- อย่าไปอินPosted 10 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
โจรกรรมถ้วยฟุตบอลโลก / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2561)
ถ้วยรางวัลการแข่งขันฟุตบอลโลกผลิตจากทองคำผสมเงินสเตอร์ลิงและแร่รัตนชาติเคยถูกโจรกรรมไปแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง และมีการทำเลียนแบบอย่างน้อย 2 ครั้ง จนแยกไม่ออกว่าถ้วยใบไหนเป็นของจริง
การแข่งขันฟุตบอลโลกมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1930 โดยอุรุกวัยเป็นชาติแรกที่ได้ครองถ้วยรางวัลแห่งชัยชนะ Victory ซึ่งออกแบบโดยอาเบล ลาเฟลอร์ ประติมากรชาวฝรั่งเศส จากนั้นตามด้วยอิตาลีคว้าแชมป์ 2 ครั้งติดๆกันในปี 1934 และ 1938
เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การแข่งขันฟุตบอลโลกต้องระงับไป ถ้วยรางวัลถูกนำไปเก็บรักษาในตู้นิรภัยธนาคารที่อิตาลี ต่อมาเยอรมันเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพในปี 1942 แต่ฟีฟ่ามีมติไม่จัดการแข่งขัน ออตโตริโน บาราสซิ รองประธานฟีฟ่าชาวอิตาเลียน เกรงว่าทหารนาซีจะมายึดถ้วยรางวัลไปจึงแอบไปที่ธนาคารเบิกถ้วยรางวัลนำไปซ่อนในกล่องรองเท้าซุกไว้ใต้เตียงนอนที่บ้านของเขา
ปี 1946 หลังสิ้นสุดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ฟีฟ่ามีมติให้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกอีกครั้งในปี 1950 หลังจากที่หยุดไปนาน 12 ปี โดยให้เปลี่ยนชื่อถ้วยรางวัลจากชื่อถ้วยวิกตอรีเป็นชื่อถ้วยชูลส์ รีเมต์ เพื่อเป็นเกียรติกับชูลส์ รีเมต์ ประธานฟีฟ่าชาวฝรั่งเศส ผู้ที่ทำให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลโลก
การแข่งขันปี 1950 อุรุกวัยได้กลับมาเป็นแชมป์อีกครั้ง และการแข่งขันครั้งถัดมาในปี 1954 เยอรมันได้ครองถ้วยรางวัลสมใจอยาก ก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปให้กับบราซิลในปี 1958 มีคนตั้งข้อสังเกตว่าถ้วยรางวัลมีความสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ทำให้สงสัยว่าเป็นถ้วยรางวัลที่ทำขึ้นมาใหม่ และเชื่อว่าถ้วยรางวัลของจริงอาจถูกโจรกรรมไปแล้วตอนที่อยู่ในความครอบครองของเยอรมัน แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันข้อสันนิษฐานนี้
หายของจริง
การแข่งขันฟุตบอลดำเนินไปตามกำหนดการทุกๆ 4 ปี จนกระทั่งในปี 1966 อังกฤษได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ถ้วยชูลส์ รีเมต์ ถูกนำไปตั้งแสดงในตู้โชว์ที่ห้องโถงเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 4 คน เดินตรวจตราห้องต่างๆในอาคารตลอด 24 ชั่วโมง
