- อย่าไปอินPosted 11 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
พรหมลิขิต / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 8-15 มิถุนายน 2561)
ทายาทมหาเศรษฐีเชื่อว่าเขาเกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้นตามการชี้นำของดวงวิญญาณ ยอมทิ้งกิจการของครอบครัว เผชิญหน้าต่อสู้กับทรราชที่ปกครองเม็กซิโกมานาน 35 ปี
ฟรานซิสโก มาเดโร เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1873 เป็นบุตรชายคนโตของมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการมากมายหลายประเภท เช่น เหมืองถ่านหิน ไร่องุ่น ไร่ยางธรรมชาติ โรงปั่นฝ้าย โรงงานทอผ้า และธนาคาร สินทรัพย์ทั้งหมดมีมูลค่าราว 15 ล้านดอลลาร์ หรือค่าเงินปัจจุบันประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ได้ชื่อว่าเป็นตระกูลที่มั่งคั่งมากที่สุดตระกูลหนึ่งของเม็กซิโก
ฟรานซิสโกศึกษาในโรงเรียนที่ดีที่สุดของประเทศก่อนจะไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 1886 ซึ่งที่นี่เองทำให้เขารู้จักผลงานของอัลแลน คาร์เดก บิดาแห่งลัทธิวิญญาณนิยม ฟรานซิสโกเข้าร่วมสัมมนากับผู้ที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน จนกระทั่งเขามีความเชื่อว่าตัวเองสามารถติดต่อกับวิญญาณได้
ปี 1893 ฟรานซิสโกถูกเรียกตัวกลับเพื่อดูแลกิจการปศุสัตว์ในเมืองซานเปโดร เขาใช้เงินส่วนตัวสร้างโรงทาน ให้ที่พักอาศัยกับผู้ไร้ที่อยู่ และให้การรักษาคนยากไร้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งความเชื่อในลัทธิวิญญาณนิยม รวบรวมเพื่อนฝูงและญาติๆที่มีความเชื่อแบบเดียวกันล้อมวงทำพิธีเข้าทรงเชิญดวงวิญญาณ จนกระทั่งสามารถติดต่อกับราอูล น้องชายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่ออายุได้เพียง 4 ขวบ
ภารกิจปลดแอก
ราอูลบอกกับฟรานซิสโกว่าการช่วยเหลือผู้ยากไร้เป็นเพียงบันไดขั้นแรกเท่านั้น มหาบุรุษจะต้องยอมหลั่งเลือดเพื่อปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติจากการถูกกดขี่ นับตั้งแต่นั้นมาฟรานซิสโกก็เริ่มสนใจด้านการเมือง
ปี 1904 ฟรานซิสโกลงสมัครนายกเทศมนตรี เขาแพ้คะแนนคู่แข่งอย่างเฉียดฉิวแต่เขาไม่ท้อถอย ปีถัดมาเขาเดินหน้าก้าวต่อไปด้วยการคัดค้านการสืบทอดอำนาจของประธานาธิบดีพอร์ฟิริโอ ดิแอซ ที่ปกครองเม็กซิโกมานานกว่า 30 ปี
ฟรานซิสโกสร้างเครือข่ายผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เขาศึกษาประวัติศาสตร์เม็กซิโกเพื่อเตรียมข้อมูลต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทรราชจนกระทั่งพร้อมที่จะออกลุย ปี 1908 เขาพิมพ์หนังสือ La Sucesión Presidencial (การสืบทอดอำนาจตำแหน่งประธานาธิบดี) เพื่อปลุกกระแสประชาชน
ขณะเดียวกันฟรานซิสโกได้รับคำแนะนำจากวิญญาณเบนิโต ฮัวเรซ อดีตประธานาธิบดีผู้ต่อต้านฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสงครามปฏิรูปและผู้นำต่อต้านการรุกรานของฝรั่งเศส ฟรานซิสโกส่งหนังสือเล่มหนึ่งให้กับประธานาธิบดีพอร์ฟิริโอ พร้อมกับจดหมายมีใจความว่าขอให้ก้าวลงจากตำแหน่งแต่โดยดี
ต้องใช้กำลังเท่านั้น
การปลุกกระแสให้ต่อต้านการสืบทอดอำนาจประธานาธิบดีแพร่ขยายออกไปเป็นวงกว้างทั่วประเทศ เก้าอี้พอร์ฟิริโอเริ่มสั่นคลอน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ปี 1910 พอร์ฟิริโอออกคำสั่งจับกุมตัวฟรานซิสโก แต่พ่อของฟรานซิสโกใช้อำนาจเงินและอิทธิพล ทำให้ฟรานซิสโกสามารถหลบหนีไปซ่อนตัวที่ชายแดนฝั่งอเมริกา
ฟรานซิสโกรวบรวมกำลังพลจัดตั้งกองทัพปลดแอก พวกเขาเลือกฟรานซิสโกให้เป็นประธานาธิบดีเม็กซิโก จับอาวุธต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลทรราช โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ เอมีเลียโน ซาปาตา เป็นผู้นำกองทัพภาคใต้ และโดโรตีโอ อะแรงโก หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อพานโช วิลลา เป็นผู้นำกองทัพภาคเหนือ
