วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นมไร้คุณธรรม / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On May 25, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 25 พฤษภาคม- 1 มิถุนายน 2561)

ทารกราว 8,000 คนในกรุงนิวยอร์กต้องเสียชีวิตทุกปีด้วยอาการท้องร่วงรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งสืบสวนเรื่องราวจนพบว่าต้นตอเกิดจาก “นม” ที่ใช้เลี้ยงทารก

ทารก 8,000 คน หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของจำนวนทารกทั้งหมดในกรุงนิวยอร์ก เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาเหมือนมีโรคระบาดเฉพาะในกลุ่มเด็กอ่อน ต่อมาพบว่านิวยอร์กไม่ใช่เมืองเดียวที่มีปัญหา เมืองใหญ่ๆที่อื่น เช่น บอสตัน ชิคาโก และซานฟรานซิสโก ก็มีทารกเสียชีวิตจากอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงปีละหลายพันคน

ในศตวรรษที่ 19 ผู้หญิงเริ่มมีโอกาสได้ทำงานนอกบ้าน ทำให้พวกเธอไม่มีเวลาให้นมลูก ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการผลิตสินค้าจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำให้สามารถขายสินค้าในราคาถูกได้ ซึ่งอุตสาหกรรมนมโคก็เป็นหนึ่งในกิจการที่มีการผลิตสินค้าเพื่อคนจำนวนมาก ผู้หญิงในยุคสมัยนี้จึงนิยมเลี้ยงดูทารกด้วยนมโค

นมขยะ

คนในสมัยศตวรรษที่ 19 มีความเชื่อว่านมโคมีคุณค่าทางโภชนาการต่อทารกดีพอๆกับนมมารดา แต่คนในเมืองไม่สามารถหานมโคกินได้เพราะฟาร์มโคนมมักอยู่ในชนบทที่ห่างไกล เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่เอื้ออำนวยให้เก็บรักษานมให้สดใหม่ตลอดระยะทางขนส่งมายังตัวเมือง

เจ้าของโรงบ่มสุรามองเห็นลู่ทางทำเงินง่ายๆจากการเลี้ยงโคนมด้วยกากที่เหลือจากการหมักสุรา เปิดธุรกิจฟาร์มโคนมในโรงงานบ่มสุรา ตั้งชื่อสินค้าว่า “Pure Country Milk” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากฟาร์มโคนมในชนบท

เหล็กแผ่นถูกนำมากั้นเป็นคอกบริเวณพื้นที่ว่างภายในโรงบ่มสุรา วัวถูกเลี้ยงด้วยกากที่เหลือทิ้งจากการหมักสุรา ซึ่งทำให้วัวให้น้ำนมมากกว่าการเลี้ยงด้วยหญ้า 5-25 เท่าตัว ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทม์ให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะระบบภายในร่างกายวัวกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกมากับน้ำนม จึงทำให้แม่วัวมีน้ำนมมากกว่าปรกติ เพราะมันกินแต่ของเสีย

นมที่ได้ด้วยวิธีนี้เรียกว่า “นมขยะ” เพราะได้มาจากการเลี้ยงแม่วัวด้วยขยะที่เหลือจากการหมักสุรา มันมีต้นทุนต่ำ ให้ปริมาณมาก และไม่มีค่าขนส่ง ผู้ผลิตจึงสามารถขายได้ในราคาแสนถูกราวลิตรละ 6 เซ็นต์เท่านั้น ยิ่งทำให้ผู้หญิงสมัยนั้นนิยมเลี้ยงดูทารกด้วยนมวัว

ครองตลาด

นมขยะมีลักษณะใสสีน้ำเงินอ่อนต่างจากนมวัวที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ผู้ผลิตจึงผสมแป้ง ไข่ และกากน้ำตาล เพื่อให้มีความข้น และผสมปูนปลาสเตอร์เพื่อย้อมให้มีสีขาว ทศวรรษ 1830 นมขยะเข้าครองตลาดในอเมริกามากถึง 50-80 เปอร์เซ็นต์

ทศวรรษ 1840 โรเบิร์ต ฮาร์ตเลย์ นักเคลื่อนไหวด้านปฏิรูปสังคม ออกมาต่อต้านการเลี้ยงวัวด้วยกากสุรา แต่คนส่วนใหญ่เพิกเฉย เพราะคิดว่าจริงๆแล้วโรเบิร์ตไม่ได้คัดค้านการเลี้ยงวัวด้วยกากสุรา แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือต้องการต่อต้านธุรกิจสุรา

ผู้คนยังคงเพิกเฉยต่ออันตรายจากการบริโภคนมขยะ จนกระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 1858 แฟรงค์ เลสลี เขียนบทความบรรยายสภาพของฟาร์มโคนมขยะ เชื่อมโยงอัตราการเสียชีวิตของทารกกับความนิยมเลี้ยงทารกด้วยนมขยะ ซึ่งตอนนั้นเองที่ผู้คนเริ่มเอะใจ

