วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เผด็จการไม่มีวันตาย

On June 21, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 22-29 มิถุนายน 2561)

86 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

มาถึงวันนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ภายใต้ “ระบอบเผด็จการ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

86 ปี ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึง 12 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ถึง 20 ฉบับ มีนายกรัฐมนตรี 29 คน เป็นพลเรือน 16 คน และทหาร 13 คน แต่มาจากรัฐประหาร 11 คน

จึงไม่แปลกที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก แม้แต่ผู้นำกองทัพก็ไม่มีใครรับประกัน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็ปฎิเสธทุกครั้งและยืนยันว่าทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมืองเมื่อโดนถามขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

เช่นเดียวกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็รับประกันว่าทหารจะไม่ยึดอำนาจ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พล.อ.สนธิไม่ยอมเปิดเผยเหตุผลในการทำรัฐประหาร โดยพูดเป็นปริศนาว่า “ข้อเท็จจริงบางเรื่องแม้ตนเองจะตายไปแล้วก็ไม่สามารถหาคำตอบได้”

ที่น่าสนใจการทำรัฐประหาร 2 ครั้งหลังของ คสช. และ คมช. ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการกวาดล้าง “ระบอบทักษิณ” ให้สิ้นซาก แต่รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งก็ไม่สามารถกำจัด “ระบอบทักษิณ” และเครือข่ายได้อย่างถอนรากถอนโคน

การทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น 2 ครั้งล่าสุดในปี 2549 และ 2557 มาจนถึงวันนี้แม้ประเทศไทยมีรัฐบาล คสช. ที่ครองอำนาจมาแล้ว 4 ปี และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 5 แต่การปลุก “ผีทักษิณ” ขึ้นมาหลอกหลอนให้ผู้คนหวาดกลัวก็ยังไม่เคยสิ้นสุด

ล้มเหลวซ้ำซาก

86 ปีจึงไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทยเลย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดจากการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ที่จบลงด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า

รัฐประหารซ้ำซากไม่ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐประหารว่าไม่เคยแก้ปัญหาประเทศและประชาชนได้เลย

แต่เป็นความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับที่คณะรัฐประหารรู้สึก ดังที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หนึ่งในเสาหลัก คสช. ได้ยืนยันว่า “คสช. ทำงานมาตลอด ถ้า 4 ปีไม่ดีจริงอยู่ไม่ได้”

จากจุดสูงสุดกลับสู่จุดต่ำสุด

.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิเคราะห์การเมืองไทยนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อครบรอบ 40 ปี โดยเปรียบการเมืองไทยเหมือนการเดินทางของรถไฟ 2 แบบคือ รถไฟเด็กเล่นที่วิ่งวนไปมา และรถไฟในสวนสนุกที่ไต่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ววิ่งลงมาสู่จุดต่ำสุด

“การวิ่งไปข้างหน้าของรถไฟเป็นเพียงการบอกว่าในที่สุดแล้วรถไฟจะวิ่งกลับมาที่จุดเดิม ซึ่งรถไฟที่วิ่งวนเป็นวงกลมแบบนี้ย่อมหมายความว่าการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่หลักประกันที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านในรูปลักษณ์เช่นนี้ไม่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่กลับเป็นหลักประกันสำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดากลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ที่เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วการเมืองไทยจะอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขา

ส่วนรถไฟแบบที่ 2 ของการเมืองไทยในช่วง 40 ปี เป็นเหมือนรถไฟเหาะที่วิ่งอยู่ในสวนสนุกที่วิ่งขึ้น-วิ่งลง ช่วงหนึ่งก็วิ่งขึ้นจนถึงจุดสูงสุดแล้วก็วิ่งลงมาถึงจุดต่ำสุด การเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยก็เช่นกัน มีการวิ่งสู่จุดสูงสุดและกลับลงมาสู่จุดต่ำสุด

อาจารย์สุรชาติยังตั้งข้อสังเกตในทางรัฐศาสตร์ว่า รัฐประหารถือเป็นข้อยกเว้นทางการเมือง ไม่ใช่กฎทางการเมือง แต่สำหรับการเมืองไทย รัฐประหารและการมีรัฐบาลทหารนั้นกำลังจะกลายเป็นกฎมากกว่าเป็นข้อยกเว้น และช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ารถไฟการเมืองไทยถูกออกแบบให้กลับมาที่เดิม คือจบลงด้วยการรัฐประหาร

