- อย่าไปอินPosted 14 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
รื้อแล้ว! บ้านบุกรุกป้อมมหากาฬ
คอลัมน์ โลกอสังหาฯ “รื้อแล้ว! บ้านบุกรุกป้อมมหากาฬ”
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข วันที่22-29 มิถุนายน 2561)
มีการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ป้อมมหากาฬ ริมคลองโอ่งอ่าง แต่บัดนี้บ้านทุกหลังได้ย้ายออกไปแล้ว นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้มีการย้ายชุมชนนี้ออกไป
แต่เดิมคนที่ไม่ยอมย้ายออกจากสมบัติของแผ่นดินคือป้อมมหากาฬนั้น ความจริงมีเพียงน้อยนิด ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงควรรีบรื้อด่วนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม ผมในนามของประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้ข้อมูลจากผลการสำรวจของนายชิตพล ศรีเมือง และนายสุนทร สังวาลย์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันนี้เหลือแต่เพียงกลุ่มคนที่มีเอกสารแสดงการอยู่อาศัยในพื้นที่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน ส่วนคนอื่นๆที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินได้ย้ายออกไปแล้ว และเริ่มมีการปรับพื้นที่ในส่วนนี้เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะบ้างแล้ว
ตามการสำรวจของนักศึกษาพบว่า โซนที่มีการต่อต้านมีจำนวน 30 หลังคาเรือน เป็นบ้านร้าง 14 หลังคาเรือน ส่วนโซนที่ไม่มีการต่อต้านมีประมาณ 19 หลังคาเรือน เป็นบ้านร้าง 12 หลังคาเรือน บ้านในชุมชนป้อมมหากาฬพบว่ากว่าร้อยละ 60 มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ส่วนมากทำจากไม้ทั้งหลัง แต่ก็มีบางบ้านใช้อิฐและปูนซีเมนต์ในการสร้าง ยังมีความใหม่อยู่ประมาณ 4 หลัง ลักษณะของบ้านที่พบคือ บ้านเดี่ยวชั้นเดียว 18 หลัง บ้านเดี่ยว 2 ชั้นประมาณ 15 หลัง ห้องแถวจำนวน 37 บล็อก
จากการสอบถามบ้านจำนวน 19 หลังคาเรือนสำหรับการอยู่อาศัยนั้น โดยมากผู้อาศัยเป็นผู้สร้างที่อยู่เองจำนวน 12 หลัง และมีการเช่าบ้านอยู่ 7 หลัง ปัจจุบันไม่มีการเก็บค่าเช่าแทบทุกหลังแล้ว เนื่องจากเจ้าของบ้านไปรับเงินเวนคืนจาก กทม. แล้ว ชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าให้เจ้าของบ้านอีก แต่มีอยู่ 1 หลังที่ยังจ่ายค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท และหลังจากที่ กทม. ได้รื้อหลังจากนั้นมาหลายระลอก จำนวนบ้านก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก
ข้อค้นพบสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2559 ก็คือ
1.อาชีพของคนในชุมชนป้อมมหากาฬ พบว่าขายอาหาร 5 ราย ร้านค้าในชุมชน 3 ราย ร้านขายพลุ 2 ราย ร้านซักอบรีด 2 ราย นอกนั้นเป็นครู ค้าขายทั่วไป/ของมือสอง ปั้นฤษีขาย พนักงานบริษัท รับราชการ ร้านขายอาหารนกและเลี้ยงไก่ชนขายอย่างละ 1 ราย
2.จากการสำรวจข้อมูลทรัพย์สินของชาวบ้านจำนวน 19 ครัวเรือน พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้จักรยานยนต์สูงสุดอยู่ที่ 16 คัน มีการใช้เครื่องปรับอากาศ 6 เครื่อง และมีการใช้รถยนต์ 4 คัน ซึ่งพบว่ามีอยู่ 5 ครัวเรือนที่ไม่มีการใช้ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากฐานะทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย
3.จากการสำรวจชาวบ้าน 19 หลังคาเรือนในเรื่องการซื้อบ้านและห้องชุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีชาวบ้าน 6 หลังคาเรือนที่ได้ซื้อสินทรัพย์ไว้เก็งกำไร 13 ครัวเรือนไม่เคยซื้อสินทรัพย์ประเภทนี้
4.ชาวบ้านมีความคิดจะซื้อบ้านหรือคอนโดฯร้อยละ 47 โดยมีความต้องการทาวน์เฮาส์สูงที่สุดร้อยละ 60 รองลงมาคือบ้านเดี่ยว/บ้านแฝดร้อยละ 30 และตึกแถวร้อยละ 30 ซึ่งราคาที่ชาวบ้านซื้อได้เฉลี่ยอยู่ที่ 677,778 บาท สูงที่สุดอยู่ที่ 2,000,000 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 100,000 บาท บริเวณที่ต้องการจะซื้ออยู่ในเขตกรุงเทพมหานครในย่านชุมชนไม่ไกลจากชุมชนป้อมมหากาฬนัก เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทางง่าย และสามารถประกอบอาชีพเดิมได้โดยมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว
5.ในแต่ละครอบครัวมีสมาชิก 4.8 คน มีคนทำงาน 2.5 คน รายได้ของหัวหน้าครอบครัวโดยเฉลี่ย 19,421 บาทต่อเดือน รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาท หรือคนละ 5,395 บาทต่อเดือน
หากพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ได้ยากจนจนไม่สามารถหาซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยที่อื่นได้ หรือมีที่อยู่อาศัยอื่นอยู่แล้ว แต่หากรายใดไม่สามารถช่วยตนเองได้ ทางราชการก็ควรให้การสนับสนุน แต่จะให้ “นั่งทับที่” สาธารณะเช่นนี้ ทำให้ผลประโยชน์ของส่วนรวมเสียหายไม่ได้ รัฐบาลจึงมีเหตุผลโดยชอบที่จัดการรื้อย้ายชุมชนนี้โดยเร็วที่สุด
หากเป็นในกรณีอื่น เช่น ประชาชนยากจนไม่มีที่ไป ก็ควรจ่ายค่าชดเชยให้สมน้ำสมเนื้อ หรือจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ดี แต่กรณีนี้แตกต่างกัน ผู้อยู่อาศัยไม่ใช่คนยากจน แต่เป็นคนที่มีฐานะดีหรือฐานะปานกลาง บางส่วนได้รับค่าเวนคืนแล้วแต่ไม่ไป บางส่วนบุกรุกที่ดินผู้อื่นอยู่และย้ายเข้าอยู่ในภายหลัง คนเหล่านี้จึงเป็นกฎหมู่ ไม่ใช่ว่าชุมชนนี้มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมอะไรตามที่ว่ากัน รากเหง้าต่างๆที่ว่าเป็นแค่ข้ออ้างที่ไม่มีมูลความจริง โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2mtK7oG
การสร้างสวนสาธารณะหากมีขนาดใหญ่โตก็คงไม่เหมาะสม และควรเอาที่ดินใจกลางเมืองมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อที่จะได้เงินมาพัฒนาประเทศ เพราะที่ดินบริเวณใจกลางเมืองที่มีค่ามหาศาลไม่ใช่ของคนอยู่รอบข้าง ไม่ควรยกให้พวก “กฎหมู่” แต่ในกรณีนี้ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมคลอง เป็นส่วนหนึ่งของป้อมมหากาฬ ดังนั้น จึงควรนำมาทำเป็นสวนสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง การทำสวนสาธารณะในกรณีนี้จึงชอบแล้ว
ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยไม่เห็นแก่กฎหมู่เป็นสิ่งสำคัญ
You must be logged in to post a comment Login