วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปั๊ดโธ่ 4 ปีได้แค่นี้? ไอ้…

On May 18, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 665 วันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2561)

ทหารกับประชาธิปไตยไทยกว่า 86 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปรากฏว่ามีการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ ขณะที่ 60% เป็นรัฐบาลทหาร และ 40% เป็นรัฐบาลพลเรือน จึงไม่แปลกที่นายกรัฐมนตรี 11 คนจากทั้งหมด 29 คนจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.

โรงเรียนนายร้อย จปร. กลายเป็นสถาบันที่ผลิต “ผู้นำการรัฐประหาร” จนสถาบันทหาร “แยกไม่ออกจากการเมือง และไม่ยอมออกจากการเมือง” ทุกครั้งเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจจะจบลงด้วยการรัฐประหาร ปล้นอำนาจจากประชาชน โดยอ้างความมั่นคงของประเทศ

การรัฐประหารทุกครั้งไม่ใช่การแก้ปัญหาประเทศ และไม่เคยแก้ปัญหาประเทศได้เลย

เศรษฐกิจเตี้ยต่ำสุด

การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งอยู่จนจะครบ 4 ปีวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าไม่มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนที่นับวันจะยิ่ง “รวยกระจุก จนกระจาย” จึงไม่แปลกที่ 5 มหาเศรษฐีไทยจะมีทรัพย์สินมากกว่าคนทั้งประเทศ

ยิ่งย้อนกลับไปดูงบประมาณ นับตั้งแต่รัฐบาล คสช. เริ่มจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 กระทั่งปีงบประมาณ 2561 ใช้งบประมาณไปแล้วถึง 11,324,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 1,517,921.7 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมหรือ “งบกลางปี” ถึง 3 ครั้ง (3 ปี) รวม 396,000 ล้านบาท

ที่สำคัญรัฐบาลยุค คสช. ทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีงบประมาณ 2561 งบรายจ่ายสูงทะลุ 3 ล้านล้านบาท สวนทางกับรายได้ภาษีที่ทุกปีจัดเก็บได้ต่ำกว่ารายจ่าย เศรษฐกิจไทยจึงซึมลึกตั้งแต่เกิดรัฐประหารและมีอัตราการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน แม้แต่ปี 2560 ที่รัฐบาล คสช. ยืนยันว่าเศรษฐกิจดีวันคืนนั้น ธนาคารโลกระบุว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำที่สุดในอาเซียน โดยกัมพูชาโตสูงที่สุด 6.8% ตามมาด้วยลาว 6.7% ฟิลิปปินส์ 6.6% เมียนมา 6.4% เวียดนาม 6.3% มาเลเซีย 5.2% และอินโดนีเซีย 5.1%

ปรากฏการณ์ดูด

ขณะที่การสร้างความปรองดองที่ คสช. ประกาศเป็นปัญหาเร่งด่วนหลังการรัฐประหาร ผ่านมาเกือบ 4 ปีก็ได้แค่ “น้องเกี่ยวก้อย” ทั้ง คสช. กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ไม่ใช่กับฝ่ายเห็นต่างหรือฝ่ายการเมืองเท่านั้น รวมทั้งภาคประชาชนที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของชุมชน หรือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคาพืชผลตกต่ำ

โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่สังกัด ซึ่งไม่ต่างกับการ “เซตซีโร่” ทำให้ฝ่ายการเมืองแบ่งข้างชัดเจนระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนทหาร สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ กับฝ่ายที่ไม่เอาทหารและไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

สุดท้ายกลายเป็นปรากฏการณ์ “ดูด” เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จนถูกเปรียบเทียบเหมือน “ดูดส้วม” มากกว่า เพราะดูดไม่เลือกไม่ว่าน้ำเน่าหรือน้ำดี คสช. ยิ่งถูกมองว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม คสช. วันนี้กลายเป็น “พรรค คสช.” ที่เป็น “ผู้เล่น” แทนที่จะเป็น “กรรมการ”

