- อย่าไปอินPosted 10 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
แฟนนีและสเตลล่า / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 13-20 กรกฎาคม 2561)
หญิงสาวหน้าตาดี 2 คน ถูกตำรวจรวบตัวในข้อหาขายบริการทางเพศ ขณะถูกควบคุมตัวในห้องขังเพื่อรอขึ้นศาลในวันรุ่งขึ้น วิกผมของพวกเธอหลุดออกจากศีรษะ เผยให้เห็นว่าแท้จริงพวกเธอคือผู้ชาย
เออร์เนสต์ โบลตัน เป็นบุตรของนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ด้วยใบหน้างดงามอ่อนหวานทำให้ผู้ที่พบเห็นมักสับสนคิดว่าเขาเป็นเด็กผู้หญิงเสมอๆ อีกทั้งเขายังสามารถร้องเพลงด้วยน้ำเสียงที่เล็กและแหลมสูงได้เหมือนกับผู้หญิง เออร์เนสต์ก็เลยนำเสื้อผ้าเด็กผู้หญิงมาสวมใส่ให้รู้แล้วรู้รอดกันไป โดยมารดาของเขาก็เห็นดีเห็นงาม เพราะคิดว่าน่าสนุกดี แถมยังพาไปไหนต่อไหนโดยแนะนำคนอื่นว่าเป็นสาวใช้ชื่อ “สเตลล่า”
เฟรเดอริก ปาร์ก เป็นบุตรของผู้พิพากษา ชอบการแสดงและมีรสนิยมชอบแต่งกายเป็นหญิงเช่นเดียวกับเออร์เนสต์ เมื่อทั้งคู่โคจรมาพบกันราวทศวรรษ 1860 ก็เลยจับคู่กันตั้งวงดูโอ โดยเฟรเดอริกใช้ชื่อการแสดงว่า “แฟนนี” ส่วนเออร์เนสต์ใช้ชื่อว่า “สเตลล่า”
แฟนนีและสเตลล่าเปิดการแสดงในโรงละครหลายแห่ง จากการที่บางครั้งก็แต่งเป็นชาย บางครั้งก็แต่งเป็นหญิงมายังโรงละคร ทำให้พวกเธอถูกผู้ดูแลโรงละครยกเลิกการแสดงหลายต่อหลายครั้ง เพราะไม่รู้ว่าพวกเธอเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่
ปาร์ตี้ส่วนตัว
ค่ำวันที่ 28 เมษายน 1870 วิลเลี่ยม แชมเบอร์เลน ตำรวจสายสืบ สะกดรอยตามเออร์เนสต์ โบลตัน และเฟรเดอริก ปาร์ก หนุ่มวัย 24 ปีเท่ากัน ออกจากบ้านพักเลขที่ 13 ถนนเวกฟิลด์ อันที่จริงตำรวจเฝ้าดูพฤติกรรมของเออร์เนสต์และเฟรเดอริกมานานกว่าปีแล้ว
เออร์เนสต์และเฟรเดอริกนัดพบกับฮิวจ์ มันเดลล์ และชายอีกคน ที่โรงละครสแตรนด์ ฮิวจ์เป็นหนึ่งในผู้ที่มาติดพันสเตลล่า ในสมัยนั้นเป็นที่รู้กันว่าโรงละครเล็กๆเป็นสถานที่พบปะผู้หญิงขายบริการชั้นสูง
ฮิวจ์เข้าใจว่าสเตลล่าและแฟนนีเป็นผู้หญิงแต่แต่งกายเป็นผู้ชาย เขาแนะนำให้พวกเธอเดินแกว่งแขนมากกว่านี้จะได้เหมือนผู้ชายจริงๆ สเตลล่าและแฟนนีบอกฮิวจ์ว่าพวกเธอเป็นผู้ชายจริงๆ แต่ฮิวจ์กลับหัวเราะคิดว่าพวกเธอล้อเขาเล่น
สเตลล่าและแฟนนีเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อแสดงบนเวที หลังจากการแสดงสิ้นสุดลงสเตลล่าและแฟนนีพาฮิวจ์และชายอีกคนไปยังงานปาร์ตี้ส่วนตัวที่จัดขึ้นที่โรงแรมแฮกเซลซึ่งอยู่ติดกับโรงละคร โดยคาร์ลอตตา กิดดิ้งส์ นักจัดงานปาร์ตี้สำหรับกลุ่มชอบแต่งกายข้ามเพศ
ภรรยานักการเมือง
หลังจากจบงานปาร์ตี้สเตลล่าบอกฮิวจ์ให้นำรถมารับเพื่อไปส่งเธอที่บ้าน วินาทีนั้นเองสายสืบวิลเลี่ยมและตำรวจอีกหลายนายแสดงตัวเข้าจับกุมสเตลล่า แฟนนี และฮิวจ์ ขณะที่แขกคนอื่นๆสามารถหลบหนีไปได้
สเตลล่าให้การกับตำรวจว่าเธอคือเลดี้คลินตัน เป็นภรรยาของลอร์ดอาร์เธอร์ คลินตัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุตรชายของเฮนรี คลินตัน ดยุกแห่งนิวคาสเซิล พร้อมกับโชว์แหวนแต่งงาน ตำรวจจึงออกหมายเรียกลอร์ดอาร์เธอร์ให้มาให้ปากคำ
แม้ว่าการแต่งกายข้ามเพศจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในสมัยนั้น แต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ตำรวจจึงพยายามหาหลักฐานว่ามีการเสพสังวาสแบบผิดธรรมชาติเพื่อให้เข้ากับข้อกฎหมาย โดยส่งแพทย์ทำการตรวจทวารหนักสเตลล่าและแฟนนีเพื่อหาหลักฐานดังกล่าว ส่วนฮิวจ์ได้รับการปล่อยตัว เพราะตำรวจเชื่อคำให้การของเขาว่าไม่รู้จริงๆว่าสเตลล่าและแฟนนีเป็นผู้ชาย
