วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สนพ.ลงพื้นที่ติดตามโครงการด้านพลังงานจังหวัดเชียงใหม่

On May 28, 2018

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน  (สนพ.)  กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ติดตามผลการสนับสนุนโครงการด้านพลังงานจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อดูความคืบหน้าโครงการในการปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในจังหวัดเชียงใหม่

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนอนุรักษ์ฯ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากองทุนอนุรักษ์ฯ ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานจัดทำโครงการด้านการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนมากมายเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมหลากหลายโครงการ ได้แก่

โครงการสาธิตการพัฒนาวิธีตรวจติดตามการใช้พลังงานภายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยระบบ Real Time Power Monitoring ในโรงเรียนวชิรวิทย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินโครงการสาธิตการพัฒนาวิธีตรวจติดตามการใช้พลังงานภายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยระบบ Real Time Power Monitoring เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พลังงานภายในสถานศึกษาและประชาสัมพันธ์การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่นักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน 10 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนวชิรวิทย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีจำนวน 2 อาคารเรียน ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นส่วนของ Hardware ครอบคลุมการใช้พลังงานของอาคารทั้งหมดภายในโรงเรียน  และแสดงผลสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสามารถเรียกดูผ่านอุปกรณ์ Smart Devices ได้ช่วยให้ผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของอาคารทราบสัดส่วนการใช้พลังงานในแต่ละพื้นที่ของอาคาร นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับจำนวนคนที่อยู่ในอาคาร ขนาดของพื้นที่ หรือกิจกรรมต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมกับปริมาณการใช้พลังงานหรือไม่ สามารถวางแผนการบริหารจัดการพลังงาน และการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากการดำเนินโครงการฯ พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียน ในปี 2560 (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน) ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงเหลือ 170,652 kWh เมื่อเปรียบเทียบในปี 2559 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 207,148 kWh

โครงการส่งเสริมและพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานสำหรับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.แม่แจ่ม

โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จากสภาพปัญหาค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่สูงถึงประมาณเดือนละกว่า 150,000 บาท หรือปีละ 1,800,000 บาท กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำหรับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา  ด้วยการติดตั้ง

1. ระบบผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์

2. ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา

3. ระบบกักเก็บสะสมพลังงาน

4. ติดตั้งโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์หลอดไฟ LED

5. การเปลี่ยนหลอดไฟ LED

6. ติดตั้งระบบตรวจวัดและบริหารจัดการพลังงานภายในอาคาร

ผลการดำเนินโครงงานนี้ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถลดการใช้ไฟฟ้าโดยรวมภายในโรงพยาบาล ได้ประมาณ 60,000 บาท/เดือน และลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งยังช่วยทำให้เจ้าหน้าที่บุคลากรของโรงพยาบาล มีความตระหนักในด้านการประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยยังเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

โครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากซังข้าวโพด เพื่อลดปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการด้านพลังงาน อ.แม่แจ่ม

พื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มากถึง 5.59 ล้านไร่ ส่งผลให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง เช่น ต้นและใบข้าวโพดเป็นจำนวนมาก  และเกษตรกรมักกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ด้วยวิธีการเผา ดังเช่น ในอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีสถิติการเผาในที่โล่งแจ้งเกิด Hot Spot สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยมีปริมาณวัสดุเหลือทิ้งจากต้น/ใบข้าวโพดมากถึง 84,000 ตัน จากซังอีกกว่า 28,000 ตัน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการคิดค้น “โครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากซังข้าวโพด เพื่อลดปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการด้านพลังงาน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่” โดยการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตรให้เกิดเป็นพลังงาน มีการติดตั้งเครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างได้ผลแล้ว ยังได้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานทดแทน และนำมาจำหน่ายเพิ่มได้อีกทางหนึ่งด้วย

“การติดตามการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ได้เห็นถึงผลสำเร็จของโครงการจากผลประหยัดพลังงานที่ได้รับอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการในหลายพื้นที่ที่กองทุนอนุรักษ์ฯ ได้ให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความมั่นคงด้านพลังงาน กองทุนอนุรักษ์ฯ จะยังคงส่งเสริม และสนับสนุน เพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

ติดตามข้อมูลโครงการและผลงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน “สร้างให้เป็นจริง ทำให้ยั่งยืน”ได้ที่ www.enconfund.go.th และ Facebook Enconfund Thailand

ch06

ch02

ch03

ch04

ch05


You must be logged in to post a comment Login