วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“สุทธิพงษ์”ชู“ชุมชนบ้านเอื้ออาทรวังหว้า”ต้นแบบจัดการขยะตามแนวทางประชารัฐ

On June 3, 2018

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยนายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่จังหวัดระยอง เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้การจัดการขยะต่างๆ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครชุมชนบ้านเอื้ออาทร ให้การต้อนรับ และมีนายสายัณห์ รุ่งเรือง ประธานชุมชนเมืองบ้านวังหว้า(บ้านเอื้ออาทร) บรรยายสรุปผลงานของศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ฯ ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันออก (Eastern Regional Coordinating Center) ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การจัดการของเสียจากครัวเรือน โรงงานอุสาหกรรม ตลาด ร้านค้า แต่ละแหล่งกำเนิด จะก่อให้เกิดของเสียที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงปริมาณ และความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลก็แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน ต้องขอชื่นชมชุมชนบ้านเอื้ออาทร (วังหว้า) เทศบาลตำบลเมืองแกลง ที่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งได้นำแนวทางประชารัฐที่เรียกว่า เคหะประชารัฐมาปรับใช้ ได้รับรางวัลดีเด่นมามากมาย เห็นได้จากความหลากหลายของกิจกรรมที่ทางชุมชนส่งเสริมและประสบความสำเร็จ เช่น ปุ๋ยคอกจากวัชพืช ธนาคารขยะ ถังดักไขมันครัวเรือน ปุ๋ยมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพ การกำจัดขยะอินทรีย์ตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และอยากเห็นสิ่งดีๆ เหล่านี้มีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป โดยขอความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอำเภอเป็นแกนนำ ผู้บริหาร อปท. ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ร่วมกันผลักดันเพื่อให้กลายเป็ยวาระของพื้นที่ เช่น วาระอำเภอ

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า กิจกรรมในฐานเรียนรู้ต่างๆ ในศูนย์ประสานงานฯ ที่ได้มาเยี่ยมชมในวันนี้ มีหลากหลายกิจกรรมที่ล้วนแต่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมฐานโรงคัดแยกขยะสายพานคัดแยกขยะระบบเปิด ที่นำขยะจากครัวเรือน เก็บขนขยะโดยรถหกล้อ จักรยานยนต์พ่วงข้าง คัดแยกโดยสายพานแยกเป็น ขยะอินทรีย์ กล่องนม ถุงนม ถุงพลาสติก ขยะรีไซเคิล ซึ่งขยะอินทรีย์ที่ได้จากการคัดแยก ส่วนหนึ่งนำไปเป็นอาหารหมู และส่วนที่เหลือก็นำไปทำปุ๋ยหมัก กิจกรรมฐานโรงบดย่อย ที่แต่เดิมทางเทศบาลจะออกตัดแต่งกิ่งไม้ และก็ต้องนำกิ่งไม้ไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ซึ่งมีระยะทางไกล เทศบาลจึงหาวิธี ในการกำจัด โดยใช้เครื่องบดย่อยกิ่งไม้ จะได้ผงขี้บด เพื่อไว้ใช้หมักทำปุ๋ยหมัก เป็นเชื้อให้การขึ้นรูปไขมันอัดก้อน และเครื่องบดย่อยผักและผลไม้ ซึ่งจะได้ผักและผลไม้ที่ละเอียด นำไปเป็นอาหารให้กับไส้เดือน และลดการใช้น้ำมันในการขนส่งไปหลุมฝังกลบด้วย

