- อย่าไปอินPosted 10 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ลูกศรสร้างแผนที่ / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม- 3 สิงหาคม 2561)
กลุ่มคนกำลังลงพื้นที่ในหลายเมือง แม้ว่าบางคนจะพกอุปกรณ์ที่ดูน่าขบขัน เช่น กล้องรังวัด สายวัด กล้องถ่ายภาพ กระดานไม้ และลูกศรยาว 2 ฟุต หากกลุ่มคนดังกล่าวขอเข้าไปในบ้านหรือสำนักงาน หรือใช้ลูกศรชี้ไปที่ผนังอาคาร กรุณาอย่าขัดขวาง เพราะพวกเขากำลังทำแผนที่
ความขัดแย้งนานปีระหว่างสกอตแลนด์และอังกฤษถึงจุดแตกหักในปี 1745 สงครามนองเลือดในครั้งนั้นทำให้กระทรวงกลาโหมอังกฤษมีความคิดที่จะทำแผนที่ที่มีความละเอียดมากพอที่จะบ่งบอกสภาพภูมิประเทศใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด เพื่อใช้ในการเคลื่อนทัพ การส่งเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์
เดิมทีนั้นกองทัพอังกฤษใช้แผนที่โบราณของจอห์น อะแดร์ ที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่ราวปี 1680 ซึ่งมีความผิดเพี้ยนมากมาย แม้ว่าแผนที่ดังกล่าวจะได้รับการปรับปรุงบ้าง แต่ก็ยังไม่ละเอียดเพียงพอที่จะใช้งานจริง
กรมสรรพาวุธสั่งการให้วิลเลี่ยม รอย หัวหน้ากอง รับผิดชอบงานทำแผนที่ โดยเขาเริ่มเก็บข้อมูลสภาพภูมิศาสตร์ในปี 1747 ต้องใช้เวลานานถึง 8 ปีจึงสร้างแผนที่ทหารสำเร็จ โดยใช้อัตราส่วน 1:36,000 แต่แผนที่ของวิลเลี่ยมมีลักษณะเป็นภาพร่างบอกตำแหน่งถนน เนินเขา แม่น้ำ ลักษณะพื้นดิน มากกว่าจะเป็นแผนที่แบบที่เราใช้ในปัจจุบัน
ช่างสำรวจ
วิลเลี่ยมเคยทำงานตำแหน่งสำรวจถนนให้กับกรมไปรษณีย์ในเมืองเอดินบะระก่อนจะมาทำงานเป็นช่างวาดที่กรมสรรพาวุธ ในเวลานั้นกรมสรรพาวุธขาดแคลนวิศวกร ทั้งกรมมีวิศวกรอยู่เพียงแค่ 4 คนเท่านั้น จากการที่วิลเลี่ยมมีประสบการณ์สำรวจถนนมาก่อนจึงถูกเลือกตัวให้รับผิดชอบงานทำแผนที่
วิลเลี่ยมจัดตั้งคณะสำรวจ 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเจ้าหน้าที่ 6 คน การทำแผนที่บริเวณไฮแลนด์สำเร็จในปี 1752 และบริเวณตอนใต้ของสกอตแลนด์สำเร็จในปี 1755 ความสำเร็จนี้ทำให้วิลเลี่ยมได้รับการเลื่อนขั้นยศในตำแหน่งวิศวกรฝึกหัด
ปี 1781 วิลเลี่ยมพัฒนาการรังวัดโดยอาศัยหลักการแบ่งพื้นที่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้กล้องวัดมุมที่มีความแม่นยำประดิษฐ์โดยเจสซี แรมส์เดน เริ่มต้นวัดระยะห่างระหว่างเมืองคิงส์อาร์บอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามบินฮีทโธรว์ กับพัวร์เฮ้าส์ที่เมืองแฮมตัน โดยกำหนดให้เป็นเส้นอ้างอิงเพื่อทำการรังวัดตำแหน่งอื่นๆในเวลาต่อมา
วิลเลี่ยมเสียชีวิตในปี 1790 แต่การพัฒนาอุปกรณ์รังวัดให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปี 1791 มีการกำหนดหลักการทำรังวัดโดยใช้จุดอ้างอิงในการวัดองศามุม ซึ่งจุดอ้างอิงคือก้อนหินขนาดใหญ่ทำการเจาะรูเพื่อให้แตกต่างจากก้อนหินอื่นๆ
เสาหลักแผ่นดิน
แผนที่ถูกตีพิมพ์วางจำหน่ายให้กับสาธารณชนครั้งแรกในปี 1801 แต่มีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของได้ เพราะมันมีราคา 3 ปอนด์ 3 ชิลลิง หรือเท่ากับรายได้เฉลี่ยของคนทั่วไป 3 สัปดาห์ในสมัยนั้น และเป็นแผนที่เพียงแค่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษเท่านั้น
กว่าจะทำแผนที่ครบทั่วเกาะอังกฤษก็ต้องใช้เวลาอีก 50 ปี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดเทคโนโลยีถ่ายภาพ ทำให้การทำแผนที่ง่ายกว่าเดิมมาก แต่แผนที่เกาะอังกฤษฉบับสมบูรณ์ไม่ได้ตีพิมพ์วางขายจนกระทั่งปี 1870
