วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“สยามไวเนอรี่”ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนคืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติผ่านโครงการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรีและอนุรักษ์นกเงือก

On May 31, 2018

สยามไวเนอรี่ ร่วมคืนความสมดุลให้ธรรมชาติ จัดทำโครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่าพร้อมน้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ดำเนินโครงการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรี ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนบูรณาการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนพัฒนาแหล่งอาหารสัตว์ป่า และสร้างความปลอดภัยให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

ตลอดระยะเวลากว่า30 ปีนับแต่แต่เริ่มดำเนินกิจการ กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์และเครื่องดื่มของไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มาโดยตลอด โดยเฉพาะการดูแลและอนุรักษ์ผืนป่าอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของประเทศไทย โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรี ให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางระบบนิเวศและชีวภาพอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปเมื่อ20 กว่าปีก่อน กุยบุรีแทบจะหมดสิ้นความเป็นป่าจากปัญหาการบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำไร่สับปะรด จนทำให้สัตว์ป่าสูญเสียแหล่งอาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ ช้างป่าจำนวนมากจึงหาทางอยู่รอดด้วยการออกมากินสับปะรดที่ราษฎรปลูกไว้จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกลางปี พ.ศ.2540 พบช้างป่า 2 ตัวเสียชีวิตเพราะได้รับสารพิษจากไร่สับปะรด และในเวลาไม่ห่างกันนักช้างป่าอีก 1 ตัวถูกยิงเสียชีวิต

เมื่อความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 พระองค์จึงรับสั่งให้นำผืนป่ากุยบุรีกลับคืนมาเป็น “โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ผ่านกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายด้านเมื่อได้เห็นถึงความมุ่งมั่นทำงานอย่างหนักในการอนุรักษ์ผืนป่าของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและผู้มีส่วนร่วมในโครงการตามพระราชดำริ กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่จึงเป็นองค์กรเอกชนรายแรกที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการฟื้นฟูผืนป่าอย่างจริงจัง

ชยพล ศรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมเผยว่า “ปัจจุบันกลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ ได้ร่วมฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าโดยรับผิดชอบดูแลแปลงหญ้าจำนวน 300 ไร่ ตลอดจนฝายน้ำกึ่งถาวร โป่งเทียม และแหล่งน้ำในแปลงหญ้าเพื่อให้สัตว์ป่าได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนหากิน ทั้งยังสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโดยมอบอุปกรณ์ในการปฎิบัติหน้าที่ รวมทั้งดูแลความปลอดภัยให้กับสัตว์ป่าโดยการมอบรางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่ที่จับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่า จึงทำให้มีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นจำนวนมากและทำให้ระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันกลับมาคงความสมบูรณ์อีกครั้งทั้งยังช่วยให้ชาวบ้านโดยรอบมีรายได้จากการท่องเที่ยว ภาพของความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในอดีตจึงหายไป”

ทั้งนี้กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ได้เริ่มดำเนินงานโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 โดยร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และชุมชน จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีหรือ POWER of Kuiburi (POWER: Public Private Partnership Offering for Wildlife and Ecosystem Resilience) สร้างแนวทางและการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งผลให้การอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรีถูกยกให้เป็นต้นแบบของการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างทั้งในระดับประเทศและนานาชาติภายใต้ชื่อ “กุยบุรีโมเดล”

มาถึงวันนี้ผืนป่ากุยบุรีกว่า 1,100 ตร.กม. ได้ฟื้นคืนกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า จากที่เคยตระหนกว่าสัตว์ป่าจำนวนมากอยู่ในภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันกลับพบช้างป่าในกุยบุรีไม่น้อยกว่า 300 ตัว กระทิงไม่ต่ำกว่า 250 ตัว และยังสำรวจพบสัตว์ป่าสงวนหายากของประเทศไทยถึง 4 ชนิด ได้แก่ สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน เลียงผา และเก้งหม้อ รวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกอย่างวัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว และเสือดำ ซึ่งสามารถออกมาเดินเล่น กินหญ้า กินน้ำ ได้อย่างปลอดภัย ตามวิถีธรรมชาตินักท่องเที่ยวจึงสามารถเข้าไปดูช้าง กระทิง วัวแดง ได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังพบว่ามี ‘กระทิงแดง’ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกระทิงและวัวแดงให้เห็นด้วย สังเกตได้จากการที่มีรูปร่างเหมือนกระทิงแต่มีลายใบโพธิ์สีขาวที่ก้นเหมือนวัวแดง ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์หายากอีกชนิดหนึ่งที่พบในผืนป่าแห่งนี้