ตำรวจตรวจค้นบ้านเลขที่ 13 ถนนเวกฟิลด์ พบชุดผ้าไหมประดับลูกไม้ 16 ชุด กระโปรงชั้นใน 12 ตัว เสื้อคลุม 10 ตัว เสื้อซับใน 6 ตัว มวยผม 20 ชิ้น ถุงน่อง หมวก และถุงมือจำนวนมาก
หนีความผิด
จากการสอบสวนพบผู้เกี่ยวข้องอีก 5 คนคือ หลุยส์ เฮิร์ต, จอห์น ฟิสก์, มาร์ติน คัมมิ่ง, วิลเลี่ยม ซัมเมอร์วิลล์ และซี. เอช. ทอมป์สัน โดย 3 คนสุดท้ายหลบหนีไม่ยอมมาให้การที่ศาล ขณะที่ลอร์ดอาร์เธอร์เสียชีวิตด้วยโรคอีดำอีแดงก่อนวันถึงนัดหมาย
บางคนเชื่อว่าลอร์ดอาร์เธอร์ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคร้าย แต่ฆ่าตัวตายเพื่อหลบหนีเรื่องน่าอับอาย และหลายคนเชื่อว่าลอร์ดอาร์เธอร์หลบหนีออกนอกประเทศด้วยความช่วยเหลือของวิลเลี่ยม แกลดสโตน นายกรัฐมนตรีและพ่ออุปถัมภ์ของลอร์ดอาร์เธอร์
วันที่ 9 พฤษภาคม 1871 สเตลล่าและแฟนนีถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดและได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ เพราะไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาเสพสังวาสอย่างผิดธรรมชาติ และการแต่งกายเป็นหญิงไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย
หลังจากได้รับการปล่อยตัว สเตลล่าและแฟนนีย้ายออกจากลอนดอนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงนิวยอร์ก ก่อนที่แฟนนีจะเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 33 ปี โดยเชื่อกันว่าเธอเสียชีวิตจากโรคซิฟิลิส ขณะที่สเตลล่าเสียชีวิตในวัย 56 ปี
ปากว่าตาขยิบ
ปี 1838 เจมส์ ทัลบอต ทำการสำรวจแหล่งค้ากามในเมืองใหญ่บนเกาะอังกฤษ เขาพบว่าในเมืองเอดินบะระมี 219 แห่ง ลิเวอร์พูล 770 แห่ง แมนเชสเตอร์ 308 แห่ง ลีดส์ 175 แห่ง นอร์วิช 194 แห่ง และลอนดอนเพียงเมืองเดียวมีมากถึง 5,000 แห่ง ขณะที่สถานศึกษามีเพียงแค่ 2,150 แห่งเท่านั้น
ก่อนที่วิลเลี่ยม แกลดสโตน จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาตระเวนไปตามสถานที่ค้ากามหลายแห่ง โดยอ้างว่าเพื่อหาทางช่วยเหลือหญิงขายบริการ หลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยังมีเสียงร่ำลือว่าเขาเชิญผู้หญิงขายบริการมายังบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง เพื่อยกระดับจิตวิญญาณโดยการอ่านคัมภีร์ไบเบิลให้พวกเธอฟัง แม้ในวัยชราก็ยังมีเสียงลือว่าเขายังคงชอบไปตามสถานขายบริการทางเพศ แต่ไปเพื่อดูสาวๆทำงานเท่านั้น
ขณะที่อังกฤษในยุควิกตอเรียนพยายามสร้างภาพว่าเป็นดินแดนแห่งศีลธรรม แต่กลับมีแหล่งค้ากามมากมาย พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่เหนือจินตนาการของคนส่วนใหญ่ คดีของสเตลล่าและแฟนนีจึงเป็นที่สนใจของสาธารณชน
วันที่ 24 กันยายน 1880 กำลังตำรวจบุกเข้าโอบล้อมเทมเปอเรนซ์ฮอลล์ในเมืองฮูล์ม เขตปริมณฑลแมนเชสเตอร์ จับกุมตัวชาย 47 คน ในข้อหาชักชวนและสนับสนุนให้มีการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากครึ่งหนึ่งของผู้ถูกจับกุมตัวแต่งกายเป็นหญิง
หนังสือพิมพ์ระบุรายชื่อผู้ที่ถูกตำรวจจับกุมตัวทั้ง 47 คน ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากที่มีชื่อเป็นข่าว พวกเขาทั้ง 47 คนสามารถใช้ชีวิตเป็นปรกติสุขได้เหมือนเคยหรือไม่ เพราะในสมัยนั้นสังคมยังไม่ยอมรับพฤติกรรมรักร่วมเพศ
1.สเตลล่า (ซ้าย) และแฟนนี
2.เฟรเดอริก (ซ้าย) และเออร์เนสต์
3.สเตลล่า
4.เออร์เนสต์
5.เฟรเดอริก (หลัง) อาร์เธอร์ และเออร์เนสต์
6.แฟนนีและสเตลล่ากับเพื่อนนักแสดง
7.แฟนนีและสเตลล่าถูกตำรวจรวบตัว
8.ตำรวจค้นที่พักเลขที่ 13 ถนนเวกฟิลด์
9.ตำรวจล้อมจับกลุ่มปาร์ตี้เทมเปอเรนซ์ฮอลล์
You must be logged in to post a comment Login