เผด็จการไม่เคยสืบทอดอำนาจสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่ารัฐประหารของ คสช. แตกต่างจากรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆมา ซึ่งมีการนำบทเรียนในอดีตมาวางเป็นยุทธศาสตร์ให้รัฐประหารไม่เสียของและเสียเปล่า คสช. มีความพยายามจะ “สืบทอดอำนาจ ทั้งภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์หลังการเลือกตั้ง

ขณะที่อาจารย์สุรชาติยืนยันว่า ไม่เคยมีเผด็จการชุดไหนเลยที่ประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจ โดยให้ดูบทเรียนจากพม่าเป็นการเตือนใจถึง “พลังประชาชน” ซึ่งรัฐบาลทหารต้องรับมือวิกฤตในรูปแบบต่างๆที่รุมเร้าไม่หยุด โดยเฉพาะ “วิกฤตความชอบธรรม” ในตัวเอง แม้จะเคลื่อนย้ายอำนาจรัฐประหารไปสู่ระบอบการเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งมีบทเรียนมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ยุทธการยึดพื้นที่การเมือง

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในปาฐกถาพิเศษเดือนมิถุนายน 2560 ถึงรัฐบาล คสช. ว่า “มันเป็นมาสเตอร์แพลนในการช่วงชิงมวลชน และสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน”

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกวิจารณ์ว่าหมกเม็ดอำนาจรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญและกำลังสร้างปัญหามากมายขณะนี้ เกือบทุกพรรคการเมืองก็ประกาศจะแก้ไขหรือรื้อทิ้ง โดยเฉพาะ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งนักวิชาการ ภาคประชาชน และฝ่ายการเมือง ต่างเห็นพ้องกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 คือวิกฤต และเป็นการต่อท่ออำนาจของ คสช. ด้วยการยัดเยียด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน เป็นเวลา 5 ปี

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ฉายารัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า “ฉบับอภิชนเป็นใหญ่” ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนทุกคน แต่เป็นของคนบางกลุ่มสถาปนาเครือข่ายเสียงข้างน้อย

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกาศจะรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มองว่ารัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับก็คือการสะท้อนถึง “วงจรอุบาทว์” ในประเทศไทย

นายเอ็ดเวิร์ด คนุท อาจารย์ประจำภาควิชาอังกฤษและอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยมีลักษณะเป็นวงจรอุบาทว์ 5 ขั้นตอน เริ่มจากระบอบเผด็จการที่มีการควบคุมของทหาร ตามด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยกระดาษ” คือมีรัฐธรรมนูญแต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากประชาชนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นจะเกิด “วิกฤตบางอย่าง” อันนำไปสู่การแทรกแซงทางทหารและการปกครองเผด็จการอีกครั้ง

เผด็จการไม่มีวันตาย

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าประเทศไทยต้องกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” ที่เป็นระบอบการปกครองแบบไทยๆ เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทย และสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งไม่ต่างกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ประกาศสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆหลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดยจะสร้างประชาธิปไตยแบบไทยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย

ขณะที่ยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีคำนิยมว่าเป็นยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ถือเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบานสิ้นสุดลงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

วาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” จึงเป็นประชาธิปไตยภายใต้ “ระบอบ คสช.” ที่ทหารเป็นใหญ่ แม้จะมีการเลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาก็ยังอยู่ในการควบคุมของ “ระบอบ คสช.” โดยมีรัฐธรรมนูญสร้างความชอบธรรม

ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ภาควิชาการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองการเมืองไทยอย่างเฉียบขาดว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปรกติ”

รัฐประหารไทยยังไปต่อ?

ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่กำหนดทิศทางประเทศโดยผู้นำเผด็จการและผู้นำกองทัพ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าผ่านประชามติแต่ก็เป็นประชามติแบบ “มัดมือชกประชาชน” เป็นประชามติในความเงียบที่ประชาชนพูดไม่ได้ ท่ามกลางความกลัวที่ต้องถูก “ปิดหู ปิดตา ปิดปาก”

เผด็จการจึงยังไม่ตายไปจากสังคมไทย ตราบใดที่ยังไม่แยกทหารออกจากการเมือง และตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน

การรื้อทิ้ง “มรดกของ คสช.” ที่กระทบเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิชุมชน เพื่อบอกว่า..เราไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาเผด็จการ คือภารกิจสำคัญของคนไทยทุกภาคส่วนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม

การแสดงออกผ่านการเลือกตั้งด้วยกติกาที่ (แม้ไม่) เป็นธรรมจึงเป็นทางออกและทางเลือกที่สุขสงบที่สุด

เรามารื้อทิ้งไล่ระบอบเผด็จการด้วยกันเถิด!!??


You must be logged in to post a comment Login