- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
แต่งตัวไม่เสร็จ
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
ความเคลื่อนไหวเสนอแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางกลุ่มที่ถูกมองว่าทำเพื่อโละผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดแรกที่ กกต.ชุดใกล้หมดวาระเลือกทิ้งทวนเอาไว้ เนื่องจากมีคนไม่ปลื้มรายชื่อ แม้จะมีคำโต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง เพราะมีช่องทางอื่นที่ทำได้ง่ายและเร็วกว่าหากต้องการโละบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้งทั่วประเทศ ทั้งนี้ ไม่ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการเคลื่อนไหวนี้คือความไม่มั่นใจในแต้มต่อก่อนการเลือกตั้งของบางกลุ่มบางพวก
การประชุมคณะผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยภายใต้การกำกับดูแลของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำม็อบ กปปส. ที่หลายคนอาจประหลาดใจว่าทำไมหัวหน้าพรรคไม่ใช่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อย่างที่เป็นข่าวหนาหูมาตั้งแต่แรก แต่กลับกลายเป็น “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถมในรายชื่อกรรมการบริหารพรรค 7 คน ก็ไม่มีชื่ออดีต ส.ส. หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนที่เปิดตัวร่วมงานกับพรรคก่อนหน้านี้
หลายคนอาจวิเคราะห์กันไปต่างๆนานาว่าเกิดปัญหาอะไรภายในหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวออกมาว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรกนี้เป็นแค่มวยแทนที่มาขัดตาทัพเพื่อดำเนินการเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองให้สะเด็ดน้ำตามขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกทีมที่มีความแข็งกล้าทางการเมืองเข้ามาบริหารแทนเพื่อทำศึกเลือกตั้ง ส่วนจะจริงเท็จอย่างไรอีกไม่นานคงได้รู้กัน
เมื่อพูดถึง กกต. แล้วจะก้าวผ่านเรื่องนี้ไม่ได้ คืออยู่ๆก็มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคลื่อนไหวล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.
ต้นสายปลายเหตุที่มาของเรื่องนี้ว่ากันว่าเป็นเพราะไม่พอใจตัวบุคคลที่ กกต. ชุดที่กำลังจะพ้นหน้าที่ทิ้งทวนเลือกให้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยไม่รอให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างกระบวนการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
ถ้ายังจำกันได้ตอนที่ยกร่างกฎหมาย กกต.ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มีการยกเลิก กกต.จังหวัดแล้วให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแทน โดยอ้างว่า กกต.จังหวัดส่วนมากเป็นคนของฝ่ายการเมือง ทำให้ไม่เป็นกลาง
เมื่อมีผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นชุดแรก ยังไม่ทันได้ทำหน้าที่ก็หวั่นไหวเรื่องความไม่เป็นกลางอีกจนต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย ทำให้ถูกมองว่าเป้าใหญ่ของการเคลื่อนไหวนี้คือต้องการโละผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดใกล้จะหมดวาระเลือกทิ้งทวนเอาไว้ เนื่องจากมีผู้ใหญ่ไม่ปลื้มรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จึงต้องการอำนาจคัดเลือกให้กลับมาเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งจากคนในรัฐบาลว่าไม่เป็นความจริง เพราะหากคิดจะเปลี่ยนตัวผู้ตรวจการเลือกตั้งตามที่มีกระแสข่าว กกต.ชุดใหม่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้กระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100%
ที่สำคัญหากต้องการล้มกระบวนการคัดเลือกที่ กกต.ชุดปัจจุบันทำไว้ยังมีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องเสนอแก้ไขกฎหมาย กกต. ที่ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน
ทั้งนี้เพราะการเสนอแก้ไขกฎหมายมีขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี 2 ขั้นตอนที่ต้องทำตามกฎหมายเลี่ยงไม่ได้คือ 1.เปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และ 2.การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว
การใช้แนวทางแก้กฎหมายเพื่อโละผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดแรกที่ กกต.ชุดปัจจุบันดำเนินการไปแล้วโดยไม่รอให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่จึงไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ดีนัก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย กกต. จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือความไม่มั่นใจในแต้มต่อก่อนการเลือกตั้งของบางกลุ่มบางพวก
You must be logged in to post a comment Login