วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิวัฒนาการของทานนิยม

On June 13, 2018

คอลัมน์ สันติธรรม “วิวัฒนาการของทานนิยม”

โดย บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 15-22 มิถุนายน 2561)

แค่เพียงศึกษาศาสนาอย่างผิวเผิน เราจะพบว่าทุกศาสนามีคำสอนร่วมกันอยู่ประการหนึ่งคือการบริจาคทาน และวัตถุประสงค์สำคัญของการบริจาคคือ การขัดเกลาวิญญาณของมนุษย์ให้สะอาดหมดจดจากมลทินแห่งความโลภและตระหนี่ที่ทำให้วิญญาณของมนุษย์สกปรกและกลายเป็นวิญญาณชั่ว

ในตอนที่มนุษย์ยังมีชีวิต ใจหรือวิญญาณคือนาย กายคือบ่าว ถ้าวิญญาณเป็นนายชั่ว นายชั่วจะไม่บงการบ่าวกายให้ทำความดี แต่ถ้าวิญญาณเป็นนายที่ดี นายที่ดีจะไม่บงการบ่าวกายให้ทำความชั่ว

zakat

คำสอนของทุกศาสนามุ่งแก้ปัญหามนุษย์ทางด้านวิญญาณ โดยเน้นเรื่องการขัดเกลาวิญญาณให้สะอาดผ่องแผ้วจากมลทินต่างๆเป็นสำคัญ และหนึ่งในมลทินนั้นคือความตระหนี่ โดยเฉพาะตระหนี่ทรัพย์ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคำสอนของทุกศาสนาจึงส่งเสริมให้ศาสนิกของตนบริจาคทานและตำหนิความขี้เหนียว

ในโลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนเกิดมายากดีมีจนไม่เท่ากัน แต่เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนรวยกับคนจนมิให้ห่างกัน ศาสนาจึงใช้การบริจาคทานเป็นสะพานเชื่อมความเหลื่อมล้ำของคนทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน ด้านหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้คนยากจนเกิดความหิวโหยและความอิจฉาริษยา อีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยให้แก่คนร่ำรวย

การบริจาคทานในคำสอนของศาสนาในยุคต้นๆไม่มีกฎเกณฑ์กติกาใดๆ เพียงแค่สอนให้ทำมาหากินโดยสุจริตและหมั่นบริจาคทานเนืองๆ ยิ่งบริจาคจิตใจของผู้บริจาคทานก็ยิ่งสะอาดหมดจดจากมลทินแห่งความตระหนี่และยิ่งผ่องใสมีความสุข ส่วนผู้ได้รับบริจาคทานก็พลอยมีความสุขไปด้วย

การบริจาคโดยความสมัครใจเป็นสิ่งดีที่ธรรมชาติของมนุษย์ยอมรับ ดังนั้น การบริจาคยังคงเป็นที่ปฏิบัติกัน แต่เนื่องจากเป็นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ บางคนจึงไม่บริจาค และคนมีมากแต่บริจาคน้อย ดังนั้น ในศาสนาคริสต์จึงมีการวางกฎเกณฑ์กำหนดให้ทุกคนปฏิบัติเป็นหน้าที่เหมือนกับการจ่ายภาษี หากจะเปรียบก็เหมือนกับศาสนาส่งเสริมให้อาบน้ำโดยไม่บังคับ แต่พอไม่บังคับคนมักง่ายจึงไม่อาบน้ำ ดังนั้น จึงต้องวางกฎบังคับให้ทุกคนอาบน้ำอย่างน้อยปีละครั้ง

ในคัมภีร์ไบเบิลการบริจาคส่วนที่เป็นข้อบังคับมีลักษณะคล้ายภาษีที่ไม่เรียกว่าบริจาคแต่เรียกว่า “จ่าย” แทน เช่น ลูกหลานอิสราเอลถูกกำหนดให้จ่าย 1/10 ของผลิตผลเกษตรและปศุสัตว์ อายุยี่สิบขึ้นไปไม่ว่ารวยหรือจนต้องจ่ายครึ่งเชเคลเป็นภาษีศาสนาทุก 3 ปี (อพยพ 30:13-15) ผู้จัดเก็บคือกองคลังของวิหารแห่งเยรูซาเล็ม ครึ่งหนึ่งของทศางค์ที่เก็บได้จะถูกจัดสรรให้เจ้าหน้าที่ทางศาสนา 1/10 จากที่เหลือถูกนำไปให้พวกเลวี 1/10 สำหรับดูแลคนที่ไปแสวงบุญที่เยรูซาเล็ม ส่วนที่เหลือนำไปใช้ดูแลแม่ม่าย เด็กกำพร้า คนยากจน

เมื่ออิสลามถือกำเนิดขึ้นในทะเลทรายที่ทุรกันดาร ผู้ศรัทธาส่วนใหญ่ที่ฐานะยากจนรู้สึกอิจฉาคนรวยที่มีโอกาสละหมาดและบริจาค แต่พวกตนไม่สามารถละหมาดได้ ท่านนบีมุฮัมมัดจึงบอกว่าการบริจาคทาน (เศาะดะเก๊าะฮฺ) ไม่จำเป็นต้องมีเงินก็สามารถทำได้ เช่น การยิ้ม การให้คำแนะนำที่ดี การเก็บสิ่งที่เป็นอันตรายออกจากทางเดิน หรือแม้กระทั่งการเอาข้าวใส่ปากให้ภรรยาก็ถือว่าเป็นทาน

ในโอกาสสำคัญทางศาสนา เช่น เดือนแห่งการถือศีลอด คนที่มีอาหารเหลือพอกิน 1 วัน มีหน้าที่ต้องนำข้าวประมาณ 2.5 กิโลกรัม ไปให้คนยากจนก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน และในวันอีดุลอัฎฮา มุสลิมคนใดมีฐานะดีพอที่จะทำได้ คนผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเชือดปศุสัตว์พลีถวายพระเจ้าและนำเนื้อไปแจกจ่ายให้คนยากจน

แม้จะบริจาคทานด้วยความสมัครใจมาตลอดทั้งปี แต่ถึงกระนั้นเมื่อครบรอบปีจันทรคติ 354 วัน มุสลิมต้องสำรวจทรัพย์สินดังต่อไปนี้คือ เงินสด+ทองคำ+สินค้าคงทน+หุ้น และหักหนี้ที่ต้องชำระในเดือนที่ต้องจ่าย หากใครพบว่ายังมีทรัพย์สินเหลือเท่ากับหรือมากกว่าราคาทองคำหนัก 5.6 บาท คนผู้นั้นมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีศาสนาที่เรียกว่า “ซะกาต” 2.5% แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับตามที่ศาสนากำหนดไว้

ถึงแม้นบีมุฮัมมัดเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบการจ่ายซะกาต แต่ท่านได้กำหนดไว้เป็นกฎว่าตัวท่านและครอบครัวของท่านไม่มีสิทธิ์รับสิ่งที่บริจาคเป็นทาน (เศาะดะเก๊าะฮฺ) และซะกาต เพื่อมิให้เป็นที่ครหาว่าท่านเป็นผู้ออกกฎเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองและครอบครัว


You must be logged in to post a comment Login