วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตัวแปรสุดท้าย

On June 27, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ไม่มีอะไรในกอไผ่ ไม่มีความชัดเจนเพิ่มเติมจากวงหารือระหว่าง คสช. กับพรรคการเมือง ข้อสรุปที่ได้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายรับรู้มาก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองได้ว่า “ไพรมารีโหวต” กำลังถูกใช้เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดวันเลือกตั้งและกำหนดโฉมหน้าการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะหากไม่ต้องการใช้ไพรมารีโหวตเป็นตัวแปร ไม่มีเหตุผลที่ คสช. จะไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุมเพื่อเลือกคณะผู้บริหาร จัดทำร่างนโยบาย จัดหาสมาชิกพรรค หรือให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะกิจกรรมเหล่านี้มองมุมไหนก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

วงหารือระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับตัวแทนพรรคการเมือง ที่ถูกเคลมว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้เกิดความปรองดอง ถือเป็นเรื่องที่อยู่ในทิศทางที่ควรจะเป็น

ทั้งฝ่าย คสช. และตัวแทนพรรคการเมืองต่างมีข้อสรุปอยู่ในใจแล้ว วงหารือจึงเป็นเพียงเวทีชี้แจงในสิ่งที่แต่ละฝ่ายอยากพูด ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากสิ่งที่รับรู้กันมาก่อนหน้านี้

ฝ่าย คสช. ชี้แจงความต้องการของฝ่ายตัวเองว่าจะยังไม่ปลดล็อก และการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พ ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ฝ่ายพรรคการเมืองก็พูดปัญหาของตัวเองที่ต้องการให้ คสช. แก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการทำไพรมารีโหวต ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไร

วงหารือจึงเป็นเหมือนกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามปฏิทิน เพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายรับรู้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหารือ

ถ้าเป็นการถกเพื่อให้ได้ข้อสรุป ได้แนวทางปฏิบัติ แนวทางแก้ปัญหาที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดเลือกตั้ง ระยะเวลาการพูดคุยคงไม่สั้นเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเศษๆ

การปลดล็อกพรรคการเมืองยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมคือ ต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป

กิจกรรมที่พรรคการเมืองสามารถทำได้มีแค่ประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรค รับสมัครสมาชิกพรรค แต่งตั้งตัวแทนพรรค ตั้งสาขาพรรค และให้ความเห็นกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงการหาเสียงด้วย เพราะการหาเสียงต้องมีการชุมนุมกันเกินกว่า 5 คน

เมื่อพิจารณาตามกรอบเวลาที่ว่านี้ เป็นเรื่องยากมากที่พรรคการเมืองจะมีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกรอบเวลาแรกคือปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่าการเลือกตั้งน่าจะถูกเลื่อนไปเป็นกรอบเวลาที่ 2 คือปลายเดือนมีนาคม หรือกรอบเวลาที่ 3 คือปลายเดือนเมษายน หรือกรอบเวลาสุดท้ายที่จะสามารถจัดเลือกตั้งได้คือวันที่ 5 พฤษภาคมปีหน้า

เมื่อพิจารณาตามกรอบเวลาที่กระชั้นชิดสำหรับพรรคการเมือง การทำไพรมารีโหวตจึงเป็นตัวประกันสำคัญสำหรับการกำหนดเวลาเลือกตั้ง

หากเลือกตั้งตามกรอบเวลาแรกในเดือนกุมภาพันธ์ แน่นอนว่าพรรคการเมืองจะมีปัญหาจากการทำไพรมารีโหวตไม่ทันแน่ถ้าไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 ช่วย

ถ้าไม่ใช้อำนาจพิเศษผ่อนผันการทำไพรมารีโหวต พรรคการเมืองก็ต้องจำใจยอมรับให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นกรอบเวลาที่ 3 ที่ 4 เพื่อให้มีเวลาเตรียมความพร้อมมากที่สุด

หรือหากฝ่ายคุมอำนาจไม่ต้องการให้พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคใหญ่พร้อม 100% ในการลงสนามเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเล็ก พรรคใหม่ ชิงส่วนแบ่งเก้าอี้ ส.ส. ได้มากขึ้น ก็สามารถยึดกรอบเวลาแรกจัดเลือกตั้งโดยอ้างว่ารักษาคำสัญญาตามโรดแม็พได้

หากต้องการให้พรรคการเมืองพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ไม่มีเหตุผลที่ คสช. จะไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุมเพื่อเลือกคณะผู้บริหาร จัดทำร่างนโยบาย จัดหาสมาชิกพรรค หรือให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะกิจกรรมเหล่านี้มองมุมไหนก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ไพรมารีโหวตจึงเป็นตัวแปรสำคัญและเป็นตัวแปรสุดท้ายที่จะกำหนดวันเลือกตั้ง และกำหนดโฉมหน้าการเมืองหลังการเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login