- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
สจล.เปิดตัวแอป“iAmbulance”พร้อมนวัตกรรมไฟจราจรอัจฉริยะและนวัตกรรมรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี ทั้งจากอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยโรคฉุกเฉินที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และทันท่วงทีอาจทำให้เกิดการพิการ และสูญเสียต่อชีวิตของผู้ประสบเหตุได้ ดังนั้นสถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นต้องได้รับบริการที่เหมาะสม เพื่อจะได้สามารถป้องกันการสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชน
สถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่า มีประชากรที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 3 แสนคนต่อปี อันเกิดมาจากปัญหาของการจราจรที่ติดขัด ความรู้ความเข้าใจเรื่องการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอดจนสภาพถนน ที่มีผลกระทบต่อการให้การขนย้ายผู้ป่วย และการให้การรักษาก่อนถึงโรงพยาบาลนอกจากนี้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการสูญเสียบุคลากรและนักปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่ามีจำนวนนักปฏิบัติงานสูงถึง 4,315 ชีวิต ที่ได้รับบาดเจ็บ 21 ชีวิต ที่เสียชีวิต และ 12 ชีวิต ที่พิการถาวรจากการที่รถพยาบาลต้องขับรถเร็วและฝ่าไฟแดง เพื่อสู้วิกฤตินาทีชีวิตสำหรับผู้ป่วย
จากเหตุปัจจัยดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้พัฒนานวัตกรรมดีกรีรางวัลการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ซึ่งจะช่วยยกระดับการคมนาคม โดยเริ่มต้นนำร่องในระบบการให้บริการสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน ด้วยระบบไฟจราจรอัจฉริยะ และระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนเพื่อช่วยให้การขนส่งผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง รวดเร็วบูรณาการต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์เพื่อตอบสนองต่อการแพทย์ฉุกเฉินลดอุบัติเหตุของรถฉุกเฉิน และบุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในการสัญจรบนท้องถนน ยิ่งไปกว่านั้น สจล. ยังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ต่อยอดสู่ระบบการคมนาคมในระดับประเทศ สู่การเป็น “นครอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ
ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธาทีมพัฒนาร่วม iAmbulance และนวัตกรรมระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าสจล. ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พัฒนาระบบจัดการไฟจราจรอัจฉริยะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และอุบัติเหตุจากการที่รถพยาบาลฉุกเฉินต้องวิ่งฝ่าไฟแดง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิต ทั้งของผู้ป่วย และนักปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์ ปัจจุบัน ระบบปฏิบัติงานที่พร้อมใช้งานสูงสุด ได้แก่
Ambulance แอปพลิเคชันแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำงานด้วยระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS : Global Positioning System) โดยทำการเทียบตำแหน่งระหว่างรถพยาบาลฉุกเฉินกับรถยนต์คันอื่นๆ ส่งข้อมูลขึ้นสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งจะทำการประเมินผลว่า รถฉุกเฉินอยู่ตรงไหน และวัดหาปริมาณรถใกล้เคียง แล้วส่งสัญญาณภาพ หรือสัญญาเสียง พร้อมทั้งสามารถส่งคำร้องขอทางให้หลบซ้ายหรือขวา ไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่รายอื่นบนท้องถนน ในเส้นทางที่รถพยาบาลคันดังกล่าวจะต้องเคลื่อนที่ผ่าน โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะถูกติดตั้งเข้ากับรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ควบคุมรถสามารถใช้สื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้โดยตรง และเพื่อเป็นตัวสัญญาณระบุตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนได้ เพื่อใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินได้ ผ่านฟังก์ชัน SOS และเพื่อใช้รับสัญญาณจากรถพยาบาลฉุกเฉินที่จะต้องขับผ่านเส้นทางที่ตนเองอยู่ได้อีกด้วย
ค่าเฉลี่ยวินาทีชีวิตของผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องได้รับการขนย้ายจากจุดเกิดเหตุ ไปยังสถานพยาบาลอยู่ที่ 8 นาที แต่ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยเวลาการให้บริการดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ที่ 14 นาที จากข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพบว่า มีเพียง 19 จังหวัดทั่วประเทศ หรือเพียงร้อยละ 24.68 เท่านั้น ที่ให้บริการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านเกณฑ์ภายใน 8 นาที ซึ่งงานวิจัยพบว่า ทุกๆ นาทีที่ล่าช้า จะทำให้อัตราการสูญเสียร่างกายจนถึงชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าร้อยละ 7 – 10
นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถเชื่อมโยงกับ“ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติที่แยกไฟแดง”ที่จะสามารถเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรได้ เมื่อมีรถพยาบาลฉุกเฉินที่ขนย้ายผู้ป่วยภาวะเร่งด่วนเคลื่อนที่เข้าใกล้เสาไฟจราจร ผ่านระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และ“ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรแบบกึ่งอัตโนมัติ” ซึ่งจะติดตั้งอยู่ที่ป้อมตำรวจบริเวณแยก เพื่อใช้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนแก่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟแก่รถพยาบาลฉุกเฉิน แก้ไขความล่าช้า ลดปัญหาสภาพการจราจร ที่สัญญาณไฟจราจรไม่เอื้ออำนวยต่อเส้นทางการเดินรถโดยทีมวิจัยมีแผนต่อยอดนวัตกรรมเพื่อทำโครงการนำร่องการใช้งานระบบไฟจราจรอัจฉริยะในกรุงเทพมหานครโดยจะเริ่มต้นนำร่องทำในพื้นที่เขตลาดกระบัง เพื่อเชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิและโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลสิรินธร และมีแผนดำเนินการที่จะขยายพื้นที่ให้บริการไฟจราจรอัจฉริยะไปยังพื้นที่อื่นๆในลำดับต่อไปเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการขนย้ายผู้ป่วยและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของรถฉุกเฉินให้มากยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอันดับ1ของโลกมีจำนวนแยกไฟจราจรมากกว่า456แยกดังนั้นระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการแก้ไขปัญหาจราจรที่คับคั่งต่อไปได้
ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม หัวหน้าทีมวิจัยระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวว่า สจล. ได้พัฒนาออกแบบระบบรายงานพื้นผิวถนนอัจฉริยะ ผ่านแอปพลิเคชัน “Road Surface”โดยเก็บข้อมูลการสั่นสะเทือนตำแหน่งของหลุมบ่อของถนน ผ่านแอคเซเลอโรมิเตอร์ (Accelerometer) หรือเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นไหวในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และรวบรวมผลความถี่การเกิดข้อมูลดังกล่าว เพื่อประมวลผลแจ้งกลับไปยังแอปพลิเคชัน เพื่อใช้เตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า เกี่ยวกับตำแหน่งพื้นผิวถนนที่มีปัญหาแบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจเกิดจากทัศนวิสัยที่บดบังพื้นผิวจราจร น้ำท่วมขังบนถนน ตลอดจนใช้ประกอบการวางแผนการเดินทาง
ซึ่งการแสดงผลแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หลุมบ่อระดับเบา (สีเขียว) หลุมบ่อระดับปานกลาง (สีส้ม) หลุมบ่อระดับร้ายแรง (สีแดง) โดยแทนระดับการสั่นไหวด้วยข้อมูลตัวเลข เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องคำนึงอันตรายและแรงกระแทกบนท้องถนน อาทิ สภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ หลุมบ่อ และทางหลังเต่าเป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดผลกระทบแก่ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการขนย้ายแล้วในอนาคตยังสามารถต่อยอดข้อมูลดังกล่าวเป็น “Big Data” ในการวางแผนการบำรุงรักษาถนนของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้คนที่สัญจรบนท้องถนน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย
ทีมวิจัยได้ดำเนินการเตรียมระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันดังกล่าวให้มีความพร้อมสำหรับเปิดให้หน่วยงานรัฐใช้งานข้อมูลเรื่องหลุมบ่อเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมพื้นผิวถนน โดยแอปพลิเคชัน Road Surface สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้แล้วผ่านGoogle Playโดยในอนาคตเมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้นจะทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อความแม่นยำของข้อมูลสูงสุด ทางทีมวิจัยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้ง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการช่วยกันเก็บข้อมูลสภาพพื้นผิวถนนระหว่างการขับขี่ เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้งานด้านต่างๆ ในอนาคต”
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlpr หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111
You must be logged in to post a comment Login