- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
จาก ทักษิณ ถึง “สามมิตร” การเมืองไทยไม่ไร้ “การดูด ส.ส.”
อเว็บไซต์บีบีซีไทยโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย (27 มิถุนายน 2018ฉ รายงาน “จาก ทักษิณ ถึง “สามมิตร” การเมืองไทยไม่ไร้ “การดูด ส.ส.”
“ไปดีเถิดนะ พี่ขออวยพร…” คือบทเพลงที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จงใจร้องข้ามทวีป เพื่อส่งสัญญาณถึงอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย หลังอดีต ส.ส. อีสานบางส่วนประกาศย้ายค่ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของกลุ่ม “สามมิตร”
บทเพลง “สิบหกปีแห่งความหลัง”ของนายสุรพล สมบัติเจริญ ถูก “คนแดนไกล” หยิบฉวยมาใช้ กำราบบรรดาลูกพรรคเก่า และกำกับจังหวะเคลื่อนทางการเมือง ในระหว่างให้น้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ผู้ต้องหาหลบหนีคดีจำคุก 5 ปี “เปิดหน้า” ต่อสาธารณะเนื่องในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51 ขณะที่น้องเขย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 รับหน้าที่ “เช็คชื่อ” สมาชิกพรรคที่สนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งปรากฏชื่ออดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. มาร่วมก๊วนกอล์ฟ 18 คน
นายทักษิณประกาศผ่านวิดีโอคอลจากลอนดอนถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 21 มิ.ย. แสดงความมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะ “ชนะยกภาค” สร้างปรากฏการณ์ “อีสานเขียว”
ในการให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทย นายทักษิณจำแนกอดีต ส.ส. ที่ไหลออกจากพรรคตามแรง “ดูด” ว่ามี 3 ประเภทคือ 1. คนมีคดี จะได้หลุดคดี 2. คนเป็นหนี้ อยู่ ๆ เอาเงินก้อนใหญ่มาให้ก็น่าสนใจ และ 3. คนมั่น ที่คิดว่าคะแนนนิยมของตนดี
“เป็นเรื่องที่ผมต้องแสดงความยินดีกับพรรคเพื่อไทยที่บุคคลเหล่านี้ออกไปจากพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้คัดนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาบ้าง เป็นเรื่องที่ดี” นายทักษิณกล่าวกับบีบีซีไทย
“ซื้อยกเข่ง เซ้งยกพรรค”
ปรากฏการณ์ “ดูด-ดึง” ส.ส. ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นและคงอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่ว่าเป็นพรรคของนายทุนท้องถิ่น ทุนระดับชาติ หรือทุนทหาร ก็ล้วนเคยใช้กลยุทธ์นี้สร้างฐานเสียงทางลัดมาแล้วทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การเมืองยุค “ปฏิรูป 20 ปี” ภายในบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ครั้งที่คึกคัก ครึกโครมที่สุด หนีไม่พ้น ในยุคพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ (2544-2549) ที่มีทั้งการดูดรายบุคคล รายกลุ่มการเมือง และดูดแบบยกพรรค จนทำให้การเมืองเหลือเพียง 2 ขั้วตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ซึ่งนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ซื้อยกเข่ง เซ้งยกพรรค”
ย้อนตำนาน “ดูด” ฉบับทักษิณ
พรรคไทยรักไทยเปิดฉากดูด ส.ส. ทันทีหลังชนะการเลือกตั้ง 6 ม.ค. 2544 ซึ่งเป็นการลงสนามครั้งแรกของพรรค จนสามารถจัดตั้งรัฐบาล 324 เสียงได้ ประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย (ทรท.) 248 เสียง พรรคความหวังใหม่ (ควม.) 36 เสียง และพรรคชาติไทย (ชท.) 40 เสียง ส่งนายทักษิณถึงฝั่งฝันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23
ผ่านไปเพียง 4 เดือน นายทักษิณได้ดูดพรรคเสรีธรรมของนายประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน 14 เสียงมาไว้ใต้สังกัด ส่งผลให้ยอด ส.ส. ของ ทรท. ขยับขึ้นเป็น 262 เสียง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พรรคแกนนำรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาห้าร้อย
ทว่าปฏิบัติการดูดยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น พรรคอันดับ 4 ในสภาอย่าง ควม. แม้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ก็ยังถูกสลายให้กลายเป็นเนื้อเดียวกับ ทรท. เพื่อเพิ่มยอดผู้แทนฯ ให้พรรคทักษิณ โดยดูดไปได้ 33 จาก 36 เสียง พร้อมสร้างตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาพรรค” ทรท. ให้แก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตหัวหน้าพรรค ควม.
