วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อย่านำ‘บีอาร์ที’ไปสร้างหายนะในเมืองภูมิภาค

On June 26, 2018

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ

“อย่านำ‘บีอาร์ที’ไปสร้างหายนะในเมืองภูมิภาค”

โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฏาคม 2561)

ตอนนี้มี 2-3 เมืองหลักในภูมิภาค วางแผนที่จะพัฒนารถ “บีอาร์ที” นัยว่าเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ระวังจะติดกับเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร

“บีอาร์ที” หรือรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Bus Rapid Transit เป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบหนึ่งที่ใช้รถโดยสารให้บริการเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากรถโดยสารประจำทางทั่วไป โดยพัฒนารูปแบบการเดินรถ ตัวรถโดยสาร ตารางการเดินรถ ระบบขนส่งอัจฉริยะ และที่สำคัญคือจะมีช่องทางวิ่งแยกออกมาจากถนนปรกติเป็นช่องทางเฉพาะ โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีคุณภาพของบริการเทียบเท่ากับระบบขนส่งมวลชนระบบรางในความเร็วและความจุผู้โดยสารที่เทียบเท่ากับระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา ในขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างและการเดินรถโดยสารประจำทางประหยัดกว่า ทั้งยังสามารถจัดเส้นทางการเดินรถได้ยืดหยุ่นมากกว่าระบบราง (http://bit.ly/2ji4xMi)

2013

 

2013-0

2013-05

ในประเทศไทยมี “บีอาร์ที” สายแรกคือ รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ เป็นสายนำร่องของกรุงเทพมหานคร เปิดใช้ครั้งแรกปี 2553 เดินรถบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์, ถนนพระรามที่ 3, สะพานพระราม 3 และถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร 12 สถานี โดยจัดช่องทางการเดินรถแยกจากช่องทางปรกติบนพื้นถนนเดิมในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นบนสะพานข้ามทางแยกและสะพานพระราม 3 ที่เดินรถในช่องเดินรถมวลชน (high-occupancy vehicle/HOV lane) ร่วมกับรถยนต์ที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และบริเวณทางแยกบางจุดที่ใช้ช่องทางร่วมกับรถทั่วไป (http://bit.ly/2i7AkBK)

ที่ผ่านมามีข่าวว่า “บีอาร์ที 6 ปีขาดทุนยับพันล้าน” (http://bit.ly/1RXLWhL และ http://bit.ly/25Jn1Ip) โดยมีรายละเอียดว่า “โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) จนถึงปัจจุบันรวมเวลาให้บริการประมาณ 6 ปี พบว่าขาดทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจาก กทม. ต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุนปีละประมาณ 200 ล้านบาททุกปี ส่วนจำนวนประชาชนที่ใช้บริการนั้น ตามเป้าที่ตั้งไว้คือ 30,000 คน แต่มีผู้ใช้บริการประมาณ 20,000 คนเท่านั้น และจำนวนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็น้อยมาก ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้”

ในกรณีนี้ผมในฐานะประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เคยเป็นที่ปรึกษาในโครงการของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียในการวางโรดแม็พการประเมินค่าทรัพย์สินในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกรุงจาการ์ตาถือเป็น “เมืองหลวง” ของระบบบีอาร์ทีในโลก เพราะมีเครือข่ายมากที่สุด ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่า

1.การลงทุนมากขนาด 2,009.7 ล้านบาทนี้ และประสบการขาดทุน แสดงว่าไม่ได้ทำการศึกษามาให้ดีหรือไม่

2.การปล่อยให้มีการขาดทุนทุกปีๆละ 200 ล้านบาท จนบัดนี้ 6 ปีแต่ยังไม่ได้แก้ไข ถ้าเป็นภาคเอกชนก็คงปิดกิจการไปแต่แรกแล้ว การกระทำอย่างนี้แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบเท่าที่ควรหรือไม่

3.การริเริ่มโครงการนี้ถือเป็นการหาเสียงทางการเมืองโดยใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินการหรือไม่ ถือเป็นการขาดจริยธรรมทางการเมืองหรือไม่

4.การที่ยังมีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการทำนองนี้อีกในอนาคตในพื้นที่อื่น ในจังหวัดอื่น ถือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นจริงหรือไม่

ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และได้ไปดูงานการทำรถโดยสารแบบ BRT ที่กรุงจาการ์ตาในระหว่างที่เป็นที่ปรึกษาในโครงการของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย และพบว่าโครงการประเภทนี้ไม่อาจประสบความสำเร็จจริง แม้กรุงจาการ์ตาจะใช้บริการประเภทนี้มากที่สุดในโลก มากกว่าที่กรุงโบโกตาที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็ยังต้องหันมาสร้างรถไฟฟ้าแทน

โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีคลองอยู่ตรงกลางสามารถสร้างรถไฟฟ้าแบบลอยฟ้าหรือขุดลงใต้ดิน โดยอาจร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการได้ แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการ ทำให้ประสบปัญหามากมาย แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้กั้นช่องทางจราจรให้โดยเฉพาะ และแม้หากมีการกั้นช่องทางจราจรก็กลับกลายเป็นการลดพื้นที่การจราจรของรถโดยสารอื่นอีกต่างหาก

โดยสรุปแล้ว “บีอาร์ที” จะกลายเป็นปัญหามากกว่าเป็นการแก้ปัญหาจราจร เพราะตราบเท่าที่เมืองยังเติบโตอย่างไร้ทิศผิดทาง แทนที่จะสร้างความหนาแน่นให้กับเขตชั้นในของเมืองเพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาได้ง่าย แต่กลับอนุญาตให้ก่อสร้างบ้านในเขตรอบนอกของเมืองอย่างไร้แบบแผน สภาพแบบนี้คงไม่สามารถใช้ “บีอาร์ที” ในการแก้ไขปัญหาจราจรได้


You must be logged in to post a comment Login