วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แก้ไขกันเอาเอง

On June 14, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

วงถกแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดเลือกตั้งตามโรดแม็พมีแนวโน้มว่าจะได้เห็นเพียงการคลายเชือกผ่อนปรนบางเรื่องให้พรรคการเมือง เช่น ให้จัดประชุมพรรคได้ เปิดรับสมาชิกพรรคได้ ส่วนสิ่งที่พรรคการเมืองมองว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างการทำไพรมารีโหวตถูกมองว่าเป็นปัญหาของพรรคการเมือง ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายจัดเลือกตั้ง ทั้งนี้ ทีมแก้ปัญหาเทคนิคทางกฎหมายของรัฐบาลตั้งธงการทำงานไว้ชัดเจนแล้วว่า พร้อมที่จะรับฟังในทุกปัญหา แต่อาจจะไม่เชื่อสักปัญหา พูดง่ายๆคือ จัดเลือกตั้งให้แล้ว เรื่องอื่นไม่รับรู้ ปัญหาใครปัญหามัน ไปหาทางแก้ไขกันเอาเอง

วงถกแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงทางกฎหมายเพื่อเคลียร์ทางสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พที่กำหนดจัดขึ้นในวันนี้ (14 มิ.ย.) แม้จะมีความพยายามประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ยืนยันว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการประชุมเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะบางหน่วยงานยังเคลียร์คิวไม่ลงตัว

วงถกแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงทางกฎหมายจะประกอบด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกระบี่มือหนึ่งด้านกฎหมายของรัฐบาล ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งน่าจะส่งคนระดับเลขาธิการ กกต. มาร่วมวงเท่านั้น ที่เหลือเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่หมดภาระหน้าที่ไปแล้ว และตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

เป็นวงถกแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายกันล้วนๆ ทั้งที่ความจริงวงถกเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้หากที่ผ่านมาปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีประกาศคำสั่งอะไรมาขวางกั้นเอาไว้

สิ่งที่คาดว่าน่าจะได้จากวงถกแก้ปัญหากฎหมายอย่างแรกคือ การปรับแก้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่มีอะไรขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำสั่งนี้ไปแก้ไขแนวทางปฏิบัติหลายอย่างตามกฎหมายพรรคการเมืองจนทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต. ต้องการยืมดาบวิเศษมาตรา 44 ไปใช้ฟันอุปสรรคต่างๆที่ขวางกั้นอยู่ เพื่อดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขตทั่วประเทศให้แล้วเสร็จก่อนที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้

ส่วนปัญหาการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ปัญหาการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง คงไม่ได้เป็นหนึ่งในหัวข้อการพูดคุยของทีมกฎหมายชุดนี้ เนื่องจากมองว่าการทำไพรมารีโหวตเป็นปัญหาของพรรคการเมือง ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลหรือ กกต.

หลักการของการประชุมเพื่อสะสางปัญหาทางกฎหมายที่วางเอาไว้คือ “พร้อมที่จะรับฟังในทุกปัญหา แต่อาจจะไม่เชื่อสักปัญหา”

ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมารับฟังปัญหาต่างๆมาหลายรอบแล้ว และนำมาถกวงเล็กไปหลายครั้ง แต่ที่ไม่เปิดเผยผลการพิจารณาเพราะไม่อยากให้กระทบกับฝ่ายใด

เมื่อตั้งธงกันไว้อย่างนี้เชื่อว่าการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดเลือกตั้งตามโรดแม็พน่าจะพิจารณาเฉพาะปมปัญหาที่เกิดจากกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อฝ่ายปฏิบัติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระ มากกว่าที่จะถกเพื่อแก้ในสิ่งที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองมองว่าเป็นปัญหา

พูดง่ายๆคือ สางเฉพาะปมให้จัดเลือกตั้งหรือจัดแข่งขันได้ตามกำหนดเท่านั้น ส่วนเรื่องความพร้อมไม่พร้อมของคู่แข่งขัน ความพร้อมไม่พร้อมของตัวผู้เล่น เป็นสิ่งที่ต้นสังกัดคือพรรคการเมืองต้องไปแก้ปัญหากันเอาเอง

สิ่งที่จะแก้ไขให้คงมีเพียงการผ่อนปรนปรับแก้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ในบางประเด็น และผ่อนปรนเรื่องการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

ในเบื้องต้นคงได้เห็นแค่การผ่อนปรนให้พรรคการเมืองจัดประชุมพรรคได้ เปิดรับสมาชิกพรรคได้ ส่วนเรื่องการเดินสายหาเสียงยังไม่ได้รับไฟเขียวตอนนี้แน่นอน


You must be logged in to post a comment Login