วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ชูแนวคิด“เจ็บป่วย มีโรคคุมได้ แก้ไขได้ทัน”เป็นวาระแห่งชาติ

On July 20, 2018

ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ แจ้งวัฒนะ นางสุภัชชา  สุทธิพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (พม.)  เป็นประธานงานเวทีประชุมวิชาการ การขับเคลื่อนและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีโรคคุมได้แก้ไขได้ทัน” ตามโครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กระทรวงพม. กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ20 ภาคีเครือข่ายร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คนทั้งนี้ในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการให้คำแนะนำเทคนิคการควบคุมโรคและวิธีป้องกันแก้ไข พร้อมฐานสาธิตตัวอย่างการสอนทักษะ “ค่ายรู้รอด ปลอดภัย”

นางสุภัชชา  กล่าวว่า โครงการต่างๆ ของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน สอดคล้องกับภารกิจสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จากสถิติปี 2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 8 ล้านคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณกว่า 2 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยติดเตียง 1.5% คาดว่าอีก 13 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือจะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% ดังนั้น พม.มีความพร้อมขับเคลื่อนพัฒนา มาตรการ กลไก นวัตกรรม และบูรณาการ อีกทั้งสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน ร่วมมือกันเพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ดีมีสุข เข้าถึงสวัสดิการทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์  นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุของไทยจัดอยู่ในอันดับ3ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง แม้วัฒนธรรมจะอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ลูกหลานไม่มีเวลาดูแลสะท้อนจากสถิติผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาเฉลี่ยปีละ25ล้านราย ในจำนวนนี้มีทั้งเสียชีวิตและพิการดังนั้นสมาคมฯ และภาคีเครือข่าย จึงมุ่งขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ รวมทั้งการเสียชีวิต และความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีทักษะเอาตัวรอดหากป่วยฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทั้งนี้หากปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง และจุดเสี่ยงในบ้านก็จะช่วยลดผู้ป่วยฉุกเฉินได้เช่นกัน

“การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ต้องหันมาดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี เพื่ออนาคตจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุยืนอย่างมีคุณภาพที่สำคัญจะไม่เป็นภาระลูกหลานและประเทศชาติทั้งนี้ผลการดำเนินงานทั้งหมดทางสมาคมฯจะผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศต่อไป” ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าว

ขณะที่ นายสว่าง  จันทร์พราหมณ์ (อ.ส่วง) อดีตข้าราชการครู อายุ 98 ปี กล่าวถึงเคล็ดลับที่ทำให้สุขภาพดีมีอายุยืนว่า ตนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่และไม่เครียด ที่สำคัญเวลาว่างหรือวันหยุดจะเข้าไปทำงานในสวน เพราะเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง พออายุ 80 ปี เห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นผู้ป่วยติดเตียง ตนจึงต้องหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและเนื้อปลา ต่อมาไม่นานได้ย้ายมาอยู่กับบุตรสาว จึงเปลี่ยนวิธีออกกำลังกายด้วยการวิ่งที่สวนสาธารณะในตอนเช้าแทนการทำสวน และใช้เวลาช่วงบ่ายในการพักผ่อน ส่วนตอนเย็นจะออกไปเดินสลับวิ่งอีกครั้ง และเมื่อมีการแข่งขันวิ่งระยะสั้น100เมตร 200เมตร พุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก ขว้างจักร ก็จะลงแข่งด้วย เพราะรักในกีฬาชนิดดังกล่าวอย่างมาก

“ยิ่งออกกำลังกาย ร่างกายยิ่งแข็งแรง คนสูงอายุต้องหาอะไรทำ เพราะจะเหงาและไม่ชอบอยู่คนเดียว จะทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรม ผมเป็นคนที่อารมณ์ดีมีลูกหลานดูแลใกล้ชิด วันหยุดยาวก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนวันพิเศษจะมารวมตัวกันทำกับข้าวกินกันที่บ้านนี้คือสิ่งที่ทำให้มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี และไม่หวงหากจะนำเคล็ดลับของผมไปทำตาม เพราะจะส่งผลให้มีอายุยืนแน่นอน ทั้งนี้อยากฝากว่าหากใครมีผู้สูงอายุในบ้าน ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” นายสว่าง กล่าว

f2

f3


You must be logged in to post a comment Login