นอกจากนี้กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ ยังเห็นความสำคัญของการรักษาสมดุลของผืนป่าผ่าน “นกนักอนุรักษ์” อย่างนกเงือก ซึ่งก่อนหน้านี้จำนวนลดลงจนแทบจะสูญพันธุ์และถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของผืนป่าเป็นอย่างมากโดยได้ริเริ่ม “โครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่า” เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์นกนักปลูกให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนให้กับป่าไม้ของไทย

“ในส่วนของการอนุรักษ์นกเงือกทางบริษัทได้ดำเนินโครงอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการปลูกป่าเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ สร้างแหล่งอาหารให้นก รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างถังไวน์เก่าที่ไม่ใช้แล้วนำมาดัดแปลงปรับเปลี่ยนเป็นโพรงรังเทียมของนกเงือก  โดยได้ริเริ่ม ‘โครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่า’ ร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดูแลของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ และออกแบบโพรงรังเทียมโดยอาจารย์ชาคร ผาสุวรรณ  คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ 2558 เพื่อเพิ่มทางเลือกและโอกาสการเข้าโพรงรังของนกเงือกให้มากขึ้น อันจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของนกเงือกได้ในทางหนึ่ง” คุณชยพลกล่าว

ทั้งนี้นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการได้ทำการติดตั้งโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่าไปแล้วใน 6 พื้นที่ โดยติดตั้งโพรงเทียมถังไวน์หมายเลข 1 และ 2 ในป่าบริเวณไร่องุ่นมอนซูน แวลลีย์ ของบริษัท สยามไวเนอรี่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดตั้งโพรงเทียมถังไวน์หมายเลข 3 และ 4 ในสถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ติดตั้งโพรงเทียมถังไวน์หมายเลข 5 และ 6 ในสวนป่าพระนามาภิไธย ภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ตชด.ที่ 445จ.ยะลา) ในอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา ติดตั้งโพรงเทียมถังไวน์หมายเลข 7 และ 8 ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ติดตั้งโพรงเทียมถังไวน์หมายเลข 9 ในโครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และติดตั้งโพรงเทียมถังไวน์หมายเลข 10 และ 11 ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจากการติดตามผลอย่างต่อเนื่องพบว่ามีนกเงือกเข้าใช้แล้วจำนวน 3 โพรง คือบริเวณไร่องุ่นมอนซูน แวลลีย์ 2 โพรงและที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงบาดีอีก 1 โพรง

“เมื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์นกเงือกประสบความสำเร็จก็นำมาซึ่งความสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศ เพราะข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกระบุว่า นกเงือกคือนกปลูกป่าตัวจริง จากการกินผลไม้ป่าเป็นอาหารหลักมากกว่า 100 ชนิด และแต่ละตัวจะกินผลไม้มากถึง 100 เมล็ดต่อวัน การกินแล้วคายเมล็ดทิ้งในป่าของนกเงือกจึงเป็นการปลูกป่าโดยธรรมชาติ แม้เมล็ดพันธุ์ที่คายออกมาจะมีโอกาสงอกเป็นกล้าไม้และเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้เพียงร้อยละ 5 แต่ด้วยปริมาณการกินและคายที่มากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้มากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งพฤติกรรมการบินในระยะทางที่ไกลของนกเงือกยังทำให้มีโอกาสในการนำพาเมล็ดพันธุ์ต้นไม้จากผืนป่าหนึ่งไปกระจายพันธุ์ยังถิ่นอื่นด้วย ฉะนั้นการคงอยู่และเพิ่มขึ้นของจำนวนนกเงือกจึงนับว่าเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดี” คุณชยพลให้ข้อมูล

ด้วยความสำเร็จของทั้งสองโครงการนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของกลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ ในฐานะองค์กรที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริงและมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยหวังว่าจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้เกิดการอนุรักษ์เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ผืนป่าประเทศไทยอย่างยั่งยืน

Winery-02

Winery-03


You must be logged in to post a comment Login