โดยเฉพาะการเดินทางไปบุรีรัมย์ ท่ามกลางประชาชนที่มาต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์นับหมื่นคนที่สนามฟุตบอลสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ใช่แค่สะท้อนบารมีนายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของฉายา “ยี่ห้อยร้อยยี่สิบ” ที่เคยสร้างวีรกรรม (ฉาว) ทางการเมืองมากมายในอดีต โดยเฉพาะการ “ถีบหัวเรือส่ง” อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แทบกระอักเลือดด้วยคำพูดว่า “ทุกอย่างจบแล้วครับนาย” เพื่อมา “กอดสยิว” จับมือตั้งรัฐบาลในค่ายทหารกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ภาพนายเนวินที่สวมหมวกกันน็อกให้ พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคำพูดว่า “ขอให้ท่านนายกฯปลอดภัยจากสื่อและนักการเมือง สำหรับหมวกของผมไม่แข็งแรงเท่านี้ เพราะผมไม่ต้องไปยุ่งกับสื่อและนักการเมือง”

ไม่มีใครเชื่อว่าการลงพื้นที่ (ครม.สัญจร) ของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นการทำหน้าที่ตามปรกติเพื่อรับฟังปัญหาของประชาชน เพราะก่อนหน้านี้ก็ดึง 2 พี่น้องตระกูล “คุณปลื้ม” เข้าร่วมในรัฐบาล และร่วมตีกอล์ฟกับตระกูล “สะสมทรัพย์” รวมถึงกระแสข่าวให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมทำงานกับรัฐบาล

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะถูกพรรคการเมืองต่างๆถากถางและประณามการใช้อำนาจรัฐและงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนมาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อ “ดูด” กลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆให้มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ก็ตัดพ้อว่า “โดนทุกวัน ทุกครั้งที่ทำอะไรลงไปมักจะถูกตีเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ตอกกลับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า พูดอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอยทั้งที่ “กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ทำอะไรก็เป็นเรื่องการเมือง เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อจะได้มีอำนาจให้นานที่สุด “ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะได้มีอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้งโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมใดๆ แล้วจะไม่ให้โดน (โจมตี) ทุกวันได้ยังไง”

โดยเฉพาะ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปรียบปรากฏการณ์ “ดูด” ว่า รวมเหล่าเห่าหอน ระดมผู้คนไม่เลือกหน้า จะเป็นคนดี คนไม่ดี มีประวัติเสียหายติดตัวอย่างไรไม่คำนึงถึง จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ “ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน”

ปฏิรูปตลอดชาติไม่ได้

“การปฏิรูปประเทศ” ที่เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารของ คสช. และยังยัดเยียดแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” บังคับให้ทุกรัฐบาลต้องทำตามก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญเป็นคำพูดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย หนึ่งในแกนนำสำคัญในกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ โดยยอมรับว่ารู้สึกเหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะจบลงอย่างไร ก่อนหน้านี้มีการตั้งองค์กรอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนยุบตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วยุบตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 คณะ ซึ่งทุกคณะมีแต่แผน แล้วให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ เหมือนให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง ทั้งระบบราชการก็คิดแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเหมือนกับให้ผู้รับเหมามาทำหน้าที่ตรวจงานตัวเอง

นายบวรศักดิ์ยังระบุว่า แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และตอบไม่ถูกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ในบทถาวร หมายความว่าจะต้องปฏิรูปต่อไปตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วจะปฏิรูปไปตลอดชาติไม่ได้

ความเห็นของนายบวรศักดิ์ไม่ใช่แค่ยืนยันว่าการปฏิรูปประเทศของ คสช. ล้มเหลวเท่านั้น แต่รัฐบาล คสช. ยังถูกตั้งคำถามว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทำอะไรก็ได้ตามใจนานถึง 4 ปียังแก้ปัญหาล้มเหลวเกือบทุกด้าน แม้บ้านเมืองจะเงียบสงบ แต่เป็นเพราะอำนาจภายใต้ปลายกระบอกปืน ไม่ใช่เพราะความปรองดอง

ปลดล็อกคำสั่ง คสช. ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิเสธที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็ยิ่งมีกระแสต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” ของ คสช. และต่อต้านทหาร เพราะกองทัพยืนยันสนับสนุนรัฐบาล คสช. และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

