- อย่าไปอินPosted 9 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างแบรนด์
คอลัมน์ โลกอสังหาฯ “กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างแบรนด์”
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 17-24 สิงหาคม 2561
ในปัจจุบันพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 (กฎหมายเอสโครว์ : Escrow Account) เป็นกฎหมายที่ไม่ได้บังคับใช้ แต่ให้ใช้ตามสมัครใจ จึงไม่มีผู้ใดปฏิบัติตาม เมื่อไม่มีการใช้กฎหมายนี้ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้รายใหญ่เอาเปรียบรายเล็กด้วยยี่ห้อหรือชื่อเสียง (จอมปลอม) แต่ไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านใด เมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ใช้กฎหมายนี้ รายเล็กก็ไม่ใช้ เพราะการใช้ต้องมีภาระทางการเงินในระดับหนึ่ง แต่ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายนี้ แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้
ผู้ที่ผลักดันกฎหมาย “กำมะลอ” อย่างนี้ออกมาคงเป็นนักกฎหมายประเภท “ศรีธนญชัย” ที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่เห็นแก่ความเท่าเทียมกันในหมู่ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สมควรได้รับการตำหนิเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ทำคุณต่อประเทศชาติเลย การบังคับใช้กฎหมายนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้วงการพัฒนาที่ดินมีหลักประกัน เป็นการสร้างยี่ห้อที่ดีให้กับผู้ประกอบการเอง ผมมีความเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสร้างความมั่นคงให้กับระบบตลาดที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลควรมีนโยบายให้บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายและผู้บริโภคปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ที่กำหนดการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคโดยพร้อมเพรียงกัน
จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่า ณ กลางปี 2559 มีบ้านที่ยังรอผู้ซื้ออยู่ประมาณ 174,750 หน่วย โดยในจำนวนนี้มีหน่วยที่แล้วเสร็จ 100% เพียง 14% ดังนั้น จึงมีความเปราะบางในระบบซื้อขายที่อยู่อาศัยพอสมควร หากเกิดปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอาจส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงินเช่นในอดีตและในปัจจุบัน โดยที่พระราชบัญญัตินี้เป็นแบบสมัครใจจึงแทบไม่มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีนโยบายขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้แทนที่จะเป็นแบบสมัครใจเช่นในปัจจุบัน ผลดีที่จะตามมาก็คือ ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการคุ้มครองของตลาดอสังหาริมทรัพย์และมาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทางหนึ่ง ที่ผ่านมาเห็นมีการพยายามแก้กฎหมายนี้อยู่นาน แต่ก็อืดเป็นเรือเกลือ ไม่ได้นึกถึงประโยชน์ของประชาชนและผู้ประกอบการที่จะให้ได้รับการยอมรับจากตลาดเท่าที่ควร
ถ้าตราบใดที่บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายยังไม่มีมาตรการคุ้มครองเงินดาวน์แก่ผู้ซื้อบ้าน เผื่อว่าธุรกิจประสบปัญหา ผู้ซื้อยังได้เงินดาวน์คืน หรือยังไม่มีการใช้สัญญาที่เป็นธรรมกับผู้ซื้ออย่างแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะสร้างภาพอย่างไรก็ยังไม่ได้สร้างความยอมรับหรือ “ยี่ห้อ” เท่าที่ควร ต้องมีการลงทุนสร้างให้ดีอย่างแท้จริงจึงจะเกิดยี่ห้อที่มั่นคง ไม่ใช่การแต่งหน้าทาแป้งแต่พองามเท่านั้น
การมีเอสโครว์จะเป็นการสร้างยี่ห้อให้กับบริษัทพัฒนาที่ดินเอง และบริษัทพัฒนาที่ดินก็ควรเร่งสร้างยี่ห้อ เพราะ
1.เป็นการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ผู้ซื้อรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้ซื้อสินค้าอสังหาริมทรัพย์ของวิสาหกิจที่มี “ยี่ห้อ” น่าเชื่อถือ
2.ทำให้สามารถขายได้ดีขึ้น ยี่ห้อบางแห่ง อย่าง “เอ็นซีฯ” “พฤกษาฯ” “บ้านกานดา” ลูกค้าจำนวนมากมาจากการ “บอกต่อ” ซึ่งแสดงว่ายี่ห้อดี คนให้ความเชื่อถือ ทำให้ขายคล่องขึ้นกว่าปรกติ
3.ทำให้สามารถต่อรองกับคู่ค้า (supplier) โดยเฉพาะพวกวัสดุก่อสร้างต่างๆได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาที่ดินที่มี “ยี่ห้อ” ประหยัดต้นทุนลงได้
การมียี่ห้อที่ดีก็คือการมีความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility หรือ CSR) ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า (supplier) และชุมชนโดยรอบหรือสังคมโดยรวม การแสดงความรับผิดชอบเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่และพันธกิจที่ต้องดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้เสีย การหลีกเลี่ยงอาจถือเป็นสิ่งผิดหรือหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย
ผู้ประกอบการและรัฐบาลควรเร่งบังคับให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินทุกรายปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 การบังคับใช้กฎหมายนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้วงการพัฒนาที่ดินมีหลักประกัน เป็นการสร้างยี่ห้อที่ดีให้กับผู้ประกอบการเอง
You must be logged in to post a comment Login