วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

โรคร้ายลึกลับ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On May 18, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 18-25 พฤษภาคม 2561)

ทีมแพทย์นานาชาติสุมหัวกันค้นคว้าหาสาเหตุการเกิดโรคระบาดลึกลับ อันเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยนับพันคนเป็นอัมพาตครึ่งล่างในชั่วเวลาเพียงแค่ข้ามคืน

วันที่ 21 สิงหาคม 1981 จูลี่ คลิฟฟ์ แพทย์หญิงชาวออสเตรเลีย ได้รับเทเล็กซ์มีใจความว่า “โรคโปลิโอระบาดเขตเมมบา 38 ราย การตอบสนองเพิ่มขึ้น” แม้จะเป็นข้อความสั้นๆตามรูปแบบของเทเล็กซ์ แต่ผู้รับสามารถตีความหมายทั้งหมดได้ว่า “เกิดการระบาดของโรคโปลิโอในเขตเมมบา ผู้ป่วย 38 รายมีอาการตอบสนองกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น”

จูลี่ทำงานในสำนักงานควบคุมโรคระบาด สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประเทศโมซัมบิก เทเล็กซ์ดังกล่าวถูกส่งมาจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนัมปูลา แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอจะถูกนำมาใช้ตั้งแต่ราวทศวรรษ 1950 แต่โรคร้ายนี้ก็ยังไม่ได้สูญพันธุ์ไปเสียทีเดียว ยังคงพบบางพื้นที่ในทวีปแอฟริกา

ข้อความในเทเล็กซ์จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ นอกจากวรรคสุดท้ายที่บอกว่าผู้ป่วยมีอาการตอบสนองกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เพราะโรคโปลิโอจะเป็นในทางตรงกันข้ามคือ กล้ามเนื้อไม่มีการตอบสนอง หากผู้ส่งข้อความไม่ได้พิมพ์ผิดหรือวินิจฉัยอาการผิด นั่นก็แสดงว่าชาวโมซัมบิกกำลังเผชิญกับโรคร้ายชนิดใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน

จูลี่รีบเดินทางไปยังจังหวัดนัมปูลา และก็เป็นไปตามที่คาดคิด ผู้ส่งข้อความไม่ได้พิมพ์ผิดหรือวินิจฉัยอาการผิด ดังนั้น โรคระบาดที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่โปลิโออย่างแน่นอน แต่มันคือโรคอะไรกันแน่?

รวมหัวทีมแพทย์

ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ เวียนศีรษะ ท้องร่วง ขาขยับเขยื้อนไม่ได้ เหมือนถูกใครเอาเชือกที่มองไม่เห็นผูกขาสองข้างไว้ด้วยกัน แพทย์ฝีมือดีหลายคนถูกเชิญตัวมาที่จังหวัดนัมปูลาเพื่อช่วยกันสืบหาสาเหตุของโรคระบาดลึกลับ ฮานส์ รอสลิง นายแพทย์ชาวสวีเดน ค้นคว้าตำราแพทย์ทั้งหมดที่เขามีแล้วส่ายหัวบอกว่าไม่พบอาการแบบนี้ในตำราแพทย์

ฮานส์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจได้รับสารพิษจากอาวุธเคมี เนื่องจากช่วงเวลานั้นโมซัมบิกกำลังเกิดสงครามกลางเมือง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้อาวุธเคมีในเขตจังหวัดนัมปูลา แต่หลังจากใช้เวลาสืบสวนเรื่องนี้นานหลายสัปดาห์ก็ไม่พบว่ามีการใช้อาวุธเคมีแต่อย่างใด

โรคลึกลับยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตแห้งแล้งกันดาร สัญญาณบอกถึงการติดเชื้อมีเพียงแค่รู้สึกว่ามีความผิดปรกติในร่างกายนิดหน่อยเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงกล้ามเนื้อขาจะเกร็ง ทำให้เดินยากลำบาก หรืออาจถึงขั้นเดินไม่ได้เลย

จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้อนถึงองค์การอนามัยโลกต้องยื่นมือเข้ามาช่วย นำตัวอย่างเลือดผู้ป่วยส่งไปตรวจที่ห้องแล็บหลายแห่งทั่วโลก ระดมทีมแพทย์ค้นคว้าจากตำรา พบว่าผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงกับโรคอาหารเป็นพิษและโรคอาหารเป็นพิษจากมันสำปะหลัง แต่ทั้งสองโรคมีสาเหตุมาจากโภชนาการ ไม่ใช่โรคติดต่อ

ไม่ใช่โรคติดต่อ

ทีมแพทย์พุ่งเป้าไปที่พาหะของโรค สั่งให้มีการสำรวจการแพร่ระบาดของแมลง โดยเฉพาะยุงและเรือด แต่กลับพบว่าไม่มีการระบาดของแมลงในพื้นที่แต่อย่างใด พอล เจนเซน นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ มีความเห็นต่างจากทีมแพทย์คนอื่น เขาเชื้อว่าโรคร้ายที่เกิดขึ้นในจังหวัดนัมปูลาไม่ใช่โรคติดต่อ

ทีมสำรวจพบว่าแม้นัมปูลาจะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้อดอยาก พวกเขาปลูกพืช “คาสซาวา” หรือมันสำปะหลังประเภทหนึ่งซึ่งทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง มันเป็นพืชที่ทุกบ้านปลูกเอาไว้เพื่อบริโภคในยามที่ไม่สามารถล่าสัตว์หรือปลูกพืชชนิดอื่นได้

ผู้เฒ่าในหมู่บ้านรายหนึ่งบอกกับทีมสำรวจว่า “ไม่ต้องไปหาสาเหตุการป่วยหรอก มันเกิดขึ้นเพราะไม่มีฝนชะล้างมันสำปะหลัง” แต่ทีมสำรวจเพิกเฉยต่อคำบอกของคนพื้นเมือง พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ จะทำอะไรต้องเป็นขั้นเป็นตอน เก็บข้อมูลจากสถานที่ จังหวะเวลาและผู้ป่วย นำมากลั่นกรอง ไม่ใช่แค่ความเชื่อของชาวบ้านผู้เฒ่าคนหนึ่ง

หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์จนได้ข้อสรุปว่ามันสำปะหลังเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยในนัมปูลาอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นไปดังคำของผู้เฒ่าที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ พอลนำตัวอย่างมันสำปะหลังของชาวบ้านมาวิเคราะห์ พบว่ามีปริมาณสารพิษไซนาไนด์สูงมาก หากบริโภคเกินขนาดจะทำให้เจ็บป่วยเป็นอัมพาตหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และพบว่าผู้ป่วยมีสารไทโอไซยาเนตในเลือดสูงกว่าปรกติ 20 เท่า

แห้งแล้งเป็นเหตุ

จูลี่นำทีมสืบสวนตามข้อสันนิษฐานของพอล พบว่าการระบาดเกิดขึ้นมากในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาชาวบ้านเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังพอดี และยังพบอีกว่าการระบาดในพื้นที่แถบชายฝั่งมีน้อยมาก เนื่องจากชาวบ้านแถบนี้กินปลาเป็นอาหารหลัก พึ่งพามันสำปะหลังน้อยมาก

การที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากผู้หญิงทำหน้าที่ปรุงอาหาร พวกเธอจึงสัมผัสกับมันสำปะหลังโดยตรงเป็นเวลานาน ส่วนเด็กโตทำหน้าที่ช่วยแม่ตระเตรียม ขณะที่เด็กเล็กรับสารพิษจากการกินนมแม่ ดังนั้น พวกเขาจึงได้รับสารพิษมากกว่าผู้ชาย