กิจกรรมฐานโรงหมักก๊าซชีวภาพ ที่เป็นบ่อหมักก๊าซชีวภาพขนาด 10 – 50 ตัน/วัน ทำให้เกิดการเรียนรู้การหมักขยะอินทรีย์เพื่อให้ได้แก๊สมีเทน จากน้ำขยะที่กักอยู่ในรถบรรทุกขยะที่รั่วซึมออกมา หรือน้ำจากกองปุ๋ยหมัก น้ำจากการบดย่อยเศษผัก น้ำจากกองขยะบนลานสายพานคัดแยกขยะ รวมถึงน้ำจากการเลี้ยงหมู สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นดี ที่จะหมักเพื่อให้ได้แก๊สมีเทน เป็นการจัดการ “ของเสียที่เกิดขึ้นหลังการจัดการของเสีย” โดยไม่ต้องเปลืองเวลา เปลืองน้ำมันออกไปวิ่งหาวัตถุดิบจากพื้นที่อื่น กิจกรรมฐานพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งแผ่นโซล่าร์เซลล์ นำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้กับมอเตอร์สายพานคัดแยกขยะ

กิจกรรมฐานฟาร์มไส้เดือน ที่ปัจจุบันทางเทศบาลได้มีการเลี้ยงไส้เดือนอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ แอฟริกาไนท์ กับ ขี้ตาแร่ เพราะ 2 พันธุ์นี้ ขยายพันธุ์เร็วและกินเก่ง สามารถย่อยสลายเศษผัก ผลไม้และเศษอาหารได้ดี และถ่ายมูลออกมากปริมาณมาก มูลและฉี่ไส้เดือน มีธาตุฟอสฟอรัสสูง บำรุงดอกและใบ โดยสถานที่เลี้ยงเทศบาลฯ จะทำเป็นคอนโด เพื่อประหยัดพื้นที่ บ่อเลี้ยงของไส้เดือนรองบ่อด้วยขี้วัว ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ และให้อาหารโดยการบดเศษผักและผลไม้ให้ละเอียด ด้วยเครื่องบดย่อยเศษผัก เพื่อให้ไส้เดือนสามารถดูดซึมได้ง่าย ส่วนเศษอาหารที่เลี้ยงไส้เดือนได้ จะต้องไม่เป็นกรด ด่าง อย่างเช่น มะนาว พริก

กิจกรรมฐานโรงเลี้ยงหมู เพราะหมูเป็นสัตว์ที่กินเก่ง กินทุกอย่าง เป็น “หลุมขยะที่ไม่มีวันเต็ม” ใส่เศษอาหารที่เหลือทิ้งจากร้านอาหารเข้าไป หมูก็กินหมด และเมื่อหมูถ่ายมูลออกมาก็จะไหลไปลงบ่อเก็บมูล และจะดูดขึ้นไปหมักแก๊ส ยังบ่อหมักแก๊สชีวภาพ เพราะมูลหมูสามารถหมักแก๊สได้ดี ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงหมูหลุม ก็คือ การกำจัดผัก ผลไม้ และเศษอาหารจากครัวเรือน ส่วนผลพลอยได้ ก็คือ ปุ๋ยจากมูลสัตว์ และการหมักไบโอแก๊ส หรือกิจกรรมฐานโรงเลี้ยงแพะ เพื่อกำจัดเศษขยะอินทรีย์ พวกเศษผัก ผลไม้ จากตลาดสด ที่แม่ค้าเด็ดเปลือกนอกของผักทิ้ง ซึ่งถ้าเทศบาลฯ ไม่นำมาเป็นอาหารให้แก่แพะ ก็จะต้องไปลงหลุมฝังกลบ มูลของแพะก็ยังเป็นปุ๋ยชั้นดี เป็นเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เพราะมูลของแพะเป็นเม็ด สำหรับกวาดลงมารวมกัน และใช้ได้เลย ไม่ต้องอัดเม็ด สัตว์พวกนี้เป็นมังสวิรัต กินแต่ผัก ไม่กินเนื้อสัตว์ กิจกรรมฐานโรงเลี้ยงเป็ด โดยนำเศษอาหาร เศษผักผลไม้ จากร้านอาหาร โรงเรียน และบ้านเรือนต่างๆ ให้เป็ด ซึ่งเป็ดที่ทางเทศบาลฯเลี้ยง เป็นเป็ดไข่ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่กว้างมากนัก ไข่ที่ได้ ก็จะมีปริมาณไข่แดงมาก ไข่ขาวน้อย และไข่แดงสีแดงสด เพราะเป็ดได้อาหารที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่ปนเปื้อนสารเคมี