เวลา 23.00 น. วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 1966 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจดูห้องตั้งแสดงถ้วยชูลส์ รีเมต์ ทุกอย่างเรียบร้อยตามปรกติ เวรตรวจครั้งต่อไปคือเวลา 00.10 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพบว่าตู้โชว์ถูกงัด และถ้วยชูลส์ รีเมต์ หายไปแล้ว จากการสำรวจพบว่าโจรได้งัดประตูด้านหลังแอบเข้ามาขโมยถ้วยรางวัลไป
2-3 วันต่อมา โจรส่งจดหมายเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 15,000 ปอนด์ โดยให้รวบรวมเป็นธนบัตร 5 ปอนด์ และ 1 ปอนด์เท่านั้น ให้นำเงินจำนวนนี้มาพบกับ “แจ็กสัน” ที่สวนสาธารณะแบตเตอร์ภายในวันศุกร์ พร้อมกันนี้ได้แนบชิ้นส่วนด้านบนของถ้วยชูลส์ รีเมต์ เป็นหลักฐานว่ามีถ้วยรางวัลอยู่ในมือจริง
สารวัตรสืบสวน ลีโอนาร์ด บักกี้ ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลเดินทางไปยังจุดนัดพบ แจ็กสันเปิดประตูรถขึ้นมานั่งข้างคนขับเพื่อบอกทางไปสถานที่ซ่อนถ้วยชูลส์ รีเมต์ แต่เมื่อนั่งรถไปสักพักแจ็กสันเกิดไหวตัวทัน เพราะเห็นมีรถอีกคันขับติดตามตลอดทาง เขาจึงรีบเปิดประตูกระโดดออกจากรถ ลีโอนาร์ดวิ่งไล่ตามและรวบตัวไว้ได้
คนร้ายชื่อเอ็ดเวิร์ด เบตช์เลย์ อายุ 47 ปี เป็นชาวลอนดอน เขาสารภาพว่าชายที่เรียกตัวเองว่า “เดอะโพล” ว่าจ้างเป็นเงิน 500 ปอนด์ ให้เป็นคนกลางมาพบกับผู้ถือเงินค่าไถ่ จากการสืบสวนไม่พบหลักฐานว่าเอ็ดเวิร์ดเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมถ้วยรางวัล เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดหลังเกิดการโจรกรรม
วีรบุรุษของชาติ
การหายไปของถ้วยชูลส์ รีเมต์ ทำให้อังกฤษเสียหน้าเป็นอย่างมาก บริษัทต่างๆเสนอเงินรางวัลให้กับผู้ที่ส่งคืนถ้วยชูลส์ รีเมต์ เช่น บริษัท Toplis and Harding มอบเงิน 3,000 ปอนด์ บริษัท Fulham มอบเงิน 1,000 ปอนด์ และบริษัทผลิตใบมีดโกนยิลเลตต์มอบเงิน 500 ปอนด์ ขณะเดียวกันสมาคมฟุตบอลสหราชอาณาจักรว่าจ้างจอร์จ เบิร์ด ช่างทำอัญมณีฝีมือดี ทำถ้วยรางวัลขึ้นมาใหม่ทดแทนที่ถูกโจรกรรมไป
วันที่ 27 มีนาคม เดวิด คอร์เบตต์ วัย 26 ปี พา “พิกเกิล” สุนัขที่เลี้ยงไว้ไปเดินเล่นแถบอัพเปอร์นอร์วูดทางตอนใต้ของลอนดอน ขณะที่กำลังใส่สายจูงสุนัข เจ้าพิกเกิลก็ทำจมูกฟิตๆเข้าไปดมที่พุ่มไม้ข้างทาง เดวิดจึงก้มลงดูก็พบห่อพัสดุ เมื่อฉีกดูก็พบว่ามันคือถ้วยชูลส์ รีเมต์
เดวิดรีบกลับมาที่บ้านพร้อมกับโชว์ถ้วยชูลส์ รีเมต์ ให้จีนผู้เป็นภรรยาได้เห็นก่อนจะแจ้งเรื่องกับตำรวจ พิกเกิลกลายเป็นวีรบุรุษของชาติในชั่วข้ามคืน เดวิดเป็นตัวแทนพิกเกิลรับเงินรางวัลพบถ้วยชูลส์ รีเมต์ เป็นเงิน 6,000 ปอนด์จากหน่วยงานต่างๆ