มันสำปะหลังเป็นพืชที่คนทั่วโลกบริโภค แต่ทำไมโรคร้ายจึงเกิดขึ้นเฉพาะในจังหวัดนัมปูลา ประเทศโมซัมบิก จากการสำรวจพบว่าในช่วงเวลานั้นนัมปูลาเกิดภัยแห้งแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำฝนตกลงมาชะล้างสารไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง เป็นไปตามที่ผู้เฒ่ากล่าวไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

ตามปรกติชาวแอฟริกันจะปรุงมันสำปะหลังด้วยการนำไปแช่น้ำ 3 วัน และตากแดดให้แห้งก่อนจะนำมาทำเป็นแป้ง กระบวนการนี้จะย่อยสารไซยาไนด์ในมันสำปะหลังให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่เนื่องจากอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำ ชาวนัมปูลาจึงย่นเวลาการแช่น้ำและการตากแดดลง ทำให้ปริมาณสารไซยาไนด์ยังตกค้างอยู่ในมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก

โรคกอนโซ

อย่างไรก็ตาม โรคร้ายที่เพิ่งพบนี้ไม่ใช่โรคอาหารเป็นพิษจากมันสำปะหลัง ซึ่งจะมีอาการหูตาพร่ามัว มองไม่ชัด ฟังไม่ค่อยได้ยิน ทรงตัวยาก แต่โรคชนิดใหม่นี้มีอาการแตกต่างออกไป โดยเฉพาะอาการอัมพาตเฉียบพลันที่ขาทั้งสองข้าง

ทีมแพทย์ค้นคว้าเพิ่มเติมจนพบว่า เมื่อทศวรรษ 1930 จิโอวานนิ โทรลลิ นายแพทย์ชาวอิตาเลียน พบผู้ป่วยจังหวัดกวานโก ประเทศคองโก มีอาการแบบเดียวกับที่พบในนัมปูลา เขาตั้งชื่อโรคนี้ว่า “กอนโซ” (Konzo) ซึ่งเป็นภาษาคองโก แปลว่าขาถูกผูกติดกัน ตรงตามลักษณะอาการของผู้ป่วย

โรคกอนโซไม่ใช่โรคระบาดอย่างที่เข้าใจในตอนแรก แต่เกิดจากการสัมผัสสารไซยาไนด์ที่มีอยู่ในมันสำปะหลัง การที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ทีมแพทย์เข้าใจผิดจนเกือบคิดว่าเป็นโรคระบาดเกิดจากเชื้อโรค

ปี 2004 ฮาเวิร์ด แบรดบิวรีย์ นักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลีย พบว่าการป้องกันโรคกอนโซนั้นกระทำได้ง่ายๆ เพียงแค่นำแป้งมันสำปะหลังไปแช่น้ำ 5 ชั่วโมงก่อนจะนำไปปรุงอาหาร เอนไซม์ลินามาเรสจะทำปฏิกิริยากับไซยาไนด์จนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค

คำกล่าวของผู้เฒ่านัมปูลาที่สั่งสอนทีมแพทย์ว่าโรคร้าย (กอนโซ) เกิดจากการที่ไม่มีน้ำฝนตกลงมาชะล้างมันสำปะหลังจึงเป็นความจริงอย่างเถียงไม่ได้

665-1

1.(จากซ้าย) ผู้ป่วยโรคกอนโซขั้นต้น, ปานกลาง และรุนแรง

665-2

2.ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยโรคกอนโซในนัมปูลา

665-3

3.ชาวคองโกตากมันสำปะหลังบนหลังคากระท่อม

665-4

4.มันสำปะหลัง พืชยามฉุกเฉินในนัมปูลา

665-5

5.อาหารหลักของผู้ที่อยู่ท้องที่แห้งแล้ง

soaking

6.มันสำปะหลังต้องล้างน้ำก่อนนำไปปรุงอาหาร

665-7

7.หมู่บ้านในจังหวัดนัมปูลา ประเทศโมซัมบิก

665-8

8.จูลี่ คลิฟฟ์

665-9

9.ฮานส์ รอสลิง

665-10

10.ฮาเวิร์ด แบรดบิวรีย์


You must be logged in to post a comment Login