วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คันฉ่องส่อง คสช.

On May 18, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

วิวาทะการเมืองช่วงนี้คงต้องโฟกัสไปที่เรื่อง “ความสำเร็จ” หรือ “ความล้มเหลว” ในการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร คสช. ในโอกาสที่จะนั่งทับอำนาจครบ 4 ปีบริบูรณ์ในสัปดาห์หน้า ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และฝ่ายรัฐบาล ต่างมีมุมมองที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากอยากรู้ผลจริงๆต้องรอจนถึงการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลทหาร คสช. ทำได้ดีถูกใจประชาชน พรรคการเมืองที่ประกาศหนุน “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯคงได้คะแนนเสียงถล่มทลายเหมือนกับผลโพลของหลายสำนักที่ออกมาในช่วงนี้

ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมากองทัพไทยทำรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ 3 ครั้ง แม้รัฐประหารทำให้ได้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่อำนาจที่ได้มาทำให้ประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ประชาชนคงมีคำตอบอยู่ในใจ

หลังจากนี้อีกไม่กี่วันจะครบ 4 ปีการทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การทำงานช่วงที่ผ่านมาย่อมต้องมีการประเมินผล และการประเมินผลที่ดีที่สุดคือการให้คนนอกเป็นผู้ประเมิน ไม่ใช่ออกข้อสอบเอง ทำข้อสอบเอง และตรวจข้อสอบเอง

พรรคเพื่อไทยดูจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ประเมินผลงานของ คสช. อย่างเป็นทางการในนามพรรค โดยระบุว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาลทหาร คสช. ล้มเหลว นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมองว่ารัฐบาลทหาร คสช. ล้มเหลว 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ล้มเหลวในการทำตามข้ออ้างในการยึดอำนาจ เช่น การลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง สร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

2.ล้มเหลวในการสร้างความปรองดอง แม้จะมีการตั้งคณะทำงานหลายคณะแต่ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม เพราะคณะทำงานส่วนใหญ่เป็นคนของรัฐบาลและกองทัพ ทำให้ไม่เกิดการยอมรับ

3.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่การตรวจสอบทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพ เมื่อมีคนในรัฐบาลทหาร คสช. ถูกกล่าวหากลับไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร นำเงินราชการลับไปใส่ในบัญชีภรรยา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรู

4.ล้มเหลวในการทำให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตย นับแต่รัฐประหารประเทศต้องอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดประกาศใช้แล้ว แต่ประกาศ คำสั่งต่างๆก็ยังคงอยู่ ขณะที่รัฐธรรมนูญหลายมาตราถูกเขียนขึ้นโดยขัดหลักประชาธิปไตยสากล และวางผลไกลเพื่อสืบทอดอำนาจ

5.ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ออกคำสั่งให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหาและไม่ต้องมีหมายศาล เรียกบุคคลที่เห็นต่างไปปรับทัศนคติ มีคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

6.ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีการทุ่มงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมากตลอด 4 ปีงบประมาณ แต่ผลที่ได้ต่อระบบเศรษฐกิจกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

7.ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ในขณะที่ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์แม้ไม่ได้แถลงออกมาอย่างเป็นทางการ แต่มุมมองของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ก็เห็นความล้มเหลวไม่ต่างกัน

นายนิพิฏฐ์แบ่งการประเมินผลงานรัฐบาลทหาร คสช. ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกให้คะแนน 7 เต็ม 10 เนื่องจากเห็นว่ามีความตั้งใจในการแก้ปัญหาด้านต่างๆโดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่การทำงานในระยะกลางจนถึงปัจจุบันให้คะแนนติดลบ เนื่องจากเห็นชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง งานปฏิรูปประเทศแม้จะมีความตั้งใจ แต่ยังมีแค่แผนงาน ไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรม การวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศประชาชนขาดการมีส่วนร่วม การร่างรัฐธรรมนูญออกแบบเพื่อคงอำนาจของตัวเอง เช่น การให้มี ส.ว. จากการแต่งตั้ง โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นคนเลือก และการเปิดช่องให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างความคิดเห็นต่อการบริหารประเทศช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทหาร คสช. ซึ่งจะมีความคิดเห็นทำนองนี้ออกมาอีกมากทั้งจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ แน่นอนว่าต้องมีความคิดเห็นจากฝ่ายรัฐบาลทหาร คสช. ที่ต้องแถลงผลงานในรอบ 4 ปี ออกมาอวดเช่นกันว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว

ระหว่าง “ความสำเร็จ” กับ “ความล้มเหลว” อย่างไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ประชาชนจะเป็นคนให้คะแนนในช่วงเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลทหาร คสช. ทำได้ดีถูกใจประชาชน พรรคการเมืองที่ประกาศหนุน “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯคงได้คะแนนเสียงถล่มทลายเหมือนกับผลโพลของหลายสำนักที่ออกมาในช่วงนี้


You must be logged in to post a comment Login