- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สภาวะลิงแก้แห
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การเมืองกำลังอยู่ในสภาวะลิงแก้แห เนื่องมาจากความไม่พอใจ ไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว และต้องการแก้ไข สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ การยื่นแก้ไขกฎหมาย กกต. เพื่อเปลี่ยนวิธีคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยไม่สนผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งอาจมากกว่าการล้มกระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดใกล้หมดวาระกำลังดำเนินการอยู่ เพราะอาจกระทบยาวไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส. การคัดเลือก ส.ว. และอาจไปไกลถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งกรณีสภาไม่สามารถโหวตเลือกคนจากบัญชีพรรคการเมืองได้ ต้องรอดูกันต่อไปว่าผู้มีอำนาจจะแก้สภาวะลิงแก้แหนี้ได้อย่างไร
ผลกระทบต่อการเข้าชื่อกันของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน เพื่อยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นเกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังมากขึ้นเรื่อยๆ
หลักใหญ่ใจความของเสียงวิจารณ์คือ แสดงความกังวลว่าการแก้ไขครั้งนี้จะส่งผลกระทบไปถึงการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่กำหนดไว้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
เนื่องจากผู้ตรวจการเลือกตั้งมีหน้าที่เชื่อมโยงกับการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งการแก้ไขกฎหมาย กกต. ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานเพราะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องเยอะ
ส่วนที่ว่าจะไปกระทบโรดแม็พเลือกตั้ง ส.ส. ก็เพราะมีกฎหมายกำหนดให้ต้องคัดเลือก ส.ว. ให้เสร็จก่อน 15 วัน จึงจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ได้
อย่างไรก็ดี ยังมีกฎหมายที่แย้งกันอยู่คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบทุกฉบับ ซึ่งในที่นี้ก็คือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่อยู่ระหว่างรอการบังคับใช้
แม้ในหลักการทุกคนจะเห็นตรงกันว่าไม่มีกฎหมายใดใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันก็ต้องทำตาม แม้การคัดเลือก ส.ว. จะยังไม่เสร็จ
แต่ก็มีปมผูกโยงต่อไปอีกว่า ส.ว. ชุดใหม่นี้จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาด้วย หากสภาผู้แทนฯไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองเสนอพรรคละ 3 คนได้
ถ้าไม่มี ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯก็จะเกิดเป็นเดดล็อกทางการเมือง ไม่มีนายกฯบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง ต้องรอจนกว่าจะมี ส.ว. ให้ครบตามจำนวน 250 คนเพื่อมาร่วมโหวตเลือกนายกฯ นี่คือประเด็นสำคัญที่กฎหมายเขียนว่าต้องคัดเลือก ส.ว. ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน
แต่ปัญหาก็ยังมีตามมาอีกว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือก ส.ว. ชุดแรก แม้หลังเลือกตั้ง คสช. จะยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
คำถามคือหากต้องไปคัดเลือก ส.ว. กันหลังเลือกตั้ง ส.ส. จะมีความเหมาะสมหรือไม่ จะมีการคัดค้านหรือไม่
นี่คือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการยื่นแก้ไขกฎหมาย กกต. ของ สนช. ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีมือกฎหมายในรัฐบาลพูดอย่างชัดเจนว่า เขา (หมายถึง สนช.) คงมีวิธีเขียนกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างที่กังวลกัน
ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่มือกฎหมายรัฐบาลไม่ได้พูดถึงคือ อำนาจพิเศษมาตรา 44 ที่สามารถใช้แก้ปัญหาวุ่นวายให้พ้นจากสภาพลิงแก้แหได้
เมื่อดูตามทิศทางการเคลื่อนไหวของ สนช. และคนในรัฐบาลแล้ว ค่อนข้างเชื่อได้ว่าการแก้ไขกฎหมาย กกต. เพื่อดึงอำนาจการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งออกจากมือ กกต. เพื่อให้มีคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่คัดเลือกแทนน่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่
You must be logged in to post a comment Login