วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ปิดกั้น-แทรกแซง / โดย นายหัวดี

On August 22, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

เว็บไซต์ iLaw รวบรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุค คสช. กว่า 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (20 สิงหาคม 2561) พบว่ามีไม่น้อยกว่า 198 ครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ

ปี 2561 มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมไม่น้อยกว่า 27 งาน ปี 2560 มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมไม่น้อยกว่า 28 งาน ปี 2559 มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมไม่น้อยกว่า 36 งาน ปี 2558 มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมไม่น้อยกว่า 67 งาน และปี 2557 มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมไม่น้อยกว่า 40 งาน

โดยแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการในระดับต่างๆกันไป ตั้งแต่การสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมด้วยช่องทางโทรศัพท์ การเข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรที่เข้ามาพูดในงาน กำหนดไม่ให้ใช้คำที่อ่อนไหวในบริบทของสังคม เช่น “เผด็จการ” และ “กบฏ” เป็นต้น และการสร้างความไม่สะดวกทางอ้อม เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง ตัดไฟฟ้า เป็นต้น

กิจกรรมสาธารณะที่ถูกจับตามองจากภาครัฐมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือประเด็นที่เปราะบางในเวลานั้น กรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากรัฐไม่น้อยกว่า 20 กิจกรรม ทั้งนักกิจกรรมหรือผู้จัดงานกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีอีกด้วย

การปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะที่นำมาใช้เป็นหลักคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยใช้การข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้


You must be logged in to post a comment Login