วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผู้หญิงในเส้นทางศาสนา

On July 3, 2018

คอลัมน์ สันติธรรม “ผู้หญิงในเส้นทางศาสนา”

โดย บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข วันที่  8-15กรฏาคม 2561)

ในอดีตการที่ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคงเป็นเรื่องปรกติและเป็นเรื่องจำเป็นเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในสังคมที่ไร้อารยธรรม ด้านหนึ่งมาจากความจำเป็นของผู้หญิงเองที่ต้องการผู้คุ้มครองและดูแลความปลอดภัย ความต้องการมีลูกที่จะมาดูแลตัวเองในอนาคต อีกด้านหนึ่งมาจากความจำเป็นของฝ่ายชายที่ต้องการมีทายาทสืบทอดวงศ์ตระกูล ต้องการมีลูกโดยเฉพาะลูกชายเพื่อความเข้มแข็งของครอบครัวและเผ่าของตน

marriage 5

นบีอิบรอฮีม (หรืออับราฮัม) แต่งงานกับนางซาราห์มาหลายปีแต่ไม่มีลูก ระหว่างการอพยพออกจากบ้านเกิดในเมืองอูร์ที่อยู่ในอิรักปัจจุบัน ท่านวิงวอนขอต่อพระเจ้าให้ประทานบุตรที่จะมาสืบสานอุดมการณ์ความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวตลอดเส้นทาง แต่พระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตยังไม่ตอบรับคำวิงวอนของท่าน จนกระทั่งท่านได้แต่งงานกับนางฮาการ์ หญิงชาวอาหรับพื้นเมืองในอียิปต์ ท่านจึงได้ลูกคนแรกชื่ออิสมาอีล (หรืออิชมาเอล) ซึ่งเป็นต้นตระกูลของนบีมุฮัมมัด

หลังจากได้อิสมาอีลเป็นบุตรคนแรก พระเจ้าได้ประทานบุตรคนที่สองชื่อ อิสฮาก (หรืออิชอัก) แก่นางซาราห์ หลังจากนั้นอิสฮากได้มีบุตรคนหนึ่งชื่อ ยะกู๊บ (หรือยาโกบ) ผู้ได้ฉายาว่าอิสราเอล ยะกู๊บมีลูกชาย 12 คน และในหมู่ลูกหลานของยะกู๊บนี้เองที่มีนบีคนสำคัญๆที่โลกรู้จักเกิดขึ้น มูซา ฮารูน ดาวูด สุลัยมาน ซะกะรียา อีซา ล้วนเป็นนบีที่เกิดขึ้นในสายลูกหลานของยะกู๊บทั้งสิ้น

ในคัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวไว้อีกว่า อับราฮัมแต่งงานกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อ เคธูรา มีบุตรคนหนึ่งชื่อ มัดยัน และมัดยันมีบุตรหลายคน นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกกล่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีต้นตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากบุตรคนหนึ่งของมัดยัน

ลองคิดดูสิครับว่าหากนบีอิบรอฮีมและนบียะกู๊บมีภรรยาเพียงคนเดียว โลกนี้จะมีผู้นำทางด้านจิตวิญญาณสืบทอดคำสอนศาสนาของพระเจ้ามาถึงเราจนถึงปัจจุบันไหม

ในฐานะที่นบีเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และนบีมีภรรยาหลายคน สาวกของนบีเหล่านั้นจึงปฏิบัติตามและถือว่าเป็นเรื่องปรกติ ขณะเดียวกันคำสอนทางศาสนาในอดีตก็ไม่ได้กำหนดจำนวนภรรยาเอาไว้ สาวกทั้งหลายจึงมีภรรยาไม่จำกัดจำนวน

เมื่อมีภรรยาหลายคน ปัญหาเลือกที่รักมักที่ชังจึงเกิดขึ้นในครอบครัว ทำให้ภรรยาทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยากันและภรรยาบางคนถูกทอดทิ้ง ในสังคมอาหรับก่อนสมัยอิสลามผู้หญิงมีสถานะไม่ต่างอะไรไปจากสิ่งของ ผู้หญิงที่เป็นภรรยาไม่เพียงแต่ไม่มีสิทธิ์รับมรดกเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นมรดกตกทอดสู่ทายาทของสามีด้วยในกรณีที่สามีของนางเสียชีวิต

ส่วนในอินเดียผู้หญิงต้องเป็นผู้จัดหาสินสอดไปขอสามี และหากสามีตายผู้หญิงจะกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีไป

นี่คือสภาพของผู้หญิงในอาหรับและในโลกก่อนสมัยอิสลาม

เมื่อนบีมุฮัมมัดมาเผยแผ่อิสลาม สถานภาพของผู้หญิงได้รับการปฏิรูปมากมายหลายอย่าง เช่น ผู้หญิงมีสิทธิ์ในการตัดสินใจแต่งงานเอง เธอมิใช่สิ่งของที่จะถูกยกให้ใครตามความพอใจของผู้ปกครอง ไม่เพียงเท่านั้นผู้หญิงยังมีสิทธิ์เรียกร้องของขวัญแต่งงานจากผู้ชายที่จะแต่งงานกับเธอด้วยตัวเอง และของขวัญนั้นเป็นของเธอ ในอิสลามผู้หญิงมีสิทธิ์ได้รับมรดก แม้จะเพียงครึ่งหนึ่งของส่วนแบ่งที่พี่ชายและน้องชายได้รับ แต่วัฒนธรรมอิสลามกำหนดให้พี่ชายและน้องชายเป็นผู้ดูแลพี่สาวและน้องสาวของตนเมื่อพ่อตายจากไป ผู้หญิงมีสิทธิ์หารายได้ด้วยตัวเอง และรายได้นั้นเป็นสิทธิ์ของเธอ

ส่วนเรื่องการมีภรรยามากกว่า 1 คนนั้น อิสลามอนุญาตให้มีได้ แต่ได้จำกัดจำนวนไว้ว่าไม่เกิน 4 คน บนเงื่อนไขว่า “หากสูเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ก็จงแต่งแต่เพียงหนึ่ง”

ความยุติธรรมในที่นี้คือการที่ภรรยาและลูกๆทุกคนต้องได้รับสิทธิ์ที่พึงได้รับเหมือนกันทุกคน  


You must be logged in to post a comment Login