การแบ่งฝ่ายแบ่งข้างครั้งใหม่จึงยิ่งรุนแรง ไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายระหว่างฝ่ายสนับสนุนทหารกับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนทหาร คสช. จึงไม่ใช่ “คนกลาง” ที่เข้ามา “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แต่กลายเป็นคู่ขัดแย้งที่ดึงทหารเข้าไปร่วม

การต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ พรรคการเมืองที่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์และไม่เอาเผด็จการ ต่างก็ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 หยุด “ระบอบ คสช.” และโละทิ้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งภาคประชาชนก็ออกมาเคลื่อนไหวผ่านเว็บไซต์ iLaw ล่ารายชื่อให้ดำเนินการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิประชาชน

ขณะที่ 3 องค์กรสื่อก็ออกแถลงการณ์ใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ภายใต้สโลแกน “ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน” เรียกร้องให้ คสช. “โละ-เลิก-ล้าง” คำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ และเรียกร้อง กสทช. ปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์โดยปราศจากการครอบงำ โดยยืนยัน “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”

ปั๊ดโธ่ 4 ปีได้แค่นี้ ไอ้..

การชุมนุมของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เนื่องในโอกาส 4 ปีการรัฐประหารวันที่ 21-22 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยยืนยันจุดยืน 3 ข้อคือ 1.ให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 2.ให้ คสช. ลาออก และ 3.ให้กองทัพกลับเข้ากรมกองและหยุดสนับสนุน คสช. ไม่ใช่การป่วนบ้านป่วนเมือง แต่ไม่เชื่อว่า “โรดแม็พ” ของ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เลื่อนอีก ตราบใดที่ยังมี “มาตรา 44” อะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้อำนาจเผด็จการ

กระแสการต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จากคนไม่กี่คนที่ชุมนุมบริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 27 มกราคม ผ่านมา 3 เดือนมีผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ความกล้า แต่เป็นความอึดอัดใจของประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยที่ต้องการอำนาจของประชาชนกลับคืนมา หยุด “ระบอบ คสช.” และหยุดการ “สืบทอดอำนาจ” ทุกรูปแบบ

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ “กลุ่มดนตรีพั้งก์” ในงาน “#จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลางดึกวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่ง “วงบัดโซะ” ที่เป็นวงสุดท้ายของงาน มีการระบายอารมณ์ผ่านดนตรี ทั้งดิ้น ทั้งด่าทอด้วยถ้อยคำค่อนข้างแรงถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหาร รวมถึงเผาโปสเตอร์รูป พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงท้ายอีกด้วย

ตำรวจชนะสงครามได้นำตัว “วงบัดโซะ” และผู้จัดงานไปลงบันทึกประจำวันและสอบประวัติทุกคนในวงโดยละเอียดก่อนปล่อยตัวกลับโดยไม่แจ้งข้อหาใดๆ ซึ่ง “เกื้อ เพียวพั้งก์” ที่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า

“เพลงนี้ที่ trubue ใหม่คงเป็นอาวุธได้สินะ ศิลปินวง Artis Doom Song Police bastard กีตาร์และเสียงสับกลอง มันทำให้พวกท่านต้องเจ็บช้ำใช่ไหม ความคิดทางดนตรีก่อให้เกิดการจลาจลได้ด้วยเหรอ ผมอยากรู้มากเลย ท่านใช้อะไรวัด ตลับเมตรหรือไม้บรรทัด หรือสันดานที่ต่ำช้า ทำตามอารมณ์ งานนี้ผมได้มิตรภาพ และเชื่อเลยว่าประเทศเราจะไม่ฉิบหายเพราะคำว่าสี่”

คอนเสิร์ต “จะ 4 ปีแล้วนะ…” จบลง คนไทยทุกคนจึงสามารถปล่อยอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้อย่างเต็มที่กับชีวิต 4 ปีภายใต้อำนาจ คสช. และรัฐบาลทหาร

ปั๊ดโธ่ 4 ปีได้แค่นี้ ไอ้..!!??


You must be logged in to post a comment Login