- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เดือนหน้าชัดเจน
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
ความคลุมเครือทางการเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีความกระจ่างทุกเรื่องในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เนื่องจาก “บิ๊กตู่” จะประกาศอนาคตทางการเมืองของตัวเองว่าจะเลือกเดินเส้นทางใด จะหยุดแค่นี้หรือจะไปต่อในแนวทางใด เมื่ออนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” ถูกประกาศออกมาย่อมส่งผลให้ความคลุมเครือในเรื่องอื่นๆมีความชัดเจนเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะโรดแม็พเลือกตั้งที่กำลังกลับมากังวลกันอีกครั้งว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน อันเป็นผลกระทบมาจากการยื่นแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แกะรอยเส้นทางการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านทางเว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นกว่าหนึ่งแสนคนแล้ว โดยเสียงส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข
หลังเสร็จสิ้นการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากกลุ่ม สนช. ที่เสนอแก้ไขไม่ถอนร่างแก้ไขออก กว่ากระบวนการแก้ไขจะเสร็จครบทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี
ส่วนจะกระทบโรดแม็พเลือกตั้งที่กำหนดไว้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าหรือไม่นั้น ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายคนจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่กระทบโรดแม็พเลือกตั้ง
เป็นคำยืนยันทั้งที่การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง
คำถามคือระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายจะให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดใกล้พ้นตำแหน่งเลือกไว้ทำหน้าที่ไปพลางก่อนหรือไม่ หากไม่ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดใกล้หมดวาระเลือกไว้ทำหน้าที่จะจัดเลือกตั้งโดยไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้งได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ไม่มีปัญหา ถ้าไม่ได้จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ตามโรดแม็พ ยังไม่รวมถึงการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำให้เสร็จก่อนจัดเลือกตั้ง 15 วัน
ความต้องการแก้ไข พ.ร.ป.กกต. ในฟากฝั่งของ สนช. ดูเหมือนว่ามีความชัดเจนว่าต้องการแก้ไขและพยายามหาเหตุผลมาอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการแก้ไขครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น เสียงคัดค้านจำนวนมากจากประชาชนที่เข้ามาแสดงความเห็นในเว็บไซต์ของ สนช. เป็นเสียงจัดตั้ง ซึ่งตรวจสอบแล้วเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ไม่ใช่การแสดงความเห็นตามปรกติ หรือกำลังตรวจสอบผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งรอบแรกกว่า 600 คน เพื่อดูว่ามีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองจนก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ทั้งที่การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองไม่ใช่หน้าที่ สนช. โดยอ้างว่าการช่วยตรวจสอบเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย
ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปรับท่าทีจากที่เคยยืนยันขันแข็งว่าโรดแม็พเลือกตั้งยังเป็นไปตามกำหนดเดิมไม่มีอะไรมากระทบ เป็นการสงวนท่าทีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นตามโรดแม็พหรือไม่ ประชาชนจะได้รู้พร้อมกันกับการตัดสินใจเลือกทางเดินบนถนนการเมืองของ “บิ๊กตู่” ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ลืมคำพูดที่เคยประกาศไว้ว่าจะประกาศความชัดเจนถึงอนาคตทางการเมืองว่าจะพอแค่นี้หรือจะไปต่อแบบไหน เข้าสังกัดพรรคการเมืองใดหรือไม่ ในช่วงเดือนกันยายนนี้
ถ้า “บิ๊กตู่” เปิดหน้าเล่นการเมืองเต็มตัวโดยเข้าสังกัดพรรค ไม่ว่าการแก้ไข พ.ร.ป.กกต. จะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ว่าจะติดขัดการตีความกฎหมายอย่างไร การเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นได้ตามโรดแม็พ เพราะมีมาตรา 44 ใช้ทะลุทะลวงอุปสรรคที่คลุมเครืออยู่ได้
You must be logged in to post a comment Login