วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คสช.อยู่ต่ออีกปี

On June 1, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เส้นทางสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พมีความชัดเจนขึ้น แต่เมื่อนับนิ้วตามกรอบเวลาต่างๆที่กฎหมายกำหนดจะนับได้ 240 วัน เมื่อรวมกับระยะเวลาก่อน พ.ร.ป.เลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมเวลาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เท่ากับว่ารัฐบาล คสช. ยังมีเวลานั่งทับอำนาจต่อไปได้อีกอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจยาวนานกว่านั้นกรณีมีความจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายลูกบางฉบับที่จะได้รับผลกระทบจากการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 หากถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายอีกหรือไม่ ระยะเวลาที่สามารถยืดการเลือกตั้งออกไปได้นานที่สุดไม่เกินเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีหน้า หากจะมีอะไรผิดไปจากนี้ก็ต้องมีอภินิหารทางกฎหมายเกิดขึ้น (อีกครั้ง) เท่านั้น

หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแม็พคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าค่อนข้างแน่

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอกย้ำชัดเจนว่าโรดแม็พการเลือกตั้งไม่เลื่อนและทันเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กป้อม” ยืนยันด้วยว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามกรอบเวลาภายใน 150 วันหลังกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายประกาศใช้ ไม่ลดลงเหลือ 90 วันตามที่มีกระแสเรียกร้อง เท่ากับว่าการเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไปจากเดิมได้อีกนิดหน่อย เพราะเมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วต้องรออีก 90 วันจึงจะมีผลบังคับใช้ จากนั้นจึงเริ่มต้นนับ 150 วันได้ตามกฎหมายกำหนด

นับนิ้วได้ทั้งหมด 240 วัน หรือ 8 เดือน เมื่อรวมเวลาก่อน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมเวลาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เท่ากับว่ารัฐบาล คสช. ยังมีเวลานั่งทับอำนาจต่อไปได้อีกอย่างน้อย 1 ปี

แม้ดูเหมือนว่าโรดแม็พเลือกตั้งจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ต้องรอดูผลการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาอย่างไร หากออกมาว่าขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก กระทบต่อพรรคการเมืองที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อกำหนดของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ทันตามกรอบเวลา ซึ่งต้องคิดกันต่อว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้าเดินหน้าจัดเลือกตั้งโดยไม่แก้ปัญหานี้จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนคือ ความไม่พร้อมในการส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเก่าที่ยังไม่ได้ขยับทำอะไรตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดเลย เนื่องจากติดล็อกประกาศคำสั่งของ คสช.

ประการที่สอง หากตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญต้องตามดูต่อไปว่าสิ่งที่อยู่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 มีอะไรบ้างที่กระทบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวมีทั้งที่เพิ่มกระบวนการที่พรรคการเมืองต้องทำเกินกว่ากฎหมายกำหนดและยกเลิกบางอย่างที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้

หากกระทบมากอาจมีความจำเป็นต้องปรับแก้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหากมีการปรับแก้แน่นอนว่ากรอบเวลาเลือกตั้งจะต้องถูกยืดออกไปอีก ถ้าเข้าล็อกนี้เราต้องอยู่กับรัฐบาลทหาร คสช. ยาวนานกว่า 1 ปีที่กล่าวไว้แต่แรก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายอีกหรือไม่ ระยะเวลาที่สามารถยืดการเลือกตั้งออกไปได้ยาวนานที่สุดไม่เกินเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีหน้า

หากจะมีอะไรผิดไปจากนี้ก็ต้องมีอภินิหารทางกฎหมายเกิดขึ้น (อีกครั้ง) เท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login