วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มีอีกหลายแผน

On July 24, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังจากกลุ่มสามมิตรเดินสายดึงอดีต ส.ส. แกนนำการเมืองกลุ่มต่างๆมาพักใหญ่ และได้คนมาร่วมงานจำนวนมาก ทำให้ต้องหาแนวทางใช้ประโยชน์จากจำนวนคนที่ได้มาร่วมงานและกติกาที่เขียนเอื้อไว้ให้มากที่สุด จึงทำให้เกิดกระแสข่าวการแตกสาขาเป็นพรรคการเมืองหลายพรรคเพื่อโกยแต้มเลือกตั้งจากระบบบัญชีรายชื่อ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายพรรค ช่วงโค้งสุดท้ายอาจมีเซอร์ไพรส์ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องไพรมารีโหวต

ช่วงที่การเมืองกลับมาเคลื่อนไหวคึกคัก คนที่ชอบการเมืองก็มีอะไรให้ได้ลุ้นได้ติดตามกันทุกวัน ส่วนคนที่เบื่อหรือไม่ชอบการเมืองก็อาจเซ็งๆปนรำคาญ แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรการเมืองก็เกี่ยวข้องกับเราทุกคน

การเคลื่อนไหวที่โดดเด่นที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมกำลังคนของกลุ่มสามมิตรที่แพร่ขยายกำลังดูดไปทั่วทุกพรรคการเมืองและทุกกลุ่มการเมือง

หลังออกกำลังดูดมาพักใหญ่มีกระแสข่าวออกมาหลายกระแส บ้างว่าดูดอดีต ส.ส. และแกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆมาร่วมงานได้แล้วไม่น้อยกว่า 200 คน บ้างก็ว่าไม่ต่ำกว่า 100 คน

จำนวนคนที่ดูดมาได้ดูเหมือนว่าไม่มีน้ำหนักเท่าคุณภาพ เพราะจากจำนวนที่เปิดเผยมาทำให้ถูกตั้งคำถามว่าเมื่อเอาใส่ตะแกรงร่อนคัดเกรดแล้วเหลือคนคุณภาพอยู่กี่คน

คำว่าคนคุณภาพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงศักยภาพหรือภาพลักษณ์ของคนที่ได้มาร่วมงาน แต่ในทางการเมืองหมายถึงการการันตีตำแหน่ง ส.ส. ว่าชนะเลือกตั้งได้แน่

จากคำถามเรื่องคุณภาพของคนที่ดึงมาร่วมงานจำนวนมากดูเหมือนเป็นจุดอ่อนสำคัญของกลุ่มสามมิตร ซึ่งแกนนำกลุ่มก็รับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่าแกนนำกลุ่มเตรียมแก้ปัญหานี้ด้วยการกระจายสาขาออกไป

การเลือกตั้งรูปแบบใหม่ที่จะใช้ระบบแบ่งสันปันส่วน ทุกคะแนนมีค่าถูกนำมานับรวมไม่เสียเปล่า ทำให้เกิดแนวคิดว่าอาจกระจายคนที่ได้จากการดูดออกไปอยู่ในหลายพรรคการเมือง เพื่อเป้าหมายส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

โดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่หลังเลือกตั้งแล้วเอาคะแนนที่กระจายออกไปมารวมกันเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด

นอกเหนือจากการเก็บแต้มเลือกตั้งให้ได้มากที่สุดแล้ว การกระจายคนไปอยู่หลายพรรคการเมืองยังช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของคนที่ไปดูดมาร่วมงานการเมืองด้วย

การเดินแนวทางนี้เท่ากับว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้ทั้งคะแนนที่เพิ่มขึ้นในระบบปาร์ตี้ลิสต์ และแก้ปัญหาขัดแย้งการวางตัวผู้สมัคร

นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น ขอให้จับตาดูเรื่องไพรมารีโหวตที่กำลังพิจารณาทางออกอยู่ 5 แนวทาง บางทีอาจมีเซอร์ไพรส์

ที่ทำขึงขังหนักแน่นก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ยกเลิกเด็ดขาดเพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นเช่นนั้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตให้จับตาว่า หากยังคงกระบวนการจัดทำไพรมารีโหวตไว้จะทำให้การตัดสินใจย้ายพรรคการเมืองของอดีต ส.ส. เป็นไปได้ยากขึ้น

“ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ ถ้าใครจะลงสมัคร ส.ส. ต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ ส่งผลให้การย้ายพรรคจะยากมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่แสดงเจตจำนงจะต้องเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวต จะต้องอยู่กับพรรคนั้นๆจนกว่ากระบวนการไพรมารีโหวตจะเสร็จสิ้น หากจะย้ายไปอีกพรรคหนึ่งก็ต่อเมื่อทำไพรมารีโหวตกับพรรคเก่าแล้วไม่พอใจ ซึ่งก็ต้องมั่นใจอีกว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคใหม่ได้ทัน แต่ถ้ายกเลิกไพรมารีโหวตการย้ายพรรคจะง่ายขึ้น ดังนั้น เราต้องจับตาว่าการยกเลิกไพรมารีโหวตจะทำให้การย้ายพรรคง่ายขึ้นหรือไม่”

ข้อสังเกตของนายอภิสิทธิ์ถือว่าน่าสนใจ แม้การยกเลิกไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้

จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่หยิบยกมาทำให้เห็นว่ามีความพยายามดิ้นหาช่องทางไปเรื่อยๆ เพื่อให้เจอหนทางที่ดีที่สุดก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login