดเวลาให้แสดงตนเพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีหลายประเด็นน่าสนใจ

ความน่าสนใจแรกคือ การลดจำนวนลงอย่างมากอย่างมีนัยสำคัญของสมาชิกพรรคการเมือง

ตามข้อมูลที่เพจ iLaw นำมาเผยแพร่ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าที่สุดและมีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทยจำนวนสมาชิกลดลงไปมากถึง 96% จากเดิมที่มีอยู่ 2,500,000 คน คงเหลือสมาชิกเพียง 100,000 คน

พรรคเพื่อไทยสมาชิกลดลง 90% จาก 134,822 คน เหลือเพียง 13,000 คน พรรคภูมิใจไทยลดลง 98% จากเดิม 130,000 คน เหลือ 2,500 คน พรรคชาติไทยพัฒนาลดลง 88% จากเดิม 24,710 คน เหลือ 3,000 คน พรรคชาติพัฒนา ลดลง 69% จากเดิม 18,163 คน เหลือ 5,583 คน พรรคพลังชลลดลง 75% จากเดิม 10,806 คน เหลือ 2,700 คน

จำนวนสมาชิกที่ลดน้อยลงอย่างมากนี้ถือเป็นการเซตซีโร่พรรคการเมืองทางอ้อม

จากเดิมที่กฎหมายพรรคการเมืองให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมคงความเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าใครไม่ชำระค่าสมาชิกตามเวลาที่กำหนดจึงจะถูกตัดสิทธิการเป็นสมาชิกพรรค แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. แก้ให้ต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคพร้อมจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน ซึ่งก็คือภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ใครไม่ทำหนังสือยืนยันให้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกพรรค

ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมก่อนรัฐประหารตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีทั้งหมด 70 พรรค เมื่อพรรคใหญ่ๆที่มีบทบาททางการเมือง มีคนชื่นชอบจำนวนมาก จำนวนสมาชิกยังลดลงอย่างน่าใจหาย คงไม่ต้องพูดถึงพรรคการเมืองเล็กๆที่ชื่อแทบไม่เป็นที่รู้จักว่าจะมีสมาชิกพรรคเหลือกี่คน หลายพรรคอาจไม่มีสมาชิกเหลืออยู่เลยก็เป็นได้ และคงมีหลายพรรคการเมืองที่ต้องถูกยุบไปหลังจากนี้

ความน่าสนใจที่สองคือ ผลการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญที่คาดว่าน่าจะรู้ผลภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

หากผลการตีความออกมาว่าไม่มีอะไรขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จะดำเนินไปตามปรกติ

แต่หากขัดรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่หลายเรื่องได้หมดเวลาลงแล้ว

แม้ตัวกฎหมายจะเปิดช่องให้ยื่นขอขยายเวลาดำเนินการได้ แต่เมื่อเทียบกับเวลาที่เหลือตามโรดแม็พเลือกตั้งถือว่ากระชั้นชิดมากเกินไปที่พรรคการเมืองจะดำเนินการได้ครบถ้วนตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนด ทำให้เริ่มมีข้อเรียกร้องให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ยกเว้นการดำเนินการบางอย่างให้พรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งแรก เช่น ไม่ต้องทำไพรมารีโหวต แต่ก็มีคนคัดค้านว่าทำไม่ได้ และอาจทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ที่สำคัญหากผลการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญอาจกระทบไปถึงคำสั่งอื่นๆที่ต้องมีคนไปยื่นตีความอีกหลายคำสั่งอย่างแน่นอน

ระหว่างอำนาจพิเศษมาตรา 44 กับรัฐธรรมนูญเดี๋ยวก็รู้ว่าอะไรจะใหญ่กว่ากัน

ไม่ว่าผลการตีความจะชี้ว่าอะไรใหญ่กว่า ความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้งจากการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นแน่นอน เข้าตำราลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งวุ่น ยากที่จะหาข้อยุติได้ บางทีอาจถึงขั้นต้องล้มกระดานกลับมาจุดเริ่มต้นใหม่ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.ป.แก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้งที่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้จริงจังในทางปฏิบัติแม้แต่มาตราเดียว เพราะติดหล่มอำนาจคำสั่ง คสช.


You must be logged in to post a comment Login