วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ธปท.จะเห็นแก่ชาติหรือธนาคารพาณิชย์?

On August 1, 2018

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ “ธปท.จะเห็นแก่ชาติหรือธนาคารพาณิชย์?”
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข 3-10 สิงหาคม 2561)

 
เมื่อปี 2542 ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินราคาเองได้ถ้าทรัพย์ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท นัยว่าธนาคารแบกรับค่าจ้างประเมินไม่ไหวในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงการใช้ผู้ประเมิน in house มีต้นทุนแพงกว่าต่างหาก เหตุผลที่อ้างเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการ Outsourcing ให้บริษัทประเมินภายนอกทำอย่างไรก็ถูกกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบพนักงานอะไรมาก แต่น่าแปลกธนาคารแห่งประเทศไทยกลับยอมทำตามที่ธนาคารเสนอโดยดุษณีได้อย่างไร

s1

ล่าสุดในปี 2559 ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์การประเมินราคาหลักประกันของสถาบันการเงินตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกำหนดชัดเจนว่า

1.ทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท สามารถใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินภายในสถาบันการเงินได้เลย

2.กรณีที่จะเลือกใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินภายในสถาบันการเงิน ให้สถาบันการเงินพิจารณาจากผลการจัดระดับความเสี่ยงรวม และผลจากการจัดระดับความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงิน จากรายงานการตรวจสอบล่าสุดที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทย

2.1 กรณีสถาบันการเงินมีผลการจัดระดับความเสี่ยงรวมอยู่ในระดับ 1 หรือ 2 และมีผลการจัดระดับความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับต่ำ ค่อนข้างต่ำ ปานกลาง และได้รับความเห็นชอบระบบงานประเมินราคาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สถาบันการเงินสามารถกำหนดแนวทางการเลือกใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินราคาภายในธนาคารได้เอง โดยทำหนังสือขอความเห็นชอบมายังธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

2.2 กรณีสถาบันการเงินไม่เข้าข่ายตามข้อ 2.1 แต่มีผลการจัดระดับความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับต่ำ ค่อนข้างต่ำ ปานกลาง สถาบันการเงินสามารถทำการประเมินราคาโดยเลือกใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินราคาภายในธนาคารเองก็ได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้สถาบันการเงินต้องใช้ผู้ประเมินราคาภายนอก

2.2.1 สำหรับสถาบันที่มีกองทุนน้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ให้ใช้ผู้ประเมินราคาภายนอกสำหรับการประเมินมูลค่าหลักประกันของลูกหนี้ที่มีราคาตามบัญชีสูงกว่า 50 ล้านบาท

2.2.2 สำหรับสถาบันที่มีกองทุนตั้งแต่ 8,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้ผู้ประเมินราคาภายนอกสำหรับการประเมินมูลค่าหลักประกันของลูกหนี้ที่มีราคาตามบัญชีสูงกว่า 100 ล้านบาท

s3

สรุปถ้าทรัพย์สินที่ประเมินไม่เกิน 10 ล้านบาท สถาบันการเงินใช้ผู้ประเมินภายในหรือจะใช้ผู้ประเมินภายนอกได้ แต่ถ้าเกินจากนี้ต้องดูเงื่อนไขจากข้อที่ 2.1 และ 2.2

การกระทำอย่างนี้ธนาคารก็กินรวบ สิ่งที่เกิดขึ้นเท่ากับธนาคารประเมินกันเองได้ แล้วอย่างนี้ความเป็นกลางไปอยู่ที่ไหน ธนาคารต่างๆจึงพยายาม “ดูด” ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินต่างๆ เพื่อเตรียมตัวจะประเมินค่าทรัพย์สินเอง ประมาณว่าแต่ละธนาคารใหญ่ๆมีผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเองดังนี้

1.ธนาคารกรุงเทพ 80 คน

2.ธนาคารกรุงไทย 100 คน

3.ธนาคารทหารไทย 120 คน

4.ธนาคารไทยพาณิชย์ 200 คน (เมื่อก่อนใช้ “nominee” คือ บจก.สยามพิธิวัฒน์ เดี๋ยวนี้ประเมินเองแล้ว)

5.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 170 คน

6.ธนาคารยูโอบี 50 คน

7.ธนาคารกสิกรไทย 400 คน (เมื่อก่อนใช้ “nominee” คือ บจก.โพรเกรส เดี๋ยวนี้ประเมินเองแล้ว)

8.ธนาคารธนชาต 20 คน (ใช้หัวแปลนเอสเตท)

ถ้าต่อไปแทบทุกธนาคารทำเองแล้วบริษัทประเมินจะอยู่รอดได้อย่างไร ความเป็นธรรมจะมีไหมในการอำนวยสินเชื่อ ข้อครหาว่าเมื่อใดธนาคารจะปล่อยกู้ก็จะประเมินต่ำๆ เมื่อจะขายทรัพย์สินก็จะประเมินราคาไว้สูงลิ่ว และอาจจะเข้าอีหรอบเดิมคือ ถ้าปล่อยกู้ให้ญาติมิตรก็อาจประเมินราคาไว้สูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งเคยทำให้ธนาคารเจ๊งมาแล้ว เป็นต้น

s2

สมัยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารโลกได้มาศึกษาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และเสนอให้ไทยใช้บริการการประเมินค่าทรัพย์สินของภาคเอกชนที่เป็นอิสระ ไม่ใช่ให้ธนาคารประเมินกันเอง (https://bit.ly/2IfWXi6) ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารบางแห่งอำนวยสินเชื่อไปโดยที่ฝ่ายประเมินของธนาคารเองยังอยู่ระหว่างเดินทางเพื่อไปประเมินทรัพย์สินแปลงนั้นอยู่เลย นี่คือสาเหตุที่ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ 20 ปีให้หลังเรากลับกำลังจะก้าวไปสู่วิกฤตโดยสถาบันการเงินทั้งหลายจะประเมินค่าทรัพย์สินเอง อย่างนี้แบงก์ไทยจะเจ๊งอีกรอบหรือไม่ เป็นนิมิตหมายว่าต่อไปธนาคารต่างๆจะประสบปัญหาเพราะความไม่โปร่งใสอีกหรือไม่

นี่เท่ากับเป็นการทำลายวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินไม่ให้เป็นอิสระ และกลายเป็นเพียงเครื่องมือของสถาบันการเงิน ถ้ารัฐบาลจะควบคุมบริษัทประเมินให้เป็นอิสระสามารถทำได้โดยเริ่มต้นที่การประกันทางวิชาชีพ เช่น ในปัจจุบันบริษัทประเมินบางแห่งเริ่มประกันเป็นเงิน 100,000 บาทสำหรับการคุ้มครองถึง 30 ล้านบาท นอกจากนั้นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นบุคคลเองก็ต้องทำการประกันทางวิชาชีพ การนี้จะทำให้บริษัทต่างๆมีความระมัดระวังมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ใช้บริการทั้งประชาชนทั่วไปและสถาบันการเงินทั้งหลายก็จะมีความมั่นใจ วิชาชีพที่เป็นอิสระก็จะได้รับการพัฒนา

นี่ยังอาจสะท้อนว่า ธปท. และธนาคารพาณิชย์ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขาดธรรมาภิบาลหรือไม่ ธปท. ต้องลองทบทวนดูให้จงหนัก


You must be logged in to post a comment Login