ปรากฏการณ์ “ดูด” ส.ส. ยุคไทยรักไทย | ||
---|---|---|
ห้วงเวลา | ความเคลื่อนไหว | จำนวน ส.ส. สังกัด ทรท. |
6 ม.ค. 2544 | ทรท. ชนะเลือกตั้ง | 248 เสียง |
24 มิ.ย. 2544 | พรรคเสรีธรรมมีมติยุบพรรคไปควบรวมกับ ทรท. ได้สมาชิกเพิ่ม 14 คน | 262 เสียง |
24 ม.ค. 2545 | ควม. มีมติยุบพรรครวมกับ ทรท. ได้สมาชิกเพิ่ม 33 คน (ต่อมานายชิงชัย มงคลธรรม ยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง ควม. อีกครั้ง) | 295 เสียง |
21 ก.ค. 2547 | กลุ่มชลบุรีของนายสนธยา คุณปลื้ม และกลุ่มบุรีรัมย์ของนายเนวิน ชิดชอบ ลาออกจากพรรค ชท. แล้วสมัครเป็นสมาชิกพรรค ทรท. ได้สมาชิกเพิ่ม 26 คน | 321 เสียง |
31 ส.ค. 2547 | ชพน. มีมติยุบพรรคไปควบรวมกับ ทรท. ได้สมาชิกเพิ่ม 29 คน (ต่อมา พ.อ.พีระยุทธ์ ไพบูลย์วิริยะวิช ยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง ชพน. อีกครั้ง) | 350 เสียง |
ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม
อีกพรรคที่นายทักษิณหมายตาคือพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ของนายกร ทัพพะรังสี ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 5 ในสภา ด้วยปริมาณ 29 มือผู้แทนฯ โดยหัวหน้ารัฐบาลได้เทียวไล้เทียวขื่ออยู่นาน แต่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค ชพน. ไม่เอาด้วย ขอเป็นเพียง “พรรคพันธมิตร” เท่านั้น
ต่อมาในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ทักษิณ 4” เมื่อ 6 มี.ค. 2545 นายทักษิณได้ดึงพรรค ชพน. เข้าร่วมรัฐบาล และมอบโควต้ารัฐมนตรี 2 ตำแหน่งให้แก่นายกรและนายสุวัจน์ ก่อนที่นายกร ผู้เป็นหลานชาย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรค ชพน. คนแรก จะทิ้งพรรคตัวเอง ผันตัวไปเป็นสมาชิกพรรค ทรท. ทำให้นายสุวัจน์ขยับขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ชพน. คนใหม่ พร้อมประกาศ “ไม่ยุบรวมพรรค”
“กำหนดมิตร แยกศัตรู”
ในระหว่างนั้น ปรากฏข่าวลือเป็นระยะ ๆ เรื่องการสอบสวนคดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่มีบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง (ชื่อขณะนั้น) ของตระกูลลิปตพัลลภเข้าไปพัวพัน จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นแผนเร่งปิดเกมดูดนักการเมืองหรือไม่อย่างไร สุดท้าย ชพน. ได้มีมติยุบพรรคไปควบรวมกับพรรค ทรท.
