วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ลุ้นขยักแรก

On May 21, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังรอมานานสัปดาห์นี้น่าจะพอมองเห็นทิศทางการเมืองว่าจะมีอะไรกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากวันที่ 23 พฤษภาคมนี้จะรู้ผลตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นฉบับแรก ก่อนที่ผลตีความ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. จะตามมา โดยต้องลุ้นกัน 2 ขยักคือ ผลตีความของศาลรัฐธรรมนูญ และการทำงานของ สนช. หลังการตีความกรณีต้องยกร่าง พ.ร.ป. ใหม่ ซึ่งต้องโฟกัสไปที่การทำงานของ สนช. ที่เปรียบเหมือนโรงละครโรงใหญ่เป็นสำคัญ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาพล็อตเรื่องเดิมคือรับร่าง ปรับแก้ ยื่นตีความ กลับมาเล่นซ้ำให้ประชาชนดูอีกหรือไม่

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองสัปดาห์นี้นอกจากการเคลื่อนไหวในโอกาสครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ

หนึ่งในความน่าสนใจและต้องจับจ้องให้ดีคือ ผลการตีความพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมลงมติในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้

ไม่ว่าผลการตีความจะออกมาทางไหนจะไม่กระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้งโดยตรง เพราะเป็นเรื่องการคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่ง ส.ว.แต่งตั้งชุดแรกที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแก้ไขวิธีการคัดเลือกที่อาจทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ผลการตีความที่จะออกมาถือว่ามีผลทางปฏิบัติ

ถ้าผลตีความออกมาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลก็จะบังคับใช้ไม่ได้ การคัดเลือก ส.ว. ชุดแรกต้องกลับไปใช้รูปแบบเดิม ซึ่งอาจมีผลให้คนที่ต้องการลัดคิวนั่งเก้าอี้ ส.ว. ต้องมีอุปสรรคมากขึ้น

ความจริงเรื่องนี้จะถือเป็นความเละเทะในการทำงานของ สนช. ก็คงไม่ผิดนัก เพราะไปเพิ่มบทเฉพาะกาลให้วิธีการคัดเลือก ส.ว. แตกต่างจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างมา เรียกว่าปรับแก้เอง ส่งตีความเอง ไม่รู้ทำไปเพื่ออะไร

หลังรู้ผลการตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้ว ลำดับต่อไปน่าจะรู้ผลการตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ สนช. ปรับแก้เรื่องการให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการในการใช้สิทธิโดยสามารถกาบัตรแทนได้ แต่หลังลงมติเห็นชอบแล้วก็เข้าชื่อกันส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีประเด็นให้ลุ้นกัน 2 ขยัก

ขยักแรกลุ้นว่าศาลจะชี้ออกมาอย่างไรระหว่างสิ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ขยักที่สองคือหากชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญต้องตามดูว่าจะชี้ให้ประเด็นที่ขัดเป็นสาระสำคัญของกฎหมายจนทำให้ พ.ร.ป. ตกไปทั้งฉบับ ต้องเริ่มต้นยกร่างใหม่หรือไม่ ถ้าชี้ว่าขัดแต่ไม่ใช่สาระสำคัญ พ.ร.ป. ยังใช้ได้ต่อไป โดยส่วนที่ขัดถูกตัดทิ้ง ไม่สามารถบังคับใช้ได้

ไม่ว่าจะออกทางไหนดูเหมือนฝ่ายคุมอำนาจมั่นใจว่าไม่มีอะไรกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้ง เพราะ กรธ. เตรียมความพร้อมสำหรับการยกร่างใหม่ไว้แล้ว โดยยึดเค้าโครงร่างเดิมเป็นหลัก ปรับแก้เฉพาะในส่วนที่ศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยืนยันว่ายินดีทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อยกร่าง พ.ร.ป.ใหม่ให้เสร็จภายในไม่กี่วัน

เมื่อนายมีชัยยืนยัน โฟกัสหลังการตีความหากศาลชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นสาระสำคัญที่ทำให้ พ.ร.ป. ต้องตกไปทั้งฉบับจึงอยู่ที่การทำงานของ สนช.

ต้องจับตาดูว่าเมื่อ กรธ. ยกร่างใหม่เสร็จอย่างรวดเร็วแล้ว สนช. จะบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาอย่างรวดเร็วด้วยหรือไม่ จะพิจารณาเต็มคณะ 3 วาระรวดเพื่อให้รู้ผลผ่านไม่ผ่านในวันเดียว หรือจะเลือกทำตามขั้นตอน โดยพิจารณาวาระแรกแล้วตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาปรับแก้ ก่อนที่จะส่งกลับมาลงมติในวาระสองและสามเพื่อยื้อเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแม็พเดิมหรือจะถูกยื้อออกไปอีกจึงขึ้นอยู่กับผลตีความของศาลรัฐธรรมนูญ และการทำงานของ สนช. หลังการตีความกรณีที่ต้องยกร่าง พ.ร.ป. ใหม่เป็นสำคัญ

โดยเฉพาะ สนช. ที่เปรียบเหมือนโรงละครโรงใหญ่ ไม่รู้ว่าถ้าต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่จะเอาพล็อตเรื่องเดิมคือรับร่าง ปรับแก้ ยื่นตีความ กลับมาเล่นซ้ำให้ประชาชนดูหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างน่าจะขึ้นอยู่กับคนเขียนบทและผู้กำกับฯที่อยู่หลังฉากเป็นสำคัญ


You must be logged in to post a comment Login