พานโช วิลลา นำกองทัพเข้ายึดเมืองซิวแดดฮัวเรซ ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายรัฐบาลถูกควบคุมตัวเพื่อรอการประหารชีวิต ฟรานซิสโกเข้าไปขวาง คัดค้านการประหารชีวิต ทำให้พานโช วิลลา โกรธมากถึงขั้นยกปืนขึ้นจ่อที่หัวฟรานซิสโกสั่งให้หลีกทาง ฟรานซิสโกโต้ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า “ฉันเป็นหัวหน้า (ปฏิวัติ) ฉันท้าให้ยิงเดี๋ยวนี้” พานโช วิลลา ลดปืนลง พร้อมกับกล่าวคำขอโทษด้วยน้ำตานองหน้า
วันที่ 21 พฤษภาคม 1911 พอร์ฟิริโอยอมลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีและหนีออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศส แทนที่ฟรานซิสโกจะเข้ายึดเก้าอี้ประธานาธิบดีโดยทันที เขากลับทำเพียงแค่ตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อรอการจัดการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย
เดินหมากผิด
การปฏิเสธเข้านั่งตำแหน่งประธานาธิบดีโดยทันทีทำให้ผู้นำกองทัพปลดแอกบางคนมองว่าเป็นการทรยศต่อพวกพ้อง พวกเขายอมพลีชีพเพื่อเปิดทางให้ฟรานซิสโกเข้ามาบริหารประเทศ แม้ว่าฟรานซิสโกจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 1911 แต่เขายังคงเก็บรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลพอร์ฟิริโอเอาไว้ สร้างความไม่พอใจให้กับพันธมิตรของเขาอีกครั้ง
ฟรานซิสโกคืนเสรีภาพการเสนอข่าวสารให้กับสื่อ หนังสือพิมพ์ฉวยโอกาสเขียนบทความโจมตีรัฐบาลเขาโดยทันที ปี 1912 ปัสกวัล โอรอซโค หนึ่งในผู้นำกองทัพปลดแอก อดีตพันธมิตรฟรานซิสโก รวบรวมกำลังพลเพื่อต่อต้านรัฐบาลฟรานซิสโก
นายพลวิกตอเรียโน ฮัวตา ออกคำสั่งให้พานโช วิลลา นำกองทัพไปต้านทัพฝ่ายต่อต้าน พานโช วิลลา พ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้ นายพลวิกตอเรียโนโกรธเป็นฟืนเป็นไฟกล่าวหาว่าพานโช วิลลา ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง สั่งให้นำตัวไปประหารชีวิต ฟรานซิสโกเข้ามาแทรกแซงอีกครั้งโดยลดโทษให้เป็นแค่ขังคุก
วันที่ 25 ธันวาคม 1912 พานโช วิลลา หลบหนีจากที่คุมขัง ส่งผลให้นายพลวิกตอเรียโนเป็นเดือดเป็นแค้นมาก เกิดความไม่พอใจในตัวฟรานซิสโก ย้ายข้างไปสมคบคิดกับปัสกวัลโดยมีอเมริกาหนุนหลัง
วงจรอุบาทว์
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1913 นายพลวิกตอเรียโนกระทำรัฐประหาร ยึดครองอำนาจขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี ฟรานซิสโกถูกควบคุมตัว วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ฟรานซิสโกถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำ ระหว่างทางเกิดเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ฟรานซิสโกถูกยิงเสียชีวิตก่อนจะถึงเรือนจำ
ตำรวจผู้ควบคุมตัวนักโทษให้การว่า ฟรานซิสโกพยายามหลบหนี โดยมีกลุ่มคนซุ่มดักรออยู่ข้างทาง เกิดการยิงปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มคนที่รอชิงตัวฟรานซิสโก กระสุนถูกฟรานซิสโกเสียชีวิตระหว่างการปะทะ เป็นเรื่องพิสดารเกินกว่าจะเชื่อได้ แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะตกอยู่ใต้การปกครองระบอบเผด็จการ (อีกครั้ง)
นายพลวิกตอเรียโนหวังจะยึดอำนาจปกครองประเทศด้วยกระบอกปืน เขาปฏิเสธจะให้มีการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อต้านจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในที่สุดก็ถูกบีบให้ลงจากหลังเสือ หลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1914 แต่การแย่งชิงอำนาจโดยใช้กองกำลังของแต่ละฝ่ายยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 1929
ฟรานซิสโก มาเดโร ผู้ที่เกิดในตระกูลผู้ลากมากดี มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด แต่กลับยอมทิ้งชีวิตสุขสบายเพื่อปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติจากการปกครองของรัฐบาลทรราชตามคำชี้แนะของวิญญาณ เพราะคิดว่าสิ่งนั้นคือพรหมลิขิตที่ขีดเส้นให้ทางเดินกับเขาไว้แล้ว
1.ฟรานซิสโก มาเดโร
2.ฟรานซิสโกท่ามกลางนายทหาร
3.เอมีเลียโน ซาปาตา
4.พานโช วิลลา (กลาง)
5.ฟรานซิสโกปราศรัยต่อต้านการสืบทอดอำนาจ
6.พานโช วิลลา (ซ้าย) และเอมีเลียโน ซาปาตา
7.พอร์ฟิริโอ ดิแอซ
8.พานโช วิลลา บุกโจมตีกองทัพของปัสกวัล
9.กองทัพของปัสกวัล
10.วิกตอเรียโน (ซ้าย) สวมกอดปัสกวัล
You must be logged in to post a comment Login