มันไม่ได้เป็นแค่บทความสั้นๆเท่านั้น แฟรงค์ตีข่าวอย่างต่อเนื่องเป็นซีรี่ส์ มีภาพประกอบ มีแผนที่ระบุชื่อ ที่อยู่ ร้านค้าที่จำหน่ายนมขยะ สถานที่ผลิตนมขยะ ภายใต้พาดหัว “สงสัยบ้างไหมว่านมที่คุณดื่มเป็นนมชนิดไหน”

ดีกว่าธรรมชาติ

บทความของแฟรงค์ทำให้คนรีดนมวัว (ขยะ) ออกมาดักจะทำร้ายเขา แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้อ่านที่ตาสว่างก็รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสืบสวนเรื่องราวอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีคำสั่งถึงนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กให้ดำเนินการโดยด่วน

หากแต่ว่าคณะสืบสวนได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการล่วงหน้า จึงทำให้มีเวลาเก็บกวาดจนไร้จุดที่เอาผิดได้ คณะกรรมการเขียนรายงานการสืบสวนสรุปว่านมขยะมีคุณภาพดีพอๆหรืออาจจะดีกว่านมโคทั่วไป สิ่งเดียวที่ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงคือระบบระบายอากาศในคอกเลี้ยงวัว

แฟรงค์ตอบโต้การสืบสวนของคณะนายกเทศมนตรีด้วยภาพวาดนักการเมืองกำลังทาสีขาวบนตัววัวผอมโซ ขณะที่ผู้ประกอบการคนหนึ่งกำลังเอาถุงเงินยัดใส่กระเป๋าไมเคิล ทาวมีย์ หัวหน้าคณะทีมสืบสวน

รายงานของคณะสืบสวนทำให้นมขยะถูกเพิกเฉยอีกครั้ง แต่แฟรงค์ก็ไม่ย่อท้อ เขียนบทความโจมตีอย่างต่อเนื่องจนสภานิติบัญญัติต้องร่างกฎหมายควบคุมการผลิตนมในปี 1862 เมื่อถึงเวลานั้นก็ประจวบเหมาะกับที่หลุยส์ ปาสเตอร์ ค้นพบวิธีการถนอมอาหารด้วยการพาสเจอไรซ์

ดีแต่ไม่อร่อย

กระบวนการพาสเจอไรซ์ทำให้สามารถขนส่งนมสดจากแหล่งผลิตในชนบทสู่ตัวเมืองได้โดยที่นมไม่บูดเสีย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนมากติเตียนว่านมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์แม้จะปลอดเชื้อโรคแต่ก็ไม่มีรสชาติเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน ฮาร์วีย์ ไวเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเคมีอเมริกา ออกมาเตือนว่า กระบวนการพาสเจอไรซ์ทำให้คุณค่าทางโภชนาการบางส่วนเสียไป

กระแสความเกรงกลัวนมปนเปื้อนสารพิษส่งผลให้ผู้ประกอบการยืนยันความปลอดภัยของสินค้าด้วยเครื่องหมายรับประกันคุณภาพ นมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงเวลานั้นคือนมที่ได้ตรารับประกันจาก Fairfield Dairy

ปี 1908 กระทรวงสาธารณสุขเขียนรายงาน 600 หน้า บรรยายการเสียชีวิตของทารกจากการบริโภคนมปนเปื้อนสารพิษ และแนะนำว่าวิธีการปลอดภัยที่สุดคือการให้ทารกกินนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ แต่นั่นไม่ได้ทำให้นมพาสเจอไรซ์เป็นที่นิยม เพราะนอกจากคนยังไม่เชื่อมั่นในกระบวนการแล้ว ยังมีเรื่องของราคานมพาสเจอไรซ์ที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับนมขยะ หรือแม้กระทั่งนมสดจากเต้าที่ซื้อจากฟาร์มโดยตรง

ตราบเท่าที่มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นมก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมนุษย์มากที่สุด ประเด็นก็คือ จะทำอย่างไรให้นมที่ผลิตออกมาปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่คนทุกชนชั้นสามารถจับต้องได้

666-1

1.ฟาร์มโคนมในโรงงานสุรา

2

2.วัวอยู่อย่างแออัด

3

3.วัวป่วยถูกชักรอกเพื่อทำการรีดนม

666-4

4.คนงานลากวัวเสียชีวิตออกจากคอก

5

5.คนรีดนมวัวรุมจะทำร้ายแฟรงค์

6

6.เครื่องหมายรับประกันคุณภาพ Fairfield Dairy

7

7.นักการเมืองกำลังทาสีขาวบนตัววัวผอมโซ

8

8.หลุยส์ ปาสเตอร์ ในห้องทดลอง

9

9.ฮาร์วีย์ ไวเลย์ ในห้องทดลอง


You must be logged in to post a comment Login