- อย่าไปอินPosted 9 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
“รากฟันเทียม” สำคัญอย่างไร / โดย พจนา
คอลัมน์ : โลกสุขภาพ
ผู้เขียน : พจนา
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 22-29 มิถุนายน 2561)
นอกจากจะมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายแข็งแรงแล้ว สุขภาพของช่องปากและฟันนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปว่าการดูแลรักษาช่องปากและฟันไม่ใช่เรื่องยาก แค่ดูแลเหงือกและฟันด้วยการแปรงฟันวันละ 2-3 ครั้งหลังมื้ออาหาร บ้วนปากให้สะอาดอยู่เสมอ แต่หากเอ่ยถึง “รากฟัน” หรือ “รากฟันเทียม” คนที่สุขภาพฟันแข็งแรงเป็นปรกติอาจไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไรนักว่ารากฟันแท้เป็นอย่างไร แล้วรากฟันเทียมมีไว้เพื่ออะไร
เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจว่ารากฟันคืออะไร รากฟันเทียมมีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องใส่รากฟันเทียม และควรดูแลรักษาทั้งรากฟันแท้และรากฟันเทียมอย่างไร บริษัท สตรอแมนน์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้ารากฟันเทียมภายใต้แบรนด์ “สตรอแมนน์” ได้จัดงานเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆนี้ ภายในงานได้เชิญทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องรากฟันได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น
ผศ.ทพ.สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร อธิบายถึงรากฟันว่า “ฟันแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ฝังเข้าไปในกระดูกเรียกว่ารากฟัน ส่วนที่ต่อยอดขึ้นจากรากเหนือกระดูกเรียกว่าแกนฟัน และส่วนที่สามคือครอบฟัน ซึ่งจะครอบอยู่บนแกนเพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงของฟัน การดูแลรากฟันแท้มีข้อจำกัดนอกเหนือจากการดูแลปากและฟันให้สะอาดด้วยการแปรงฟัน เพราะถึงแม้เราจะดูแลรักษาความสะอาดฟันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น ฟันแตกจากการบดเคี้ยว ฟันแตกจากอุบัติเหตุ หรือแม้แต่กรณีที่เกิดมาแล้วไม่มีฟันในซี่นั้นๆ หรืออาจจะจัดฟันแล้วเกิดช่องว่างจำเป็นต้องมีฟันเพิ่มเติม เหล่านี้เป็นเหตุให้ต้องมีการสร้าง “รากฟันเทียม” ขึ้นมาทดแทนรากฟันจริง”
ผศ.ทพ.สุรกิจอธิบายต่อว่า “รากฟันเทียมคือวัสดุทางทันตกรรมที่มีไว้สำหรับทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไป โดยเป็นวัสดุที่ปลูกฝังเข้าไปในกระดูกส่วนที่เคยมีฟันแท้อยู่ รากฟันเทียมจะทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับต่อยอดขึ้นมาเป็นตัวฟันที่นำมาครอบบนแกนของรากเทียมอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เราสามารถใช้ฟันบดเคี้ยวได้ หรือหากเป็นฟันหน้าที่เสียหายไป รากฟันเทียมจะช่วยทำให้คนไข้กลับมามีฟันที่มีความใกล้เคียงกับฟันแท้ที่สูญเสียไปได้”
ผศ.ทพ.สุรกิจยังให้คำแนะนำการดูรักษารากฟันเทียมว่า “เริ่มต้นควรเลือกทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนรากฟันเทียมโดยเฉพาะ เลือกใช้รากฟันเทียมคุณภาพสูง และดูแลรักษาความสะอาดช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังการบดเคี้ยวด้วยการเลี่ยงการบดเคี้ยวของแข็งมากๆ เพื่อช่วยรักษารากฟันเทียมให้ยืนยาว ส่วนคนที่ไม่ต้องเปลี่ยนรากฟันเทียมก็ควรดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันให้ดีที่สุด เมื่อฟันสะอาด ไม่เกิดฟันผุ ไม่เป็นโรคเหงือกอักเสบ ฟันแข็งแรง รากฟันก็แข็งแรงด้วยเช่นกัน หากมีความจำเป็นไม่ต้องการเปลี่ยนรากฟันเทียมยังสามารถเลือกใช้วิธีใส่ฟันปลอมหรือทำสะพานฟันแทนได้ แต่ทั้ง 2 อย่างก็จะมีข้อเสีย นอกจากความรำคาญในการถอดเข้า-ออกของฟันปลอมแล้ว อาจทำให้เหงือกอักเสบ ฟันข้างเคียงผุ และการบดเคี้ยวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพออีกด้วย”
ด้าน ผศ.ร.ท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่ง ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรากฟันเทียมว่า “ปัจจุบันรากฟันเทียมมีให้เลือกหลากหลาย มีตั้งแต่ผลิตในประเทศและผลิตต่างประเทศ โดยใช้โลหะไทเทเนียมเป็นวัสดุหลักในการทำรากฟันเทียม ซึ่งเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในการทำเครื่องมือแพทย์ แต่ปัจจัยที่ทำให้ราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับนวัตกรรมต่างๆ กระบวนการผลิตที่ละเอียดอ่อน รวมถึงกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ขั้นสูง
สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการเลือกรากฟันเทียมคือ ศึกษาหาข้อมูลของรากฟันเทียมแต่ละยี่ห้อ และปรึกษาทันตแพทย์ ซึ่งทันตแพทย์จะเลือกรากฟันเทียมที่เหมาะสมให้คนไข้แต่ละคนได้ดีที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทุกคนสามารถเข้ารับการเปลี่ยนรากฟันเทียมได้ แต่สำหรับคนไข้อายุน้อยทันตแพทย์จะไม่แนะนำ หากมีการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมให้กับเด็กที่ร่างกายยังมีภาวะการเติบโต ฟันซี่ใหม่ที่งอกขึ้นมาอาจเบียดกับรากฟันเทียม ซึ่งไม่สามารถขยับได้เหมือนกับฟันจริง ทำให้ฟันผิดรูปหรือผิดระดับได้ และสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัด หรือต้องรับประทานยาบางชนิดที่มีผลกับการผ่าตัด ก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนรากฟันเทียมได้”
You must be logged in to post a comment Login