วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ช่างมันฉันไม่แคร์

On July 12, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การประชุม สนช. วันนี้ (12 ก.ค.) จะได้คำตอบที่ชัดเจนว่ากระบวนการคัดเลือก กกต.ชุดใหม่จะสิ้นสุดลง หรือต้องกลับไปสรรหาใหม่เพื่อใช้ช่องทางพิเศษออกหนังสือเชิญคนที่อยากให้เป็น กกต. เข้ามาทำหน้าที่คุมเลือกตั้ง แม้หลายคนจะออกมาดักคอให้ระวังข้อครหาและการยอมรับในการทำหน้าที่หากใช้วิธีเชิญคนมาเป็น กกต. แต่ชั่วโมงนี้ต้องถามว่า “ใครแคร์” ถึงสังคมจะตั้งข้อสงสัยว่าเอาคนของตัวเองไปคุมจัดเลือกตั้งเพื่อเอื้อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบก็เป็นแค่คำครหา ไม่ต่างจากคำครหาการคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระหลายแห่งก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเข้าไปทำหน้าที่แล้วทุกคนต้องยอมรับโดยสภาพในเมื่อมีกฎหมายรับรองการใช้อำนาจ

ก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะลงมติรับรองหรือไม่รับรอง 7 บุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหาและตรวจสอบประวัติให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันนี้ (12 ก.ค.) ลองไปดูปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลังจากช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเค้าลางให้เห็นว่าทั้ง 7 รายชื่ออาจไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม สนช. หรืออาจผ่านแค่บางคน (โดยเฉพาะตัวแทนจากสายศาลยุติธรรม) เพื่อบันทึกว่าใครพูดไว้อย่างไรก่อนที่จะรู้ผลอย่างเป็นทางการ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ชี้แจงกระบวนการพิจารณาก่อนลงมติว่า จะเป็นการประชุมลับ เพราะคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติต้องนำเสนอรายงานเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติของผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อทั้ง 7 คน หลังได้รับข้อมูลแล้วที่ประชุมจะลงมติอย่างไรเป็นดุลยพินิจของ สนช. แต่ละคน

“ไม่น่าจะมีประเด็นถึงขนาดล้มกระดานกันอีก ส่วนตัวเชื่อว่าบุคคลที่มาสมัครในครั้งนี้เบื้องต้นน่าจะสำรวจตัวเองมาแล้ว เพราะถ้าคนที่มาสมัครไม่มั่นใจก็อาจจะถูก สนช. ปฏิเสธได้อีก

สนช. เข้มงวดในรายละเอียด การดูประวัติเชิงลึกและความประพฤติทางจริยธรรม ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกันคัดกรองเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาทำหน้าที่ เพราะ กกต. จะมีหน้าที่เข้ามาดูแลการเลือกตั้ง ขอยืนยันว่าการลงมติไม่มีใบสั่ง เชื่อว่า สนช. ตัดสินใจเองได้บนพื้นฐานของความเหมาะสม ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า สนช. จะทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระเพื่อคัดกรองบุคคลที่ดีมาทำหน้าที่ใน กกต.”

ฟังดูคล้ายๆกับการเคลื่อนไหวก่อนลงมติเลือก กกต.ครั้งแรกที่ถูกคว่ำกระดานทิ้งทั้ง 7 รายชื่อเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการลงมติของ สนช. หากรับรองรายชื่อบุคคลเป็น กกต. ไม่ถึง 5 คน ผู้ที่ผ่านการรับรองจะยังไม่สามารถเข้าทำหน้าที่ได้ เพราะถือว่ายังไม่ครบองค์ประชุม ต้องรอให้ได้ครบตามจำนวนก่อนจึงจะเริ่มทำหน้าที่ได้

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวที่ออกมาอย่างมากในตอนนี้คือ การประชุม สนช. ในวันนี้ (12 ก.ค.) จะมีผู้ที่ผ่านการลงมติรับรองให้เป็น กกต. โดยชี้เป้าไปที่ตัวแทนสายศาลยุติธรรมทั้ง 2 คน เพราะเป็นรายชื่อเดิมที่เคยถูกตีตกมาแล้วครั้งหนึ่ง สนช. คงไม่ตีตกซ้ำ เพราะจะเป็นการหักหน้าศาลที่ยืนยัน 2 รายชื่อเดิมมาให้ สนช. รับรองเป็น กกต.

ที่สำคัญข้อห่วงใยเรื่องขั้นตอนลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเรื่องลงมติลับหรือเปิดเผยได้รับการแก้ไขมาแล้ว สนช. คงไม่มีข้ออ้างอื่นที่จะใช้ปัดทิ้ง 2 รายชื่อที่เป็นตัวแทนของสายศาลยุติธรรมได้

ที่ต้องลุ้นคือ 5 รายชื่อที่มายื่นใบสมัครและผ่านกระบวนการคัดเลือกจากกรรมการสรรหาว่าจะมีกี่คนผ่านมติรับรองให้เป็น กกต. ถ้ามีคนไม่ผ่านการรับรองต้องกลับไปสรรหาใหม่ก็จะสามารถใช้วิธีเชิญบุคคลที่ต้องการให้มาเป็น กกต. ได้ตามที่มีผู้ใหญ่บางคนอยากให้ใช้แนวทางนี้ ซึ่งเขียนกฎหมายเปิดช่องเอาไว้แล้ว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงว่าหากใช้วิธีการเชิญหรือทาบทามคนมาเป็น กกต. จะทำให้การทำงานของ กกต. ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะจะมีข้อครหาว่ามีคนของตัวเองที่ต้องการให้เป็น กกต. อยู่แล้ว

“กกต. ที่มาจากการทาบทามจะไม่ได้รับความเชื่อถือ กระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ กกต. ส่งผลให้การจัดการเลือกตั้งในอนาคตไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนว่าจะทำให้เกิดความสุจริต เที่ยงธรรม ได้จริง จึงอยากให้การพิจารณาของ สนช. เป็นไปตามปรกติ ได้ กกต. มาทำหน้าที่เสียที”

แม้ในทางทฤษฎีทุกคนอาจคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายนิพิฏฐ์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีคำถามว่าจะเกิดปัญหาการไม่ยอมรับจริงหรือไม่ ในเมื่อกระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระหลายองค์กรก่อนหน้านี้ล้วนมีข้อครหายัดคนของตัวเองเข้าไปทำงานทุกองค์กร แต่ก็ไม่มีใครทัดทานได้เมื่อมีกฎหมายรับรองการทำหน้าที่

เอาคนของตัวเองไปคุมจัดเลือกตั้งเพื่อเอื้อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบก็แค่คำครหา

ใครแคร์?


You must be logged in to post a comment Login