วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ค่าธรรมเนียมชีวิต

On August 8, 2018

คอลัมน์ สันติธรรม “ค่าธรรมเนียมชีวิต”
โดย บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 10-17 สิงหาคม 2561)
ด้วยสถานการณ์จราจรที่ติดขัดอย่างในกรุงเทพฯหรือด้วยความรีบเร่งต้องการไปถึงจุดหมายปลายทางให้ทันเวลา เรายอมจ่ายค่าทางด่วนเพื่อซื้อเวลา เพราะถ้าไปถึงที่หมายสายเกินที่นัดไว้เราอาจเสียประโยชน์มากมาย

เมื่อเราเข้าห้องไอ.ซี.ยู. เราต้องจ่ายค่าออกซิเจนให้โรงพยาบาลเพื่อรักษาชีวิตเราไว้ แต่เราใช้ออกซิเจนมาตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่จนทุกวันนี้ไม่เคยมีใครส่งบิลมาเรียกเก็บเงินค่าออกซิเจนจากเรา

ถ้าไม่ได้อากาศหายใจเมื่อใดหมายถึงเราหมดเวลาบนโลกใบนี้ ชีวิตกับเวลาของเราจึงเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น ถ้ายังมีเวลาหายใจ ชีวิตจึงต้องมีค่าใช้จ่าย

zakat

บนพื้นฐานนี้เองศาสนาจึงกำหนดค่าธรรมเนียมการมีชีวิตบนโลกใบนี้ แต่มนุษย์ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมชีวิตได้ถ้าไม่มีรายได้ ดังนั้น พระเจ้าผู้สร้างชีวิตจึงประทานปัจจัยให้มนุษย์ในรูปของความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติทั้งในน้ำ บนบก และในอากาศ เพื่อให้มนุษย์นำไปใช้หารายได้ดำรงชีวิตและสร้างความมั่งคั่งก่อน หากมีเหลือจึงค่อยมาจ่าย

แต่เนื่องจากพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีความแตกต่างกันเพื่อให้มนุษย์เป็นองคาพยพเดียวกัน เหมือนเครื่องจักรที่มีฟันเฟืองต่างขน

าดกัน หากฟันเฟืองไม่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เครื่องจักรก็ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้น ศาสนาจึงสร้างการเชื่อมต่อฟันเฟืองมนุษย์ที่มีขนาดต่างกันด้วยการบริจาคทานและจ่ายค่าธรรมเนียมชีวิต

ในอิสลามค่าธรรมเนียมชีวิตอยู่ในรูปของซะกาตที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆที่มุสลิมครอบครองอยู่ครบมูลค่าที่กำหนดไว้เมื่อครบรอบปีจันทรคติ 354 วัน เช่น ทรัพย์สินประเภทเงินสด ทองคำ หรือสินค้า ต้องจ่ายซะกาต 2.5% และจ่ายทุกปีถ้าทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ครบเงื่อนไข
ถ้าถามว่าทำไมต้องจ่าย คำตอบก็คือ ถ้าเรามีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม แต่ไม่มีเวลาบนโลกใบนี้ เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ซะกาตจึงเป็นค่าธรรมเนียมชีวิต

สำหรับเกษตรกรที่เพาะปลูกพืช ซะกาตคิดจากผลผลิตที่ได้จากที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ถ้าที่ดินติดแม่น้ำลำคลองและใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาตินี้ทำการเกษตร ซะกาตจะคิดจากผลผลิต 10% ในวันเก็บเกี่ยวถ้าผลผลิตที่ได้ถึงจำนวน 655 กิโลกรัม แต่ถ้าหากต้องลงทุนใช้เครื่องมือชลประทาน เจ้าของผลผลิตจ่าย 5%

พูดง่ายๆคือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อใดให้แบ่งจ่ายแก่คนยากจนหรือคนที่มีสิทธิ์ได้รับตามที่บทบัญญัติในเรื่องนี้กำหนดไว้ก่อน
สำหรับคนที่ทำอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ บทบัญญัติของอิสลามได้กำหนดว่าถ้าเกษตรกรมีแพะหรือแกะเมื่อครบรอบปีจันทรคติจำนวน 40-120 ตัว ต้องจ่ายแพะหรือแกะตัวเมีย 1 ตัวเป็นซะกาต ถ้ามี 121-200 ตัว ต้องจ่าย 2 ตัวเป็นซะกาต

ถ้าเลี้ยงวัวหรือควายจำนวน 30-39 ตัว ต้องจ่ายวัวเพศเมียอายุ 1 ปี 1 ตัว และถ้ามีจำนวน 40-59 ตัว ต้องจ่ายวัวเพศเมียอายุ 2 ปี 1 ตัวเป็นซะกาต
นอกจากเวลาและชีวิตที่จำเป็นสำหรับการสร้างรายได้และความมั่งคั่งแล้ว ดิน น้ำ แสงแดด อุณหภูมิที่เหมาะสม ล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ก็ไม่อาจเป็นไปได้ การจ่ายค่าธรรมเนียมชีวิตในรูปของซะกาตเพียงน้อยนิดจากความมั่งคั่งที่เหลือจากการใช้จ่ายในรอบปีจึงไม่ได้เป็นภาระแต่ประการใด

ความจริงแล้วซะกาตก็คือค่าธรรมเนียมที่มุสลิมจ่ายให้พระเจ้า แต่พระเจ้ามีอย่างเหลือเฟือ พระองค์จึงสั่งว่าถ้าจะเอาทรัพย์สินมาถวายพระองค์ให้เอาไปให้คนยากจน เพราะคนยากจนคือแท่นที่ถวายสิ่งพลีสำหรับพระองค์

นี่คือความเกื้อกูล ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสวยงามที่ศาสนาจัดให้มนุษย์เพื่อทำให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันแบบวิน-วิน


You must be logged in to post a comment Login