กิจกรรมฐานโรงหมักน้ำจุลินทรีย์ ที่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เทศบาลดำเนินการมานานแล้ว ก่อนที่จะได้จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานฯ เพราะด้วยคุณสมบัติและประโยชน์ที่ดี ทั้งการใช้ในสำนักงานเพื่อดับกลิ่นในห้องน้ำ และใช้หยดลงท่อระบายน้ำเสียของเทศบาลฯ เพื่อบำบัดน้ำก่อนลงสู่แม่น้ำประแส และในการหมักน้ำจุลินทรีย์ก็ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยกำจัดเศษผัก ผลไม้ ที่เหลือทิ้งจากบ้านเรือนและตลาด เพื่อลดการขนส่งลำเลียงไปที่หลุมฝังกลบ

กิจกรรมฐานโรงกากไขมันอัดก้อน ที่ทางเทศบาลได้ออกเทศบัญญัติการติดตั้งถังดักไขมัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 เพื่อเป็นการควบคุมให้บ้านเรือนที่เกิดใหม่ ต้องติดตั้งถังดักไขมัน และสอนวิธีการตักไขมัน เพื่อนำไขมันเหล่านั้นไปทำประโยชน์ ถ้าไขมันเหล่านั้น ไม่ได้ผ่านการดักไว้ตั้งแต่ต้นทาง คือ บ้านเรือน ไขมันก็จะไปลงสู่ท่อระบาย และท่อระบายน้ำก็จะไหลลงสู่แม่น้ำประแส แม่น้ำหัวใจสำคัญของเมืองแกลง ที่คนเมืองแกลง ใช้ทั้งผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงและหาสัตว์น้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย จึงเกิดการเรียนรู้และร่วมมือกัน และยังมีกิจกรรมฐานเครื่องอัดกล่องนม ที่ทางเทศบาล จะหาโรงงานรับซื้อกล่องนม ถุงนมและถุงพลาสติก เพื่อนำไปส่งให้เขาแปรรูปกลับมาเป็นโต๊ะ หลังคา ฯ ซึ่งความสามารถของเครื่องอัดนี้ จะทำให้เป็นก้อนใหญ่ๆ ขนาดประมาณ 100 กก. เพื่อง่ายต่อการขนส่ง

นอกจากนี้ยังมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก๊าชชีวภาพ ขนาด 30 กิโลวัตต์ ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ) ร่วมกับเทศบาลตำบลเมืองแกลง ดำเนินโครงการพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะในระดับชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำจัดขยะอินทรีย์และนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปใช้เป็นเชื้อเพลิง (ใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องบดย่อยกิ่งไม้และเชื้อเพลิงในโรงฆ่าสัตว์) และผลิตไฟฟ้า (ใช้กับโรงผลิตก๊าซชีวภาพ) ด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยได้ถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล และขยะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน ดังนั้น หากเรามีการจัดการขยะที่ดีก็จะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก เราทุกคนจึงต้องช่วยกันบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน โดยการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ซึ่งผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็คือท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยการแนะนำให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” จากเมื่อครั้งที่ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการขยะชุมชนบ้านป่าบุก เทศบาลบาลตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ขอความร่วมมือทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านวิทยา ชพานนท์ นายอำเภอแกลง ได้เป็นผู้นำขยายผลของชุมชนประชารัฐการเคหะบ้านวังหว้า และแนวทางจัดทำถังขยะเปียกหรือถังขยะอินทรีย์ให้เกิดขึ้นทุกครัวเรือนทุกชุมชน ร่วมกับข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่ง ช่วยกันขับเคลื่อนให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นรูปธรรมต่อไป

nid2

nid3

nid4

nid5


You must be logged in to post a comment Login