วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไทย-เมียนมาร์ ประชุมทบทวนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ’ต่อต้านการค้ามนุษย์’ ครั้งที่ 2

On August 17, 2018

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดประชุมทวิภาคีไทย – เมียนมาร์ เพื่อทบทวนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่าด้วยความร่วมมือ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2

นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพลตำรวจจัตวา Myint Htoo (หมินท์ ฮทู) ผู้กำกับกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าคณะจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ หลังร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 โดยภายหลังสถานการณ์การค้ามนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งสองประเทศจึงเห็นพ้องให้ทบทวนบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ให้สอดรับกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปัจจุบัน โดยมีการจัดประชุมเพื่อทบทวนบันทึกความเข้าใจฯ มาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ จังหวัดเชียงราย มีข้อสรุปในประเด็นเรื่องการกำหนดขอบเขตของร่างบันทึกความเข้าใจฯ คำนิยามคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานการต่อต้านการค้ามนุษย์ ด้านการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์ การส่งกลับ – การคืนสู่สังคม การปฏิบัติการร่วม การรักษาความลับของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และข้อตกลงท้ายบันทึกความเข้าใจฯ เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการเจรจาบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่ 2 นี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศที่จะให้มีกลไกความร่วมมือกันในการป้องกัน ปราบปราม และขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และหากการเจรจาในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงทั้งสองประเทศจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการยืนยันว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อเอาชนะปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯ แบ่งออกเป็น 5 ด้านหลัก คือ ด้านการป้องกัน การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์ การส่งกลับ และการคืนสู่สังคม ปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศไทยและประเทศเมียนมาเล็งเห็นความสำคัญของการมีความร่วมมือร่วมกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อช่วยให้การดำเนินงานด้านการป้องกัน การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การปราบปรามการค้ามนุษย์ และการส่งกลับและกาคืนสู่สังคม มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ.

mou2

mou3

mou5

mou1

mou6


You must be logged in to post a comment Login