เงื่อนไขแบบเดียวกันนี้ยังถูกใช้กับนายสนธยา คุณปลื้ม เลขาธิการพรรค ชท. ซึ่งมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องการเร่งคดีอาญาของนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ อดีตนายกเทศมนตรีตำบาลแสนสุข จ.ชลบุรี บิดาของนายสนธยา โดยเฉพาะคดีทุจริตซื้อที่ดินทิ้งขยะเขาไม้แก้ว เพื่อบีบให้บุตรชายต้องผละออกจากอ้อมอกของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชท. สุดท้ายกลุ่มชลบุรีของนายสนธยาก็ลาออกจากต้นสังกัดเดิม พร้อม ๆ กับกลุ่มบุรีรัมย์ของนายเนวิน ชิดชอบ แล้วยกคณะ ส.ส. 26 ชีวิตไปอยู่ใต้อาณัติพรรคทักษิณเมื่อ ก.ค. 2547
บ่อยครั้งที่นโยบายของรัฐบาลนายทักษิณถูกตีเจตนาว่ามี “วาระซ่อนเร้น” ทางการเมือง โดยเฉพาะการประกาศสงครามกับการทุจริตคอร์รัปชันและการประกาศปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งเกิดภาคปฏิบัติการอย่างคึกคักในช่วงปี 2546-2547
นอกจากกรณี “2 ส.” นายสุวัจน์-นายสนธยา ยังมีอีก 2 กรณีที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับการ “เล่นงาน” พรรคคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั่นคือ กรณีบุกค้นบ้านนายประชา โพธิพิพิธ หรือ “กำนันเซียะ” ผู้กว้างขวาง จ.กาญจนบุรี และเครือข่าย เมื่อ ก.ค. 2546 และค้นบ้านเครือข่ายนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม่เลี้ยงติ๊ก ส.ส.แพร่ เมื่อ ธ.ค. 2547 ซึ่งถูกจัดให้เป็น “ผู้มีอิทธิพล” ในบัญชีของรัฐบาล ทั้งหมดนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ “กำหนดมิตร แยกศัตรู”
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอดีต ส.ส. ปชป. บางส่วนไม่อาจต้านทานพลังดูดของพรรคไทยรักไทยที่ไม่มีฐานะคะแนนในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือนายทวี สุระบาล ส.ส. ตรัง
ดูดเพื่อเลี่ยงกลไกตรวจสอบในสภา
นักวิชาการและนักสังเกตการการเมืองเห็นตรงกันว่า “ปฏิบัติการดูด” ส.ส. ของนายทักษิณเป็นไปเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในสภา และจงใจหลบเลี่ยงกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะหากพรรค ทรท. มี ส.ส. ทะลุ 300 เสียง นายทักษิณก็จะรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องอาศัยเสียง 2 ใน 5 ของสภา หรือ 200 เสียงขึ้นไป ซึ่งตลอด 4 ปีของรัฐบาล “ทักษิณ 1” ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทุกปี แม้นายทักษิณได้รับคะแนนโหวต “ไว้วางใจ” จากสภาทั้ง 4 ครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่รบกวนสมาธิและจิตใจของเขาเป็นอย่างยิ่ง
พลังดูดที่เกิดขึ้นในสมัยแรกของรัฐบาลนายทักษิณ ทำให้พรรค ทรท. เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 6 ก.พ. 2548 ด้วยยอด ส.ส. ในสังกัดราว 350 ชีวิต กลายเป็นแหล่งรวมนักเลือกตั้งแถวหน้า มีระดับ “หัวหน้าพรรค” อย่างน้อย 6 คน และเลขาธิการพรรคอย่างน้อย 5 คน ก่อนกำชัยชนะในการเลือกตั้งได้สำเร็จ-หิ้ว ส.ส. เข้าสภาได้ 377 เสียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
แกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ย้ายมาเป็น “หัวหน้ามุ้ง” ใน ทรท.
อดีตหัวหน้าพรรค
- นายประจวบ ไชยสาส์น เสรีธรรม
- นายพินิจ จารุสมบัติ เสรีธรรม
- พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ควม.
- นายกร ทัพพะรังสี ชพน.
- นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชพน.
- นายสุวิทย์ คุณกิตติ กิจสังคม
อดีตเลขาธิการพรรค
- นายเสนาะ เทียนทอง ควม.
- นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ควม.
- นายจาตุรนต์ ฉายแสง ควม.
