วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ไทยนิยมยั่งยืนใช้แนวทาง“กาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส โมเดล”นำร่องแก้จน

On July 20, 2018

“กฎข้อหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ยากจน คือต้องใจสู้ หรือไม่ขี้เกียจ นั่นคือสิทธิ์ที่จะได้ไปต่อ หากประเมินและเปิดใจพูดคุยปัญหาแล้วยังอยู่ในโหมดขี้เกียจจะทยอยลดความช่วยเหลือลงไป”

ภายหลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มีข้อสั่งการให้จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจน

โครงการ กาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส โมเดล (Kalasin Happiness Model ) “คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  มีเป้าหมายยกระดับชีวิตคนจนขั้นพื้นฐาน และยกระดับรายได้ของจังหวัดบนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ( GPP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7

ล่าสุดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรติดตามความคืบหน้า โครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยใช้แนวทางกาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส โมเดล “คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ภายใต้การนำของ น.ส.รัศมินท์ พฤกษาทร หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมการปกครอง ทั้งนี้โครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่มีกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ

หลักการสำคัญของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน คือ การใช้หลัก “ประชารัฐ” โดยใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศระดับตำบลเป็นแกนหลักในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ มุ่งเน้นการทำประชาคมและประสานการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงจุด โดยเริ่มจากศึกษาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละพื้นที่แล้วนำมาจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงให้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ในขณะเดียวกันก็เน้นในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

ไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ข้อมูลว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีประชากร 9.8 แสนคน มีรายได้เฉลี่ย 51,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่มีจุดแข็งเรื่องปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวที่มีมากกว่า 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่กาฬสินธุ์ยังจัดอยู่ในจังหวัดที่มีความยากจนอยู่ลำดับ 3 ของประเทศ โดยข้อเท็จจริงของความยากจน คือความไม่รู้ ชาวบ้านไม่มีอาชีพที่มั่นคง มีปัญหาหนี้สิน ไม่มีที่อยู่อาศัย และมีปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วยซ้ำเติม ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการทำประชาคมหมู่บ้าน ให้ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เป็นผู้คัดเลือกคนที่ยากจนจริงๆ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ จนได้ตัวเลขของผู้ยากจนทั้งจังหวัดอยู่ที่ 3,292 ครอบครัว ต้องสร้างบ้านให้ครอบครัวยากจนรวม 600 หลัง รวมทั้งการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ปศุสัตว์ มอบหมายให้เกษตรจังหวัด จัดหาเมล็ดพันธุ์ผัก ไก่ไข่ มาให้ชาวบ้าน รวมทั้งหาตลาดให้โดยให้ซื้อขายภายในชุมชน

นางจ่อย มาตรเสน หญิงหม้ายตัวคนเดียววัย 67 ปี ชาวบ้าน ใน ตำบลนาจารย์ อำเภอเมือง เป็นคนจนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากประชาคมหมู่บ้านให้ได้รับการช่วยเหลือ เพราะไม่มีทั้งอาชีพ เป็นบุคคลที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 300 บาท และได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาท เบี้ยผู้พิการอีกเดือนละ 800 บาท อีกทั้งไม่มีที่ดินและบ้านเป็นของตัวเอง อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านของนางมะลิวรรณ ประทุม หรือ”นางอ้วน”

เงื่อนไขของความยากจนที่มาพร้อมกับความชรา ความพิการ ความโดดเดี่ยว นางจ่อยจึงได้รับการช่วยเหลือจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ โดยขอบริจาคเงินสร้างที่อยู่อาศัย ชาวบ้านรวมเงินลงแรงสร้างบ้านรวมเป็นเงิน 39,716 บาท ได้รับความอนุเคราะห์จากเกษตรอำเภอ ปศุสัตว์ ฝ่ายปกครอง และชาวบ้าน จัดทำแปลงเกษตรปลูกกล้วย แปลงพืชผักสวนครัว ทำเล้าไก่ เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ 8 ตัว ทำให้มีรายได้เล็กๆ น้อยจากการขายไข่ไก่ให้กับคนในชุมชน

“นางจ่อยกับนางอ้วนไม่ใช่ญาติกันแต่เป็นเพื่อน นางอ้วนให้นางจ่อยมาสร้างบ้านในที่ดินของตัวเองมา 4 ปีแล้ว” ชาญชัย ศรศรีวิชัย นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ สะท้อนภาพให้เห็นมิติของการเกื้อกูลกันในสังคม ผลลัพธ์จากการทำประชาคมหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐ จนเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ นำไปสู่การแก้ไขดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันแก้ไข เช่นเดียวกับ ถนอม คำกลอง วัย 37 ปี ชายที่ขาพิการจากอุบัติเหตุ อาศัยอยู่ที่ตำบลลำคลอง อำเภอเมือง กาฬสินธุ์ ต้องเลี้ยงลูกชาย 2 คนในวัย 8 ขวบและ 9 ขวบ เคยคิดฆ่าตัวตายพร้อมลูกเพราะความจนและเสียใจที่ภรรยาหนีไปมีครอบครัวใหม่ มีอาชีพหาปลาตามฤดูกาล และรับจ้างทั่วไป มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,000-5,000 บาท มีปัญหาเรื่องประกอบอาชีพ เรือและเครื่องยนต์มีสภาพชำรุด ชาวบ้านในตำบลลำคลองจึงได้จัดผ้าป่าช่วยเหลือผู้ยากไร้ นำเงินส่วนหนึ่งซื้อเครื่องยนต์ และต่อเรือ ให้ใหม่