อังกฤษครองแชมป์ในคราวนี้ ได้ครองถ้วยชูลส์ รีเมต์ ของแท้ ขณะที่ถ้วยเลียนแบบที่ทำขึ้นถูกนำไปประมูลในปี 1995 และได้ราคาสูงเกินคาดถึง 254,500 ปอนด์ โดยฟีฟ่าเป็นผู้ประมูลไป เพราะไม่มั่นใจว่าถ้วยใบไหนเป็นของจริงกันแน่ ส่วนเจ้าพิกเกิลเป็นฮีโร่ได้เพียงปีเดียวก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสาเหตุสำลักขณะวิ่งไล่กัดแมวในปี 1967
ไปไม่กลับ
ปี 1970 บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 3 ตามกฎของฟีฟ่าระบุว่า ผู้ที่สามารถเป็นแชมป์ครบ 3 สมัย จะได้ครอบครองถ้วยชูลส์ รีเมต์ ถาวร ไม่ต้องส่งคืนให้ฟีฟ่า ดังนั้น บราซิลจึงเป็นเจ้าของถ้วยชูลส์ รีเมต์ แต่เพียงผู้เดียว ขณะที่ฟีฟ่าจัดทำถ้วยรางวัลใบใหม่และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ถ้วยฟีฟ่า”
ถ้วยชูลส์ รีเมต์ ถูกนำไปตั้งแสดงในตู้กระจกกันกระสุนที่ชั้น 3 สมาคมฟุตบอลบราซิล จนกระทั่งคืนวันที่ 19 ธันวาคม 1983 คนร้าย 2-3 คน บุกเข้าไปในอาคารสมาคมฟุตบอลบราซิล จับตัวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมัดมือมัดเท้า ก่อนจะเลาะขอบไม้ของตู้โชว์ล้วงเอาถ้วยชูลส์ รีเมต์ ไปได้อย่างง่ายดาย
ตำรวจเชื่อว่างานนี้มีเกลือเป็นหนอน แต่ไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดกับผู้ต้องสงสัยได้ ถ้วยชูลส์ รีเมต์ สูญหายไปตลอดกาลนับตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในปี 1989 มีผู้พบร่างอันโตนิโอ คาร์ลอส อแรนฮา หนึ่งในผู้ต้องสงสัย ถูกยิง 7 นัดเสียชีวิต
บราซิลพยายามแก้ปัญหาเช่นเดียวกับที่อังกฤษเคยทำมาก่อน ปี 1984 สมาคมฟุตบอลบราซิลสั่งทำถ้วยชูลส์ รีเมต์ ขึ้นมาใหม่ การหายไปอย่างไร้ร่องรอยทำให้เกิดข่าวลือว่าโจรได้ทำการหลอมถ้วยชูลส์ รีเมต์ เพื่อแปลงเป็นทองคำแท่งไปแล้ว แต่หลายคนไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะถ้วยชูลส์ รีเมต์ ไม่ได้ทำจากทองคำอย่างเดียว หากแต่เป็นโลหะผสม ทองคำ เงินสเตอร์ลิง และแร่รัตนชาติ อย่างไรก็ตาม จวบจนบัดนี้ก็ยังไม่มีข่าวคราวของถ้วยชูลส์ รีเมต์ หรือโจรที่ก่อเหตุแม้แต่น้อย
1.ถ้วยชูลส์ รีเมต์
2.ชูลส์ รีเมต์ (ซ้าย)
3.จุดที่พบถ้วยชูลส์ รีเมต์
4.พิกเกิลกลายเป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษ
5.ตู้โชว์ถ้วยชูลส์ รีเมต์ ในเวสต์มินสเตอร์
6.เดวิด, พิกเกิล และจีน รับเช็คเงินรางวัล
7.ถ้วยชูลส์ รีเมต์ และชิ้นส่วนด้านบน
8.ตำรวจเก็บถ้วยชูลส์ รีเมต์ ในตู้นิรภัย
9.บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1970
You must be logged in to post a comment Login