วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บุญหนักศักดิ์ใหญ่

On July 10, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองสัปดาห์นี้ให้จับตาการประชุม สนช. วันที่ 12 กรกฎาคมว่าจะลงมติให้ความเห็นชอบ 7 รายชื่อที่ผ่านกระบวนการสรรหา ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติให้เป็น กกต. ชุดใหม่หรือไม่ ถ้าถูกคว่ำทั้งกระดานหรือผ่านแค่บางคน สังคมจะพากันตั้งคำถามว่า สนช. ใช้หลักอะไรในการลงมติ พิจารณาจากคุณสมบัติ ประวัติการทำงาน หรือใช้ความชอบไม่ชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อประกอบการตัดสินใจ หากการคัดเลือก กกต. ถูกคว่ำอีกมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นที่ชื่นชอบของ สนช. ถูกเชิญมาเป็น กกต. คุมเลือกตั้ง

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองสัปดาห์นี้ความน่าสนใจอยู่ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ต้องรอลุ้นผลการลงมติของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ว่าจะเห็นชอบกับรายชื่อบุคคล 7 คน ที่ผ่านกระบวนการสรรหาและการตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่หรือไม่

ทั้ง 7 รายที่ผ่านกระบวนการสรรหาและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูตกรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ ปทุมธานี ระนอง ชุมพร 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 6.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 7.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

2 รายหลังสุดนับว่าน่าสนใจ เพราะเป็นตัวแทนที่ได้รับการเสนอชื่อมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่เคยได้รับการเสนอชื่อมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ให้เป็น กกต. ในการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ครั้งนี้ต้องดูว่าจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านแล้วต้องกลับไปสู่กระบวนการคัดเลือกอีก ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะยืนยันส่งรายชื่อทั้ง 2 คนมาให้ที่ประชุม สนช. โหวตเป็นคำรบสามหรือไม่

ถ้าผลออกมาว่า สนช. ลงมติให้การรับรองนายฉัตรไชยและนายปกรณ์เป็น กกต. ก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าทำไมการพิจารณาครั้งแรกไม่ลงมติรับรองให้เป็น กกต. ทั้งที่เป็นคนเดียวกัน ทั้งคุณสมบัติและประวัติเหมือนเดิมทุกประการ

นอกจากความน่าสนใจของ 2 ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็น กกต.ชุดใหม่ที่ผ่านกระบวนการสรรหาและการตรวจสอบคุณสมบัติก็มีความน่าสนใจไม่แตกต่างกัน

แม้ทั้ง 5 รายจะเป็นรายใหม่ที่ไม่ซ้ำกับ 5 รายเดิมที่เคยถูกที่ประชุม สนช. ตีตกไม่รับรองให้เป็น กกต. ครั้งนี้ไม่ว่าที่ประชุม สนช. จะลงมติรับรองหรือไม่รับรองให้เป็น กกต. ก็ต้องมีเหตุผลอธิบายกับสังคมให้ได้เช่นเดียวกัน

กรณีไม่รับรองก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ผ่านกระบวนการสรรหาที่ถูกต้อง จึงไม่ได้รับการรับรองให้เป็น กกต.

กรณีลงมติรับรองก็ต้องมีคำอธิบายเช่นกันว่า 5 คนใหม่มีความแตกต่างจาก 5 คนเดิมที่ไม่ผ่านการรับรองในการลงมติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอย่างไร เพราะ 5 รายเดิมต่างมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และผ่านกระบวนการสรรหามาเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามข้ออ้างเดิมที่ว่า สนช. เห็นว่างานของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีภารกิจสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง จึงอยากได้บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่ง สนช. ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ สนช. อยากได้คนใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความตั้งใจที่ดีที่สุดมาเป็น กกต. จึงลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเหตุผลข้ออ้างกว้างๆแบบครอบจักรวาล

ถ้าใช้ข้ออ้างเดิมล้มการคัดเลือก กกต. ซ้ำจะชี้ชัดว่า สนช. ใช้ความชอบใจไม่ชอบใจในการลงมติมากกว่าที่จะพิจารณาจากคุณสมบัติและประวัติการทำงาน และมีความเป็นไปได้สูงที่การคัดเลือกรอบใหม่ กรรมการสรรหาจะส่งเทียบเชิญคนที่ สนช. อยากให้เป็น กกต. มารับตำแหน่งเพื่อคุมการเลือกตั้งควบคู่กับการเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไป


You must be logged in to post a comment Login