- อย่าไปอินPosted 11 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เสียงเรียกจากดาวอังคาร / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 10-17 สิงหาคม 2561)
การที่ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือรับฟังข่าวสารที่ส่งตรงมาจากดาวอังคาร
ช่วงเวลาที่โลกและดาวอังคารโคจรอยู่คนละด้านของดวงอาทิตย์จะมีระยะห่างกันถึง 250 ล้านไมล์ แต่ในปีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวอังคารโคจรมาอยู่ใกล้กับโลกแค่เพียง 36 ล้านไมล์เท่านั้น นับว่าเป็นการโคจรมาใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 15 ปี ทำให้เราสามารถมองเห็นดาวอังคารได้ด้วยตาเปล่า
ดาวอังคารเคยโคจรมาใกล้โลกมากที่สุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2003 คราวนั้นดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกเพียงแค่ 35 ล้านไมล์ นับได้ว่าเป็นการโคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 60,000 ปี ส่วนการโคจรใกล้โลกในระยะ 36 ล้านไมล์แบบครั้งที่เพิ่งผ่านมาเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งคือ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1766, วันที่ 18 สิงหาคม 1845 และวันที่ 23 สิงหาคม 1924
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 94 ปีก่อน สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะดักจับสัญญาณคลื่นวิทยุที่ส่งมาโดยสิ่งมีชีวิตจากดาวอังคาร
เตรียมรับสัญญาณ
เดือนสิงหาคม 1924 เคอร์ติส วิลเบอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ สั่งการให้ฐานทัพเรือทุกแห่งทั่วอเมริกาคอยฟังสัญญาณคลื่นวิทยุที่อาจเป็นข้อความหรือเสียงอะไรก็ได้ที่ผิดไปจากปรกติ โดยมีใจความโทรเลขเต็มๆว่า
“กองทัพเรือมีความปรารถนาให้นักดาราศาสตร์ที่เชื่อว่ามนุษย์ดาวอังคารพยายามสื่อสารกับชาวโลกด้วยคลื่นวิทยุขณะที่ดาว 2 ดวงโคจรมาใกล้กัน สถานีวิทยุโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งให้จดบันทึกและรายงานหากได้รับคลื่นวิทยุที่มีความผิดปรกติ ขอให้นายสถานีสั่งการให้มีเจ้าหน้าที่ประจำ และเปิดช่องสัญญาณรับคลื่นวิทยุให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ในระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม”
ดาวอังคารโคจรใกล้โลกในปี 1924 ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวอเมริกันเท่านั้น สมาคมดาราศาสตร์ในประเทศอังกฤษก็มีการติดตั้งเครื่องรับคลื่นวิทยุพร้อมรับข้อความที่จะส่งมาจากดาวอังคารเช่นเดียวกัน
ความคิดว่ามนุษย์ดาวอังคารพยายามติดต่อกับชาวโลกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1924 แต่เมื่อสมัยปี 1894 เซอร์วิลเลี่ยม เฮนรี พรีซ วิศวกรสำนักงานไปรษณีย์อังกฤษ มีความเชื่อว่าดาวอังคารเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดปราดเปรื่องเหมือนมนุษย์โลก มีความเป็นไปได้ที่มนุษย์ดาวอังคารจะติดต่อสื่อสารกับชาวโลกในรูปแบบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือพูดง่ายๆคือการโทรศัพท์คุยกัน
ปี 1895 เปอร์ซิวัล โลเวลล์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้หลงใหลเรื่องสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ได้สร้างหอดูดาวส่วนตัวที่เมืองแฟล็กสตาฟฟ์ รัฐแอริโซนา เขามองเห็นลวดลายจำนวนมากบนผิวดาวอังคาร และเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมองเห็นเส้นสายจำนวนมาก เขาเชื่อว่าเส้นสายที่เห็นคือแม่น้ำลำคลอง
สัญญาณลึกลับ
ปี 1899 นิโคลา เทสลา นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ทำการทดลองเครื่องรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความไวสูงที่สามารถรับประจุไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกลในรัศมี 1,100 ไมล์ โดยมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาเป็นเครื่องพยากรณ์การเกิดพายุฟ้าคะนอง
ขณะทำการทดลองนิโคลาสังเกตเห็นคลื่นรบกวน เขาอธิบายไม่ได้ว่าคลื่นรบกวนนั้นมาจากที่ไหน แต่ที่แน่ๆไม่ได้มาจากบนโลก นิโคลาเชื่อว่าคลื่นรบกวนนี้มาจากนอกโลก และดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดคือดาวอังคาร
นิโคลาเฝ้าสังเกตพฤติกรรมคลื่นรบกวน เขาพบว่ามีรูปแบบที่แน่นอน เป็นจังหวะ 1, 2, 3, และ 4 นิโคลาเชี่ยวชาญเรื่องกระแสไฟฟ้า เขารู้ว่าสิ่งที่พบในห้องทดลองแตกต่างจากคลื่นรบกวนในกระแสไฟฟ้าทั่วๆไป นิโคลาถึงกับกล่าวว่า ต้องเป็นความพยายามจะสื่อสารมาจากดาวดวงอื่น
อย่างไรก็ตาม ในปี 1990 เจมส์และเคนเนท คอรัม วิศวกรไฟฟ้าจากสถาบันเทสลานิวยอร์ก ตั้งสมมุติฐานว่าสัญญาณลึกลับที่นิโคลาได้รับเมื่อปี 1899 คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากดาวพฤหัสบดี ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 390 ล้านไมล์ เจมส์และเคนเนททำการทดลองสมมุติฐานก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นคลื่นรบกวนที่มีจังหวะ 1, 2, 3 และ 4 แบบเดียวที่นิโคลาจดบันทึก
สัญญาณมอร์ส
ทศวรรษ 1900 กูลเยลโม มาร์โกนี วิศวกรไฟฟ้าชาวอิตาเลียน ทำการทดลองเครื่องส่งโทรเลขแบบไร้สาย เขาพบปัญหาแบบเดียวกับที่นิโคลาเคยเจอมาก่อน เป็นคลื่นรบกวนที่มีรูปแบบที่แน่นอน แต่คราวนี้เป็นจังหวะเหมือนการส่งรหัสมอร์สอักษร “S” คือ จุด-จุด-จุด และเขาก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับนิโคลาว่าสัญญาณรบกวนที่ได้รับไม่ได้มาจากบนโลกมนุษย์ แต่มาจากดวงดาวที่อยู่ไกลโพ้น
ขณะที่คนส่วนมากชื่นชอบนวัตกรรมใหม่ของกูลเยลโม มันจะทำให้โทรศัพท์ตามบ้านและโทรเลขกลายเป็นของล้าสมัยไปทันที แต่ก็มีหลายคนค่อนแคะว่าเขาไม่ได้คิดจะสร้างเครื่องมือสื่อสารไร้สายให้กับมนุษย์ หากแต่กำลังสร้างเครื่องมือสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว
ผู้สื่อข่าวพยายามกดดันให้กูลเยลโมสารภาพความจริง จนกูลเยลโมระงับอารมณ์ไม่อยู่ตอบประชดไปว่ากำลังสร้างเครื่องมองทะลุกำแพง นักข่าวก็เอาไปตีพิมพ์ตามนั้น ส่งผลให้มีคนเขียนจดหมายมาต่อว่ากูลเยลโมหนักขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
กูลเยลโมปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมกับบอกว่าอย่ามาเซ้าซี้ เขาไม่ต้องการจะสื่อสารกับมนุษย์ดาวอังคาร แต่ก็ไม่วายหยอดทิ้งท้ายว่า หากจะสื่อสารกับมนุษย์ดาวอังคารจริงเขาก็คงใช้รูปแบบของสัญญาณมอร์สนั่นแหละ คือใช้จุดกับขีด
เสียงแห่งความเงียบสงัด
มหาวิทยาลัยเดรก รัฐไอโอวา เปิดหอดูดาวให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมดาวอังคารโคจรใกล้โลกในปี 1924 มีผู้สนใจมาต่อแถวเข้าคิวชมมากกว่า 300 คน ทุกคนคาดหวังว่าจะได้เห็นลำคลองบนดาวอังคารตามที่เปอร์ซิวัลเคยบรรยายเอาไว้
พวกเขาต่างต้องผิดหวังกลับไป เพราะสิ่งที่เห็นจากกล้องโทรทรรศน์มีแค่เพียงรอยเปื้อนสีแดงของผิวดาวอังคารเท่านั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยออกมาตัดพ้อว่าประชาชนคาดหวังมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เขามีความเชื่อมั่นว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคาร
การสังเกตการณ์คลื่นไฟฟ้าจากดาวอังคารดำเนินอยู่หลายวัน ทั้งสถานีวิทยุในอเมริกาและหอดูดาวที่อังกฤษไม่พบว่าคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปรกติส่งออกมาแต่อย่างใด สิ่งที่พวกเขานั่งฟังอยู่หลายวันมีแต่เพียงความเงียบสงัด
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะผิดหวังกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่พวกเขาก็ยังไม่ละความพยายามที่จะสื่อสารกับผู้ที่อาศัยอยู่ในดวงดาวอันไกลโพ้น ปี 1960 องค์การนาซ่าได้จัดตั้งโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นโครงการ Search for Extraterrestrial Intelligence (SETI) ด้วยความหวังว่าวันใดวันหนึ่งอาจได้รับข้อความข่าวสารจากมนุษย์ต่างดาว
1.เคอร์ติส วิลเบอร์ (ขวาสุด)
2.โทรเลขถึงสถานีวิทยุในอเมริกา
3.วิลเลี่ยม เฮนรี พรีซ
4.เปอร์ซิวัล โลเวลล์
5.กูลเยลโมกับเครื่องรับวิทยุ
6.กูลเยลโม มาร์โกนี
7.นิโคลา เทสลา
8.ลวดลายดาวอังคารเขียนโดยเปอร์ซิวัล
9.หอดูดาวอาเรซีโบ หนึ่งในโครงการ SETI
You must be logged in to post a comment Login