วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ร้อยพรรคสองขั้ว

On July 16, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังได้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนชุดเดิม แม้จะยังไม่ครบจำนวนทั้ง 7 คน แต่จะทำให้การเมืองชัดเจนขึ้นและมีความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น เป็นไปได้ว่าภายในสิ้นเดือนนี้หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือนหน้าจะมีความชัดเจนเรื่องการเปลี่ยนขั้วย้ายข้างของนักการเมือง เมื่อการย้ายพรรคนิ่งแล้วจะเริ่มเห็นแนวโน้มว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไร พรรคไหนจะชนะเลือกตั้ง พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้ที่ผ่านมาจะมีพรรคการเมืองเกิดใหม่มากถึง 114 พรรค (ไม่รวมพรรคการเมืองเก่า) ไม่ว่าจะพร้อมลงสนามเลือกตั้งกี่พรรค แต่การเมืองถูกแยกเป็น 2 ขั้วเท่านั้น คือขั้วเอาเพื่อไทยกับขั้วไม่เอาเพื่อไทย

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองสัปดาห์นี้หลังจากมีความชัดเจนเรื่องกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ที่ได้คนมาทำหน้าที่แทน กกต.เดิมเรียบร้อยแล้ว แม้จะยังไม่ครบทั้ง 7 คนตามที่กฎหมายกำหนด แต่ 5 คนที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็สามารถเริ่มทำงานเพื่อเตรียมการจัดเลือกตั้งได้

เมื่อมีกรรมการที่จะทำหน้าที่จัดเลือกตั้งและดูแลให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันแล้ว จากนี้ไปความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการย้ายพรรคของบรรดาอดีต ส.ส.

พรรคพลังประชารัฐภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มสามมิตรที่เครื่องช็อตไปเล็กน้อยหลังออกตัวแรงในตอนแรกคงต้องกลับมาเร่งเครื่องอีกครั้ง และการแถลงเปิดตัวเพื่อให้เป็นสัญญาประชาคมผูกมัดอดีต ส.ส. ที่ตกลงรับปากกันแล้วไม่ให้รับข้อเสนอแล้วเปลี่ยนใจย้ายพรรคหรือไปสังกัดพรรคอื่นที่อาจยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าคงจะมีการขยับเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

หากเป็นไปตามคาดอาจมีการเปิดตัวภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือนหน้า เพราะเมื่อล่วงเข้าเดือนกันยายนหากทุกอย่างเป็นไปตามคาด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะปลดล็อกให้พรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมเพื่อเตรียมเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทันทีที่สัญญาณเสียงนกหวีดดังหมายความว่าการแข่งขันอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว สิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆจะต้องทำให้เรียบร้อยคือ จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค หาสมาชิกพรรคเพิ่มเติม ให้ความเห็นต่อ กกต. ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดทำไพรมารีโหวต

ในส่วนของ กกต. ต้องออกหลักเกณฑ์และระเบียบให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีการประกาศใช้ และให้ดำเนินการเรื่องการแบ่งเขตให้เสร็จเรียบร้อย

สำหรับปัญหาใหญ่ที่พรรคการเมืองอยากให้แก้ไขเรื่องการทำไพรมารีโหวตนั้น ถึงตอนนี้มีแนวโน้มค่อนข้างสูงว่าไม่มีการยกเลิก อาจมีการปรับให้ทำไพรมารีโหวตรายภาคแทนการทำไพรมารีโหวตทุกเขตเลือกตั้ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการปรับแก้กติกาจะเป็นไปอย่างถาวรหรือใช้เฉพาะการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารเท่านั้น

เมื่อทิศทางการเมืองเป็นไปอย่างนี้แน่นอนว่าภายในสิ้นเดือนนี้หรืออย่างช้าต้นเดือนหน้าประชาชนจะได้รู้กันแล้วว่าอดีต ส.ส. คนไหนจะเปลี่ยนค่ายย้ายสังกัดกันบ้าง และจะไปอยู่สังกัดไหน อย่างไร อดีต ส.ส. คนไหนจะยังจงรักภักดีกับต้นสังกัดเดิมไม่เปลี่ยนขั้วย้ายข้าง

เมื่อภาพการย้ายพรรคชัดเจนจะทำให้ประชาชนพอประเมินได้ว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไร พรรคไหนจะชนะเลือกตั้ง พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แม้ที่ผ่านมาจะมีพรรคการเมืองเกิดใหม่มากถึง 114 พรรค (ไม่รวมพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่ก่อน) ไม่ว่าจะพร้อมลงสนามเลือกตั้งกี่พรรค ประชาชนที่มองการเมืองออกย่อมรู้ว่าการเมืองปัจจุบันแยกเป็นแค่ 2 ขั้วเท่านั้น คือขั้วเอาเพื่อไทยกับขั้วไม่เอาเพื่อไทย

การเลือกตั้งจึงเป็นการวัดพลังกันของ 2 ขั้วการเมือง ที่ประชาชนจะเป็นคนตัดสินผ่านผลคะแนนว่าจะไว้วางใจขั้วไหนให้เข้ามาบริหารประเทศต่อไป


You must be logged in to post a comment Login