วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รูโหว่ของกติกา

On July 3, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมไพร่พลเข้าสังกัดพรรคใหม่ของกลุ่มสามมิตรที่หลายคนเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อพลิกดูกฎหมายจะพอมองเห็นช่องว่างและทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมการเคลื่อนไหวดูดอดีต ส.ส. จึงทำในนามกลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายไม่ให้สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองบังคับใช้เฉพาะกับพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้อง ไม่สามารถบังคับใช้ได้กับกลุ่มการเมือง ที่สำคัญบรรดาประกาศ คำสั่งต่างๆของ คสช. ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองก็เน้นบังคับใช้ไม่ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวเป็นหลัก ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มการเมือง การเคลื่อนไหวเพื่อโชว์พลังดูดจึงอิสระเหมือนมีคนเปิดไฟเขียวให้อย่างที่เห็น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มสามมิตรที่คึกคักอย่างมากในตอนนี้ นอกจากจะน่าสนใจตรงที่ว่าจะสามารถรวบรวมอดีต ส.ส. มาอยู่ในสังกัดได้มากเท่าไร ความน่าสนใจยังอยู่ที่แรงจูงใจที่ใช้ดึงบรรดาอดีต ส.ส. เข้ามาอยู่ในสังกัด

ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีการเสนอค่าตอบแทนในการย้ายพรรคอย่างงามเพื่อเป็นแรงจูงใจนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไปว่าจริงหรือไม่ เพราะการเสนอค่าตอบแทน การเสนอให้ผลประโยชน์ หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อจูงใจให้ใครมาเป็นสมาชิกพรรคนั้น ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ขณะนี้นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สอบเอาผิดในเรื่องนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรในช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีการพูดถึงชื่อพรรคพลังประชารัฐอยู่บ้าง แต่การดำเนินการยังทำในนามกลุ่มสามมิตร ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ

ที่สำคัญยังไม่มีข้อยืนยันว่าแกนนำกลุ่มสามมิตรที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้มีสถานะเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐแล้วหรือไม่

หากดูหลักฐานอย่างเป็นทางการในการยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐต่อ กกต. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา คนที่ยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐคือ นายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส.สงขลา พรรคความหวังใหม่ และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐได้รับการรับรองจัดตั้งพรรคจาก กกต. แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา สามารถเรียกประชุมคณะผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อจดแจ้งต่อ กกต. ให้มีสถานะเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ได้รับการรับรองให้จัดตั้งพรรคยังไม่มีวี่แววว่านายชวนและ พ.อ.สุชาติที่เป็นแกนนำก่อตั้งพรรคจะเรียกประชุมคณะผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และตำแหน่งอื่นๆในพรรค เพื่อแจ้งต่อ กกต. แต่อย่างใด

แม้จะมีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐและกลุ่มสามมิตรเป็นแม่น้ำที่รอไหลมาบรรจบเป็นสายเดียวกัน แต่การดำเนินการรวบรวมอดีต ส.ส. เข้าสังกัดยังแยกทำในนามกลุ่มสามมิตร ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายไม่ให้สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองบังคับใช้เฉพาะกับพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้องเท่านั้น ไม่สามารถบังคับใช้ได้กับกลุ่มการเมือง

ที่สำคัญบรรดาประกาศ คำสั่งต่างๆของ คสช. ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองก็เน้นบังคับใช้ไม่ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวเป็นหลัก ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มการเมือง

การเคลื่อนไหวรวบรวมอดีต ส.ส. เข้าสังกัดของกลุ่มสามมิตรจึงทำได้อย่างค่อนข้างเป็นอิสระ ต่างจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ค่อนข้างเงียบเหงา เพราะเปิดตัวเป็นพรรคการเมือง แถลงข่าวในนามพรรคการเมืองไปแล้ว จึงทำให้มีข้อจำกัดทางกฎหมายมากกว่า

ก็คงเหมือนกับที่นายภิรมย์ พลวิเศษ ทีมประสานงานประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตร กล่าวไว้ว่า

“อดีต ส.ส. บางพรรคกล่าวหาว่ากลุ่มสามมิตรมี คสช. หนุนหลัง สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น กลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรค เมื่อไม่ใช่พรรคก็ไม่ผิด อีกทั้งอย่าไปคิดว่าพวกเราจะไปดูดเรื่องเงินเรื่องทอง แต่ที่ไปดูดคือ ไปดูดสมอง ดูดความคิดที่จะมาพัฒนาประเทศชาติมากกว่า”

ยังไม่ใช่พรรคการเมืองไม่ผิด นับเป็นการเดินหมากการเมืองที่แยบยลเหนือชั้น


You must be logged in to post a comment Login