ชีวิตปัจจุบันของถนอมหาปลาได้บ่อยขึ้น มีรายได้จากการขายปลาเฉลี่ยวันละ 200-300 บาท และยังปลูกผักไว้กินเองหลังจากทางราชการหาเมล็ดพันธุ์มาให้ สภาพบ้านดีขึ้นด้วยการลงแรงของชาวบ้านช่วยกันปรับปรุงซ่อมแซม

กรณีของ “นางจ่อย” กับถนอม หลังได้รับการสนับสนุนเรื่องอาชีพและที่อยู่อาศัย อยู่ในกลุ่มคนจนชั้นดีที่มีความพยายาม ไม่ย่อท้อต่อแม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์เหมือนคนปกติ

กลไกการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดตั้งคณะทำงานด้านยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนขั้นพื้นฐาน (ศูนย์ปฏิบัติการฯ) และนำระบบไอทีเข้ามา จัดทำข้อมูล การแสดงผล และประเมินผล

สมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอสมเด็จ บอกเล่าว่า สำหรับพื้นที่ของอำเภอสมเด็จมีครอบครัวยากจน 85 ครอบครัว แต่ละครอบครัวมีปัญหาต่างกัน โครงการกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้นำโครงการไทยนิยมยั่งยืนเข้ามาเป็นหลักในการทำงาน โดยใช้วิธีปรับทุกข์ ผูกมิตร เพื่อรับทราบปัญหาและค้นหาความต้องการของประชาชน และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และได้รวบรวมปัญหาความยากจนไว้ 6 ด้านได้แก่ ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดอาชีพ เจ็บป่วย เข้าไม่ถึงสวัสดิการแห่งรัฐ หนี้สิน ไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีสมาชิกในครัวเรือนถูกดำเนินคดี แบ่งออกมาว่าเป็นกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือในแต่ละด้าน ขณะที่บางกลุ่มต้องสงเคราะห์เนื่องจากเจ็บป่วย สำหรับอำเภอสมเด็จต้อง ใช้งบประมาณประมาณ 1 ล้านบาทในการสร้างบ้าน ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือ ในเบื้องต้นจะไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐแต่จะใช้วิธีระดมทุนในหมู่บ้านและเอกชนนอกพื้นที่ หากการระดมทุนในชุมชนไม่เพียงพอ จึงจะตั้งเรื่องของบประมาณมายังอำเภอและจังหวัดเข้าไปช่วยเหลือ

ในพื้นที่ ตำบลมหาไชย ครอบครัวนายสนใจ การเรียบ อายุ 57 ปี อาชีพหาของป่า ไม่มีบ้านเพราะถูกยึดจากการขายฝาก ต้องไปอาศัยในกระต๊อบเชิงเขา ห่างจากหมู่บ้าน 3 กิโลเมตร ประกอบกับมีลูกสาว 2 คน ต้องเดินเท้าเข้ามายังหมู่บ้านเป็นประจำ ทำให้ทุกคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ประชาคมหมู่บ้านจึงได้สร้างบ้านให้ในพื้นที่หัวไร่ปลายนาของญาติ จากเงินบริจาคมูลค่า 50,000 บาท และเกษตรอำเภอได้ส่งเสริมให้มีอาชีพเพาะเห็ด และเลี้ยงไก่ ลูกสาว 2 คนได้เรียน กศน. ส่วนภรรยาได้รับการอบรมให้เป็น อสม.มีรายได้เดือนละ 700 บาท

นอกจากความยากจนดังกล่าวแล้วในพื้นที่อำเภอสมเด็จ กรณีของ นางตุ้มทอง กล้าหาญ อายุ 52 ปี เจ็บป่วยต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลทุกเดือน อาศัยอยู่กับหลาน 2 คน เช่าบ้านอยู่ ลูกสาวส่งเงินมาให้เป็นครั้งคราว กรณีนี้อำเภอได้นำเงินบริจาคมาซื้อที่ดินขนาด 1 งาน ราคา 50,000 บาท และสร้างบ้านให้โดยได้รับการอนุเคราะห์จากกาชาดจังหวัดระดมเงินมาปลูกบ้าน

“กรณีซื้อที่ดินให้ปลูกบ้านจะเป็นไปในนามนิติบุคคล นางตุ้มทองและลูกไม่สามารถนำไปขายหรือจำนองได้แต่จะได้สิทธิ์การอยู่อาศัยไปถึงลูกหลาน”นายอำเภอสมเด็จ บอกเล่า

“กว่า 6 เดือน ที่โครงกาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส โมเดล มีครอบครัวที่ต้องออกจากโครงการ 10 % ก่อนจะให้ออกต้องเรียกมาคุยปรับทัศนคติ ขณะที่มีหลายครอบครัวต้องการฝึกอาชีพเพิ่มเติม การแก้ปัญหาความยากจนถือเป็นมิติใหม่ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน เอาปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้ง ” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์บอกเล่าถึงความสำเร็จ ของโครงการกาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส โมเดล

ann7 ann2 ann3 ann4 ann5

ann6


You must be logged in to post a comment Login