- นายสนธยา คุณปลื้ม ชท.
- นายเอกภาพ พลซื่อ เสรีธรรม
ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวมตั้งแต่ช่วงก่อตั้งพรรรค ทรท.
“2 ส.” เคยเป็นมือดูดข้ามก๊กของทักษิณ
มาถึงปฏิบัติการดูด ส.ส. ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ย้ายค่ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ดำเนินการผ่านอดีตลูกพรรคเก่าของนายทักษิณที่สถาปนากลุ่ม “สามมิตร” ขึ้นมา ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองหัวหน้าพรรค ทรท. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรค ทรท. และนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส. เลย และอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้ง 3 คนมีสัมพันธ์อันดีตั้งแต่ครั้งเป็น ส.ส. พรรรคกิจสังคม ด้วยกัน ก่อนกลับมาเกาะกลุ่มกันอีกครั้ง ปรากฏภาพข่าวครึกโครมเมื่อ “2 ส.” ยกคณะไปส่งเทียบเชิญนายปรีชาเข้าร่วมอุดมการณ์การเมืองถึงเมืองเลย เมื่อ 18 มิ.ย.
กล่าวสำหรับนายสมศักดิ์-นายสุริยะ อดีตหัวหน้ากลุ่ม “วังน้ำยม” เคยโชว์ผลงานดูด ส.ส. ข้ามก๊กในพรรค ทรท. มาแล้ว ด้วยเพราะขณะนั้นนายทักษิณต้องการคานอำนาจกลุ่ม “วังน้ำเย็น” ของนายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งมี ส.ส. ในสังกัดราว 40-60 คน จึงยืมมือ “2 ส.” ผนึกกำลังกับน้องสาวอย่างนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่ม “วังบัวบาน” ดูด ส.ส. ออกจากกลุ่มวังน้ำเย็นเพื่อลดทอนอำนาจต่อรองของนายเสนาะ
ทว่าหลังรัฐประหารปี 2549 นายสุริยะหายหน้าหายตาไปจากวงการการเมืองเพราะปัญหาสุขภาพ ก่อนกลับมาอีกครั้งด้วย “เงื่อนไขทางคดี” ส่วนนายสมศักดิ์แยกตัวไปทำพรรคมัชฌิมาธิปไตย
อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยรายหนึ่งระบุว่า คดีที่ถูกอ้างถึงว่า “ผู้ใหญ่” จะรับไปเคลียร์ให้คือกรณี 40 ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จากกรณีร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. เมื่อปี 2556 ซึ่งอยู่ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ปรากฏการณ์ “ดูด” หลังรัฐประหารแทบทุกยุค
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ดูดต่อเนื่องเชื่อมร้อยกับการจัดตั้งพรรคทหาร หลังรัฐประหารปี 2534 พรรคสามัคคีธรรมได้ดูด ส.ส. เข้าสังกัด ก่อนลงสู่สนามเลือกตั้งเมื่อ มี.ค. 2535 ได้ ส.ส. 79 เสียง และร่วมภารกิจ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” สนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เป็นนายกฯ ทว่านั่งเก้าอี้ได้เพียง 47 วันก็ต้องลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางกระแสต่อต้านจนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”
หลังรัฐประหาร 2549 พรรคเพื่อแผ่นดินเกิดขึ้นด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าได้รับ “สัญญาณพิเศษ” ทำให้คนการเมืองมิอาจปฏิเสธการเข้าร่วม อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนเป็นพิเศษจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แม้ดูด ส.ส. เข้าสังกัดได้ไม่น้อย แต่ตัวเลขสุดท้ายที่ได้ในการเลือกตั้งปี 2550 กลับหยุดอยู่ที่ 24 เสียง
มาปี 2561 พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนหัวหน้า คสช. ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ออกดูดนักการเมืองไปได้ราว 30 ชีวิต ซึ่งมีทั้งอดีต ส.ส. และอดีต ส.ต. (ผู้สมัครที่สอบตก) เพื่อให้มีเสียงในสภาล่าง นอกจากคุมเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในสภาสูง
You must be logged in to post a comment Login