- อย่าไปอินPosted 19 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
แค่‘นั่งบนภู’รอ
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
สถานการณ์การเมืองทวีความเข้มข้นเป็นลำดับ ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดนี้พรรคประชาธิปัตย์กลับอยู่ในสถานะ “นั่งบนภู” สบายๆ ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐหรือรวมพลังประชาชาติไทย แม้ขนาดของพรรคจะไม่ใหญ่ขึ้นแต่ก็จะไม่เล็กลง จึงทำให้อยู่ในสถานะตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยมี 2 ทางให้เลือกคือ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง หรือไปร่วมเป็นรัฐบาลกับขั้วตรงข้ามพรรคเพื่อไทย ซึ่งจำนวน ส.ส. ที่ได้จะเป็นตัวกำหนด
หลังการเปิดตัวอดีต ส.ส. ที่ตัดสินใจย้ายมาร่วมงานกับกลุ่มสามมิตรในนามพรรคพลังประชารัฐล็อตแรกที่มีมากกว่า 50 คน ถูกจับตามองว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
แต่จริงๆแล้วพรรคพลังประชารัฐไม่น่าจะอยู่ในฐานะตัวแปร
พรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญหลังการเลือกตั้งจริงคือพรรคประชาธิปัตย์
อย่างที่ทราบกันว่าแม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำม็อบนกหวีดซึ่งเคยเป็นขาใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน จะแยกตัวมาสร้างพรรคใหม่ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการย้ายค่ายของอดีต ส.ส. ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการก่อเกิดของพรรคพลังประชารัฐ
ตั้งแต่เปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทยยังไม่มีข่าวว่ามีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยกโขยงย้ายไปอยู่พรรคใหม่กับนายสุเทพ ขณะที่การเคลื่อนไหวของนายสุเทพก็ดูจะเงียบไปหลังการเปิดตัวพรรค
แม้จะตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส. ในการเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 50 ที่นั่งในสภา เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ แต่การเคลื่อนไหวเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความคึกคักไปอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐมากกว่า
ถึงจะพอเข้าใจได้ว่าการดูดอดีต ส.ส. ออกจากพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์มีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่ความเงียบผิดปรกติน่าจะพอบ่งชี้ได้ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะไม่อยู่ในสถานะตัวแปรจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
แต่น่าจะอยู่ในฐานะกำลังเสริม ฝ่ายสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐแม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง แต่จะเล่นบทประสานสิบทิศเพื่อดึงพรรคการเมืองต่างๆ ยกเว้นพรรคเพื่อไทย ให้มาร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อสถานการณ์เป็นไปในลักษณะนี้ ตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลจึงอยู่ที่การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์เป็นสำคัญ เพราะลำพังการรวม ส.ส. จากพรรคเล็กพรรคน้อยอย่างเดียวคงไม่อาจมีเสียงข้างมากในสภาได้หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม
อำนาจต่อรองจัดตั้งรัฐบาลจึงตกอยู่ในมือพรรคประชาธิปัตย์แบบเต็มๆ
อย่างที่ทราบกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าสนับสนุนคนในบัญชีรายชื่อพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่สนับสนุนคนนอก และไม่ขอร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
หากเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะดันคนในบัญชีชื่อของพรรคเป็นนายกฯได้ ก็พร้อมสนับสนุนคนในบัญชีที่ถูกเสนอชื่อของพรรคอื่นเป็นนายกฯตามกติกา
จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้เกิดกระแสข่าวออกมาว่า “บิ๊กตู่” อาจเปิดตัวลุยการเมืองในช่วงเดือนกันยายนเพื่อเอาชื่อไปอยู่ในบัญชีผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง เนื่องจากหากไม่เอาชื่อไปใส่ไว้ในบัญชีพรรคการเมืองอาจทำให้เกิดทางตันในการเลือกนายกฯในสภา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ลำบากใจกับการยกมือหนุนคนนอกเป็นนายกฯ
หากจะตั้งรัฐบาลให้ได้ หากต้องการดัน “บิ๊กตู่” เบิ้ลนั่งเก้าอี้นายกฯให้ได้ ก็ต้องอาศัย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โหวตหนุนในสภา เมื่อต้องอาศัย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องทำตามเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้ เพราะถึงแม้นายกฯจะชื่อ “บิ๊กตู่” แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็อ้างได้ว่ามาตามกติกา มาจากบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ไม่ได้สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างจะเดินไปตามนี้ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ มีจำนวน ส.ส. รวมกันแล้วมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อลดการต่อรองที่อาจทำให้ผลลัพธ์ต่างไปจากที่ต้องการ เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. มากกว่าต้องยื่นเงื่อนไขให้คนของพรรคเป็นนายกฯแน่
เมื่อมีสถานะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จึงค่อนข้างสบายใจ ไม่เดือดร้อนกับเงื่อนไขกติกาอย่างที่เห็น ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะได้ ส.ส. เข้ามาในสภาเท่าไรก็เป็นฝ่ายค้านแน่นอน 100% และจะทำได้แค่นั่งดูโดยไม่มีส่วนร่วมใดๆกับการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน
เว้นแต่ว่าจะได้ ส.ส. มากเกินกึ่งหนึ่งของสภา ซึ่งเป็นไปได้ยาก
You must be logged in to post a comment Login