วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ รับมือโลกร้อน

On July 24, 2018

ที่เทศบาลตำบลเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) ร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ขับเคลื่อนรณรงค์ “สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” (Eco Cobuild) ปฏิบัติการชุมชนภิวัฒน์รับมือภาวะโลกร้อน : ส่งขยะกลับบ้าน โดยมีนายอำเภอเกาะสีชัง ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวเปิดงานกิจกรรมรณรงค์ ร่วมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกิจกรรมรณรงค์ประมาณ 600 คน

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบนิเวศชุมชนจากฐานคิด “ต้องอนุรักษ์และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ให้เป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อดิน น้ำ ป่า สมบูรณ์จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างระบบอาหารปลอดภัย และช่วยป้องกันการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารจัดการขยะชุมชนให้เหมาะสมจะนำไปสู่การสร้างทางเลือกพลังงานหมุนเวียน และจะเป็นการป้องกันความเสื่อมโทรมและเสียหายให้แก่ระบบนิเวศชุมชน เป็นการปรับตัว (Adaptation) และการบรรเทา(Mitigation) ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) โดยชุมชนท้องถิ่น สำหรับกิจกรรม “สร้างภูมิ  คุ้มนิเวศ” ปฏิบัติการชุมชนภิวัฒน์รับมือภาวะโลกร้อน ประกอบด้วย กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่า การจัดการขยะชุมชน พลังงานหมุนเวียน อาหารปลอดภัย และภัยพิบัติ เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ความร่วมมือ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนระบบสุขภาพ และสร้างวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly) ของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นายสมพร  ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สสส. กล่าวว่า การจัดการขยะของเทศบาลตำบลเกาะสีชังถือเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการขับเคลื่อนดำเนินการอย่างแท้จริง ดังความที่สอดคล้องกับ “ปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ประจำปี 2561” ประการที่หนึ่ง “ร่วมกันทบทวนปฏิบัติการตนเองและสร้างรูปธรรมตามศาสตร์ของพระราชา” ว่าด้วย การปฏิรูประบบปฏิบัติการเพื่อการปกปักรักษาและการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศชุมชน ประการที่สอง “สานและเสริมพลังกับหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย” และประการที่สาม “ผลักดันให้ข้อเสนอและชุดความรู้จากการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยชุมชนท้องถิ่น”

นายสมพร  กล่าวต่อว่า มนุษย์ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่ สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพ (Supportive Environments for Health) ที่เกิดจากความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลก ดังเช่นความร่วมมือหรือปฏิบัติการการบริหารจัดการระบบนิเวศชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นผลให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนรณรงค์ วิเคราะห์ทุนทางสังคมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนรณรงค์ พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะ และขยายผลการจัดการขยะในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) โดยชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งหวังว่า ทั้ง 3 กิจกรรมปฏิบัติการขับเคลื่อนรณรงค์สร้างภูมิ คุ้มนิเวศจะเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังจากทุกภาคส่วนภายในชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมกันขับเคลื่อนเสริมสร้างขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะในพื้นที่ทะเลอันดามัน แม่น้ำ ลำธาร คลอง และพื้นที่อื่น ๆ ภายในชุมชนท้องถิ่นต่อไป

ด้านนายดำรงค์  เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง กล่าวว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลเกาะสีชัง มาจาก 3 ส่วน คือ 1 ขยะมูลฝอยบนบก 2 ขยะมูลฝอยทะเลในเขตเทศบาลตำบลเกาะสีชัง 3 ขยะมูลฝอยในทะเลที่อยู่นอกเขตเทศบาลเกาะสีชัง รวมมีปริมาณขยะที่ต้องบริหารจัดการประมาณ 20 ตันต่อวัน หรือ 600 ตันต่อเดือน จากการดำเนินการที่ผ่านมา เทศบาลเกาะสีชังสามารถที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยได้เป็นระบบมากขึ้น มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเกาะสีชัง ซึ่งชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะสีชัง จิตอาสาอำเภอเกาะสีชัง สภาเด็กเทศบาลตำบลเกาะสีชัง กลุ่มเยาวชนโรงเรียนเกาะสีชัง อสม.อำเภอเกาะสีชัง เป็นต้น โดยทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญของการมีส่วนร่วมของการจัดการขยะ

สำหรับการขับเคลื่อนรณรงค์ “สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” (Eco Cobuild) ปฏิบัติการชุมชนภิวัฒน์รับมือภาวะโลกร้อน : ส่งขยะกลับบ้าน ที่เป็นความร่วมมือกับทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นับได้ว่าเป็นกลไกการขับเคลื่อนในการปกป้องระบบนิเวศชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาโดยได้มีการวางแผนกิจกรรมรณรงค์ไว้ 3 กิจกรรมประกอบด้วย 1) การเก็บขยะพื้นที่ชายฝั่ง โดยผู้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ บริเวณพื้นที่ชายหาดถ้ำพัง 2)การจับขยะพื้นที่ทะเล โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน และภูมิปัญญาความเข้าใจเรื่องทิศทางลมบริเวณชายฝั่งของชาวประมงพื้นบ้าน,ชมรมเรือเล็กดำเนินการลาก ล้อม จับขยะบนผิวน้ำบริเวณเกาะสีชัง และ 3) การส่งขยะกลับขยะบ้าน โดยผู้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ ร่วมกันลำเลียงขยะไปยังศูนย์กำจัดขยะเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เพื่อคัดแยกและกำจัดให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

o4 o2 o3


You must be logged in to post a comment Login