การใช้ก้อนหินเป็นจุดอ้างอิงดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไปหลายปีอาจมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนหาไม่พบ หรือมีใครมาเคลื่อนย้ายหรือทำลายก้อนหินเพราะไม่รู้ว่ามันมีความสำคัญ เช่น เคลื่อนย้ายก้อนหินออกไปเพื่อทำสิ่งปลูกสร้าง นักโบราณคดีเคลื่อนย้ายก้อนหินเพื่อสำรวจพื้นที่
ปี 1935 มาร์ติน โฮไทน์ คิดค้นจุดอ้างอิงแบบใหม่ที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานหลายสิบปี มีลักษณะเป็นแท่นปูนขนาดใหญ่เรียกว่า “เสาหลัก” หรือ “เสารังวัด” เสารังวัดจำนวน 6,500 ต้น ถูกติดตั้งบนเนินเขาตามชนบททั่วเกาะอังกฤษ
มาร์ตินออกแบบเสารังวัดเป็นเสาคอนกรีตสูง 4 ฟุต ยอดหน้าตัดเรียบ มีฐานสำหรับติดตั้งกล้องรังวัด เสารังวัดแต่ละต้นถูกติดตั้งในระยะสายตามองเห็นเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายสามเหลี่ยม หากรู้ระยะห่างระหว่างเสารังวัดคู่หนึ่งและมุมองศาที่ทำกับเสาต้นที่เหลือก็จะสามารถใช้ศาสตร์ตรีโกณมิติคำนวณหาระยะทางระหว่างเสาที่เหลือได้
ศรรังวัด
การทำแผนที่ในเขตเมืองต้องการความละเอียดสูง หากจะติดตั้งเสารังวัดก็คงกระจายกันเกะกะเกลื่อนเมือง ดังนั้น จึงมีการกำหนดจุดอ้างอิงสำหรับเขตเมืองเสียใหม่โดยใช้ “ตำหนิ” บนสิ่งปลูกสร้างถาวร ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น รอยแตกบนผนัง มุมตึก หรือแม้กระทั่งหัวตะปูเก่าๆบนเสาไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นล้วนยากต่อการสังเกตเห็น จึงต้องมีอุปกรณ์บอกตำแหน่งจุดที่ใช้เป็นจุดอ้างอิง โดยใช้เจ้าหน้าที่ถือลูกศรขนาดยาว 2 ฟุต ชี้ไปยังตำแหน่งที่ใช้เป็นจุดอ้างอิง พร้อมกับมีกระดานให้รายละเอียดพิกัด วันที่ทำการสำรวจ และหมายเลขแผ่นฟิล์มที่ใช้บันทึกภาพ
เจ้าหน้าที่รังวัดต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจุดอ้างอิงที่ใช้มีขนาดเล็กมาก การถือลูกศรจะต้องมั่นใจว่าชี้ไปที่จุดอ้างอิงอย่างถูกต้อง เพราะหากมีการปรับปรุงแผนที่ในอนาคตจะต้องใช้จุดอ้างอิงเหล่านี้ หากลูกศรชี้ไม่ตรงกับจุดอ้างอิงอาจต้องใช้เวลานานในการค้นหา
แผนที่เกาะอังกฤษสามารถซื้อหาได้หากมีเงินมากพอ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 การทำแผนที่ถูกนำมาใช้เฉพาะในกิจการทหารเท่านั้น โดยเน้นไปที่การทำแผนที่ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมัน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงจึงเริ่มกลับมาทำแผนที่สำหรับใช้ในกิจการทั่วไปอีกครั้ง เทคโนโลยีทางการบินทำให้การทำแผนที่สำเร็จลงอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง แผนที่เกาะอังกฤษฉบับสมบูรณ์สำเร็จในปี 1962
เสารังวัดจำนวนราว 6,000 ต้น ยังคงตั้งตะหง่านให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ภาพถ่ายจุดอ้างอิงกว่า 300,000 ภาพ หมดความจำเป็นต้องใช้อีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยี GPS แผนที่กระดาษแทบจะหมดความจำเป็น เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงกูเกิลแม็พได้ง่ายๆเพียงใช้นิ้วจิ้มบนหน้าจอโทรศัพท์
1.วิลเลี่ยม รอย
2.แผนที่ของวิลเลี่ยมในยุคแรก
3.เส้นอ้างอิงจากระหว่างเมืองคิงส์อาร์บอร์กับพัวร์เฮ้าส์ที่เมืองแฮมตัน
4.การรังวัดโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยม
5.มาร์ติน โฮไทน์
6.การก่อสร้างเสารังวัด
7.เจ้าหน้าที่ทำงานบนเสารังวัด
8.เจ้าหน้าที่ชี้จุดตำหนิบนมุมอาคาร
9.เจ้าหน้าที่ชี้จุดตำหนิบนกำแพง
10.เสารังวัดกลายเป็นที่เขียนภาพกราฟิตี้
You must be logged in to post a comment Login