วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โอกาสพรรคใหม่

On June 12, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การทำไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่บรรดาพรรคการเมืองพากันร้องโอดโอยอยู่ในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการปรับแก้เงื่อนไขใดๆจากผู้มีอำนาจ ยังคงให้กรอบเวลาเพียง 150 วันหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้ แม้ดูเหมือนว่าจะทำให้พรรคใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่าพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ได้เปรียบอยู่บ้าง แต่ความไม่พร้อมที่อาจทำให้ไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้ครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง จะมีผลทำให้พรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ที่มีความพร้อมในเขตที่พรรคการเมืองใหญ่ไม่พร้อมมีโอกาสปักธงในเขตเลือกตั้งนั้นๆได้เช่นกัน ที่สำคัญจะช่วยให้พรรคเล็กและพรรคใหม่ไม่ต้องเสียกำลังทรัพย์ กำลังคน หว่านแหส่งผู้สมัครในเขตที่ไม่พร้อม

สรุปเรื่องอื้อฉาวกรณีมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอนหลับขณะ “ทั่นผู้นำ” กำลังอภิปรายเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวนกว่า 3 ล้านล้านบาท ให้สภาพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปแล้วว่าแค่ตักเตือน อย่าหลับหรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในห้องประชุมอีก หากนั่งในห้องประชุมไม่ได้ให้เดินออกไป

ความจริงหากจะให้ความเป็นธรรม เรื่องหลับในห้องประชุมสภา หรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างอื่น เช่น ดูคลิปโป๊ ทุ่มเก้าอี้ ฉุดกระชาก มีมาเกือบทุกยุคสมัย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตั้งใจทำหน้าที่หรือไม่ ทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลเรื่องที่ที่ประชุมกำลังพิจารณาหรือไม่มากกว่า หากแค่มานั่งรอยกมือตามใบสั่งน่าจะถูกประณามมากกว่าการนั่งหลับ เพราะถือว่าไม่ทำหน้าที่แทนประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ

เรื่องเกี่ยวเนื่องจากการทำงานของ สนช. อีกเรื่องคือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้รับคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องผลตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว และได้ส่งต่อร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวถึงมือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว

เมื่อร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ถึงมือ “บิ๊กตู่” ก็ต้องดูว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อไร จะทำได้ไวเหมือนที่ลิ่วล้อคุยไว้หรือไม่ หรือจะใช้เวลาที่มีอย่างเต็มที่ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อ พ.ร.ป. เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้ายที่จะทำให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นมีความคืบหน้าตามลำดับขั้น เป็นธรรมดาว่ารัฐบาลทหาร คสช. ต้องทำให้เห็นว่ามีการขยับเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งตามโรดแม็พ

ก่อนที่จะมีการพบกันระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. จะมีการหารือวงเล็กระหว่าง คสช. กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา

ตามข่าวว่าการหารือวงเล็กจะเกิดขึ้นได้ภายในวันนี้ (13 มิ.ย.) หัวข้อในการหารือน่าจะเป็นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศที่ต้องมีความชัดเจนว่า กกต. จะสามารถดำเนินการล่วงหน้าได้เลยหรือต้องรอให้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีกประมาณ 180 วันข้างหน้า

เท่าที่ทราบแม้ กกต. จะร้องขอให้ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ให้อำนาจแบ่งเขตเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายบังคับใช้ แต่คงไม่ได้รับการตอบสนองในเรื่องนี้ โดยมีผู้เสนอทางออกคือ ให้ใช้เวลาระหว่างรอ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วันดำเนินการเรื่องนี้ เมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้อย่างเป็นทางการก็ให้ประกาศเขตเลือกตั้งได้เลย

ส่วนปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองก็จะไม่ได้รับการแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกให้เช่นกัน ไม่ใช้อำนาจพิเศษงดเว้น และไม่ปลดล็อกให้ดำเนินการได้ก่อนที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้

เท่ากับว่าพรรคการเมืองจะมีเวลาดำเนินการต่างๆในกรอบ 150 วันหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่หาก คสช. และ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งเร็วกว่านั้น เวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองก็จะสั้นลงไปด้วย

แม้ดูเหมือนว่าจะทำให้พรรคใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่าพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ได้เปรียบอยู่บ้าง แต่ความไม่พร้อมที่อาจทำให้ไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้ครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง จะมีผลทำให้พรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ที่มีความพร้อมในเขตที่พรรคการเมืองใหญ่ไม่พร้อมมีโอกาสปักธงในเขตเลือกตั้งนั้นๆได้เช่นกัน

นี่น่าจะเป็นโอกาสของพรรคเล็กและพรรคใหม่ที่จะทุ่มกำลังลงพื้นที่ที่คิดว่าจะสู้พรรคอื่นได้ไม่ต้องเสียกำลังทรัพย์ กำลังคน หว่านแหส่งผู้สมัครในเขตที่ไม่พร้อม นี่คือหนึ่งในข้อดีของการให้เวลาทำไพรมารีโหวตจำกัด


You must be logged in to post a comment Login